ชุมชนบางกลอย จัดงานรำลึกการหายไปของ บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ เรียกร้องใช้กลไกกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและสังคมไม่ให้เกิดการอุ้มหาย หรือปิดปากชุมชนด้วยกฎหมาย
“11 ปีที่นี่บิลลี่ยังไม่กลับบ้าน” ขบวนป้ายผ้าเขียนด้วยมือ ถูกแขวนไว้ที่สะพานข้ามแม่น้ำเพชร ที่เป็นทางเข้าชุมชนบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อรำลึกการหายไปของ “บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ”
กว่า 11 ปีของการหายไปของเขาได้ทำให้สังคมตั้งคำถามกับขบวนการยุติธรรมอยู่ไม่น้อย และเมื่อเราลองทำความเข้าใจจริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ประเด็นของการหายไปของใครคนหนึ่งแต่กำลังคลี่ประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในป่า ทั้งเรื่องอคติชาติพันธุ์ไม่ใช่คนไทย ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาการศึกษาและรักษาพยาบาล
นอกจากป้ายผ้าที่เขียนถึงบิลลี่แล้ว ยังมีป้ายผ้าเขียนมือที่เขียนข้อความว่า “บางกลอยคือผู้คน ชาติพันธุ์ก็คือคน” “จิตวิญญาน ใจแผ่นดินร่ำร้อง เพรียกเสียงให้หวนคืน”
พรเพ็ญ คงขจรเกิยรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เล่าว่า ทุกปีจะพยายามขึ้นมาทำกิจกรรมในเชิง ประเพณีก็คือ ‘สงกรานต์’ เพราะว่า “บิลลี่” หายในช่วงสงกรานต์ ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีกิจกรรมรำลึกอะไรที่ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อปีที่แล้วครบรอบ 10 ปี ซึ่งมีความสำคัญในเรื่องของคดีความ คือ คดีแพ่งจะหมดอายุความ คดีอาญาขึ้นสู่ศาลและมีคำสั่ง ซึ่งหากออกมาในลักษณะนี้ แน่นอนว่าไม่ได้เป็นผลดีต่อการค้นหาความจริงหรือคลี่คลายในคดีของบิลลี่
“ยิ่งในช่วง 10 ปีไปสู่ปีที่ 11 เราไปฟ้องคดีแพ่งที่ศาลแพ่ง ศาลแพ่งจำหน่ายคดีด้วยเหตุว่ามีหลักกฎหมายให้ศาลใช้ดุลยพินิจว่าจะรอผลข้อเท็จจริงกับคดีอาญาก็ได้ เราเห็นค้านเท่ากับว่าช่องทางการค้นหาความจริงและการเยียวยาในคดีบิลลี่ปิดประตูลงหมด
เหลืออยู่แค่คดีอุทธรณ์ที่ศาลอาญาทุจริต ซึ่งการรอผลคดีอาญามันนานและนานมากเหตุการณ์ของบิลลี่เกิดขึ้นมาแล้ว 10 ปี และปีนี้เป็นปีที่ 11 ส่งผลให้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมมันล้มเหลว เราเห็นว่ามีความสำคัญที่จะต้องมาจัดกิจกรรม ในเชิงสำรวจความต้องการของชาวบ้าน เราไม่มีคำตอบมาให้ชาวบ้านเลยว่าเราทำอยู่นี้มันได้และไม่ได้อะไร“
ครบรอบ 11 ปี บิลลี่หายไปในปีนี้ ทีมงานคุยกันว่าปีนี้จะมุ่งไปสู่การส่งความสุขว่า “เราจะไม่ลืมเขา” ด้วยการทำกิจกรรม ซึ่งจะเน้นไปเรื่องการเชื่อมต่อของคนข้างนอกและคนข้างในพื้นที่ ในมิติที่ไม่ใช่การเก็บข้อมูลหรือค้นหาความจริงเหมือนก่อนหน้านี้ ที่มุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมันไม่ได้ผล
ฉะนั้นเป้าหมายในการจัดกิจกรรมรำลึกครั้งนี้ จึงจัดกิจกรรมลักษณะที่เป็นการสร้างชีวิตให้กับหมู่บ้านนี้ เนื่องจากว่าจากการทำงานที่ผ่านมา พบว่าหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐพยายามทำให้พวกเขาหายไปจากโลกใบนี้ ทำลายอัตลักษณ์ รวมทั้งสิ่งที่เลวร้ายที่สุดทำให้บิลลี่หายไป
“เราไม่อยากให้เขารู้สึกว่าเราลืมไป แม้ท้ายสุดคดีมันไม่ได้ผล ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในหน้าสื่ออีกแล้ว”
พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า คดีของบิลลี่ เป็นคดียุทธศาสตร์ของภาครัฐและเป็นคดียุทธศาสตร์ของภาคประชาชน ที่จะต้องใช้กลไกด้านกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและสังคมทำให้สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นอีก เพราะถ้าหากเราปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐหนึ่งกลุ่มสามารถอุ้มชาวบ้านที่อยู่ในป่าหายไปเลย มันจะมีอีก มันจะมีบิลลี่ 1 บิลลี่ 2 บิลลี่ 3 และ 4 เหมือนที่รัฐไทยทำลายระบบนิติรัฐไปแล้วในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
คล้ายกันกับที่นี่แต่เขาใช้กฎหมายอุทยานแห่งชาติปิดปากชาวบ้าน และกำลังจะปิดปากชุมชนทั่วประเทศด้วยกฎหมายที่ระบุว่าเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่ภายใต้อุทยานฯ
สำหรับกิจกรรมถือป้ายทั้งหมดถูกสื่อสาร สร้างการมีส่วนร่วมผ่าน เมล็ดพันธุ์บางกลอยใหม่นั่นคือ เด็กๆ ในชุมชน