รัฐมนตรีพม.เผยแนวทางการช่วยเหลือครอบครัวทั้ง 23 ศพ ที่เสียชีวิตจากเหตุโรงงานระเบิดสุพรรณบุรี ครอบคลุม4 มิติ กาย จิตใจ การศึกษา รายได้ ความเป็นอยู่
วันนี้ (20 ม.ค.2567) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุ โรงงานพลุระเบิดที่ ต.ศาลาขาว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระมหากรุณาที่คุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่ประชาชนผู้ประสบอัคคีภัย องคมนตรีได้เยี่ยมเยียน สอบถามความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบภัย ซึ่งถือเป็นขวัญและกำลังใจ นอกจากผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ยังเป็นขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติหน้าที่อยู่ด้วย
“ขณะนี้สำหรับผู้เสียชีวิต 23 ราย ได้รายละเอียดครบทุกคนแล้ว โดยทราบว่ามีใครเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องบ้าง เกี่ยวข้องอย่างไร เพราะบางคนผู้ได้รับผลกระทบที่สุดคือหลาน โดยมีลูกมีอาชีพรับจ้างรายได้ไม่แน่นอน ฉะนั้นคนที่เสียชีวิตจะเป็นเสาหลัก แต่บางบ้านผู้เสียชีวิตไม่ใช่เสาหลัก ดังนั้นจึงจะพิจารณาเป็นรายๆไป”
สำหรับ รายละเอียดทั้งหมด แบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่ สุขภาพกาย สุขภาพจิต เรื่องการศึกษา รายได้และความเป็นอยู่ โดยในแต่ละมิติจะมีหลายหน่วยงานเข้ามา อาทิ เรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต จะเป็นเรื่องของกระทรวงพม. กับ กระทรวงสาธารณสุข เรื่องการศึกษาก็จะมีทั้งเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆเข้ามา ด้านรายได้ก็จะมีเงินประกันสังคม จากกระทรวงแรงงาน ส่วนเรื่องความเป็นอยู่ก็จะมีกระทรวงมหาดไทย และภาคเอกชนเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตาม ตนย้ำกับทีมพม. หนึ่งเดียว แล้วว่าขณะที่พม.มีวอร์รูมแล้ว ขอให้มีการประสานงานที่ดี กับหน่วยงานอื่น เพราะจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่สับสน
“ตอนนี้เคสที่หนัก คือ 3 ครอบครัว เด็กเยาวชนที่สูญเสียทั้งพ่อและแม่ พร้อมกัน เนื่องจากเป็นเด็กเล็ก ยังเรียนหนังสือ ซึ่งขณะนี้มีหลายฝ่ายเข้าช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษา ทุกคนจะต้องได้เรียนต่ออย่างแน่นอน และต้องขอขอบคุณ ทุกหน่วยงาน ภาคเอกชนทุกราย และอีกหลายฝ่ายที่ยื่นมือเข้ามาช่วยสนับสนุน”
ทั้งนี้กระทรวงได้จัด นักสหวิชาชีพ และนักจิตวิทยารายงานกรณีเข้าประกบดูแลเคส เนื่องจากว่า ตอนนี้ทุกคนอยู่ในภาวะเครียด เศร้าและซึม จิตใจย่ำแย่ ซึ่งในช่วง 7-10 วันแรกนี้ ซึ่งจะให้นักสหวิชาชีพ และนักจิตวิทยาจะประกบอยู่ทุกวันตลอดเวลา มีการประเมินสภาพจิตใจกันทุกวัน สถานการณ์หลังพูดคุยแล้วจิตใจเป็นอย่างไร และมีทีมแพทย์ ทีมนักจิตวิทยาจากโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราชจ.สุพรรณบุรี กระทรวงสาธารณสุข เข้ามาร่วมงานกันด้วย เราต้องตามติดกันทุกวัน เพราะในเบื้องต้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลสภาพจิตใจกันก่อน