สกน. – สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า-เครือข่ายชาติพันธุ์ ผนึกกำลังประกาศระดมพล ชี้ ‘รัฐบาลแพทองธาร’ ไร้ความคืบหน้า แก้ปัญหา พ.ร.ฎ.ป่าอนุรักษ์ ประชาชนเดือดร้อน โดนยึดที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2568 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ร่วมกับสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า เครือข่ายชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์ และแนวร่วมผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ละเมิดสิทธิชุมชน นัดรวมตัวที่ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแถลงจดหมายเปิดผนึก เรื่อง ประกาศระดมพลคนอยู่กับป่า ทวงสัญญารัฐบาล กรณีแก้ปัญหากฎหมายป่าอนุรักษ์ละเมิดสิทธิชุมชน ก่อนประกาศระดมคน ร่วมปักหลักชุมนุมครั้งใหญ่ ในวันที่ 24 มีนาคม 2568 ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้บันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 มีผลในทางปฏิบัติโดยแท้จริง ซึ่งจะปักหลักชุมนุมยาวจนกว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบข้อเรียกร้องของเครือข่าย โดยเนื้อหาสาระสำคัญในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า
เป็นเวลา 4 เดือนเต็มหลังการเคลื่อนไหวของ สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า เครือข่ายชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์ ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเมื่อครั้งมีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ จนเกิดเป็นบันทึกการหารือการแก้ปัญหาของประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากกฎหมายป่าอนุรักษ์ ระหว่างรองนายกรัฐมนตรี (ประเสริฐ จันทรรวงทอง) ในฐานะกำกับดูแลการบริหารราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สปช.) โดยรับรองข้อเสนอของภาคประชาชน ดังนี้
- ขอให้ยุติการนำ พ.ร.ฎ. โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไปประกาศใช้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ จนกว่าจะมีการปรับแก้กฎหมาย
- ขอให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกในรูปแบบที่เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เป็นรายอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทุกๆ พื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ ภายในระยะเวลา 60 วัน
- ขอให้รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีจะต้องเร่งเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งนี้ให้นำร่างสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ภายใน 90 วัน ก่อนเสนอเข้าสภา
- ในระหว่างที่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับ รัฐบาลจะต้องชะลอยับยั้งการเตรียมประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 23 แห่ง จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับแล้วเสร็จ เว้นแต่ในกรณีที่พื้นที่เตรียมการฯ นั้นดำเนินการกันขอบเขตชุมชน พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ป่าชุมชนแล้วเสร็จ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ปรากฏความคืบหน้าในการดำเนินการของรัฐบาลและหน่วยงานแต่อย่างใด ขณะที่ผลกระทบในพื้นที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พวกเราจึงขอตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร กำลังเตะถ่วงกระบวนการแก้ปัญหา ยื้อเวลา และบิดพลิ้วคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนอีกหรือไม่ ” แถลงการณ์ระบุ
จึงขอประกาศชุมนุมใหญ่เพื่อทวงสัญญารัฐบาล ในวันที่ 24 มีนาคม 2568 ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้บันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 มีผลในทางปฏิบัติ
“รัฐบาลจะต้องบรรจุข้อเรียกร้องของเราเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี และจะปักหลักชุมนุมจนกว่า ครม. จะมีมติเห็นชอบ ภายในวันที่ 1 เมษายน 2568 ทั้งนี้ขอเชิญชวนให้ผู้รักความเป็นธรรมทั่วประเทศได้ออกมาเคลื่อนไหว“ แถลงการณ์ระบุ

พชร คำชำนาญ กองเลขานุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) กล่าวว่า ความล่าช้าในการดำเนินการของรัฐบาลกำลังสะท้อนว่าปัญหาของคนตัวเล็กตัวน้อยไม่ได้รับความใส่ใจจากผู้มีอำนาจ ผลกระทบจึงเกิดขึ้นกับชาวบ้านคนยากจนและกลุ่มชาติพันธุ์เป็นหลัก เพราะเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเขาเร่งปฏิบัติตามกฎหมายของหน่วยงานตัวเอง ไม่ได้สนใจบันทึกข้อตกลงที่รัฐบาลที่ลงนามร่วมกับประชาชนไว้
แม้รัฐบาลจะรับปากว่า จะไม่มีการขยายผลการใช้ พ.ร.ฎ. ไปยังเขตป่าอนุรักษ์ที่ยังจัดทำแผนที่ไม่แล้วเสร็จ แต่ปรากฏว่าในเชิงรูปธรรมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้เข้าไปดำเนินการและบังคับใช้ พ.ร.ฎ. แล้ว เช่น อุทยานแห่งชาติผาแดงจ.เชียงใหม่ พบว่าเจ้าหน้าที่นำป้ายแสดงโครงการอนุรักษ์ตาม พ.ร.ฎ. ไปติดทับซ้อนที่ทำกินชาวบ้าน อุทยานแห่งชาติอีกหลายแห่งได้ไปสำรวจที่ทำกินและยึดที่ดินส่วนที่เกินจาก 20 ไร่คืน รวมถึงยึดที่ดินคืนจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีสัญชาติ ซึ่งถือว่าละเมิดข้อตกลงและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
“พวกเราจึงจำเป็นต้องออกมาแสดงตัวด้วยการประกาศชุมนุมใหญ่ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขอเป็นเสียงของพี่น้องประชาชนที่จะร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ไม่เห็นหัวคนจน และขอเรียกร้องให้รัฐบาลบรรจุข้อเสนอของเราเป็นมติ ครม. เท่านั้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าครั้งนี้รัฐบาลจะไม่บิดพลิ้วเหมือนครั้งมาทำบันทึกข้อตกลงกับเราอีก อย่าดูแคลนประชาชน เพราะทุกวันที่ล่าช้า หมายถึงความเป็นความตายของพี่น้องประชาชนในประเทศของท่านเอง” พชร กล่าว
นอกจากนี้ กระบวนการแก้ปัญหาที่ล่าช้ายังถือเป็นการเตะถ่วงและลดทอนเสียงของประชาชนในการแก้ไขกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ คือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งขอตั้งคำถามว่า ที่ไม่ยอมเร่งตั้งคณะกรรมการร่วมกับประชาชนมาดำเนินการแก้ไขกฎหมายนี้ เพื่อจะไปยกร่างกฎหมายแก้ไขกันเอง โดยไม่ให้ประชาชนรับรู้และมีส่วนร่วมหรือไม่ ขอให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งคำนึงและคิดให้ถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยรัฐบาล คสช.