เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.ฎ.แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ เตรียมประกาศบังคับใช้

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำเสนอสาระสำคัญ ร่างกฎหมายการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล กำกับองค์กรธุรกิจบริการทั้งไทยและต่างประเทศ ให้อยู่ในเงื่อนไขการให้บริการที่เป็นธรรม

วันนี้ (10 มี.ค. 65) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำเสนอสาระสำคัญของ ร่างพระราชกฤษฎีกาการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …. เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเป็นกฎหมายที่ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้จัดทำพร้อมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบในหลักการ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 และส่งต่อให้คณะกรรมการกฤาฎีกาพิจารณาด้านกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการพิจารณาร่างกฎหมาย วาระที่ 1 เรียบร้อยแล้ว จึงนำมาสู่การนำเสนอต่อสาธารณชนในวันนี้

ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้มีการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ไปทับซ้อนกฎหมายฉบับอื่น และทำให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจแพลตฟอร์ม แต่ยังมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม-25 มีนาคม เพื่อที่จะกลั่นกรองและนำไปเสนอไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาในวาระที่ 2 ต่อไป ก่อนจะมีการเวียนร่างกฎหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันในหลักการ และเสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ต่อไป

ศุภจิตรา เลาหวัฒนภิญโญ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ศูนย์พัฒนากฎหมาย ระบุว่า โครงสร้างของร่าง พ.ร.ฎ. ประกอบไปด้วย 5 หมวดหลัก และบทเฉพาะกาล กำหนดนิยามของผู้ประกอบการธุรกิจแพลตฟอร์มบนดิจิทัลว่าเป็นบริการสื่อกลางเพื่อให้เชื่อมกันระหว่างผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่น

หมวดที่ 1 การประกอบธุรกิจบริหารแพลตฟอร์มดิจิทัล หน่วยงานธุรกิจทั้งของไทยและต่างประเทศ จะต้องมีการจดแจ้งให้ทราบก่อนประกอบธุรกิจ ตามกำหนดทะเบียนการรับแจ้ง การชี้แจงรายละเอียดของธุรกิจ เพื่อขอออกใบรับแจ้งและใบรับรองจาก พ.ร.ฎ. ฉบับนี้

“ใครบ้างที่จะต้องจดแจ้งต่อสำนักงานก่อนประกอบธุรกิจ ได้แก่ กรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา รายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี นิติบุคคล รายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี มีจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยรายเดือน เกิน 5,000 รายเฉลี่ยต่อเดือน ที่เข้าเกณฑ์เหล่านี้จะต้องจดแจ้ง และต้องทำตามเงื่อนไขในหมวดต่างๆ ที่กฎหมายระบุเอาไว้ เช่น การมีมาตรการบรรเทาความเสียหาย การมีมาตรการบริหารและประเมินความเสี่ยง สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่อยู่ต่างประเทศก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับธุรกิจในไทย และต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานในไทยเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้ใช้ในประเทศด้วย แต่ถ้าไม่เข้าข่ายการจดแจ้งเรียกว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก ไม่มีหน้าที่ตามหมวด 2 แต่อาจต้องชี้แจงข้อมูลบางอย่างเพื่อให้ทราบ แม้ว่าจะได้รับการยกเว้นก็ตาม”

หมวดที่ 2 คือ หลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และการควบคุม เมื่อได้รับการจดแจ้งแล้วจะต้องมีการอัพเดทข้อมูลธุรกิจทุกปี มีการกำหนดลักษณะหน้าที่ของบริการแพลตฟอร์มแต่ละประเภท จะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจบริการนั้นๆ เช่น มาตรการบรรเทา ชดใช้ เยียวยา หากเกิดความเสียหายกับผู้ใช้บริการ ให้มีสำนักงานจัดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนกลาง จัดทำกระบวนการกำกับดูแลธุรกิจต่างๆ

“หน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจ แจ้งข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการตามที่กำหนด คือการเป็นสื่อเชื่อมโยงผู้ใช้บริการ มีข้อตกลงร่วมกันเท่ากับเข้าข่ายการเป็นธุรกิจลักษณะนี้แล้ว มีการกำหนดให้ต้องแสดงข้อมูลต่อสำนักงานฯ และผู้ใช้บริการด้วย ทั้งเรื่องของเงื่อนไขการให้บริการ ข้อตกลงเรื่องการบริการ และค่าตอบแทน การเข้าถึงและใช้งาน การโฆษณา และอื่นๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องทั้งกับผู้ใช้บริการและสำนักงานฯ ด้วย”

หมวดที่ 3 การถอนการรับแจ้ง การประกอบธุรกิจ มีข้อกำหนดว่าเงื่อนไขใดบ้างที่สามารถใช้ในการถอนใบรับแจ้งการประกอบธุรกิจ

หมวดที่ 4 ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ กำหนดให้มีการจักตั้งคณะกรรมการร่วม และจัดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการ มีการเชื่อมโยงข้อมูล ขอความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ กรณีที่ต้องการมีบูรณาการร่วมกันในการจัดการด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

หมวดที่ 5 การอุทธรณ์ ข้อกำหนดของการอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าหน้าที่ กระบวนการพิจารณาคดี

และสุดท้าย หมวดเฉพาะกาล สำหรับผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลมาก่อนที่ พ.ร.ฏ.ฉบับนี้จะประกาศใช้บังคับ

“การควบคุมดูแลธุรกิจบริการให้ใช้หลักเกณฑ์ตามกฎหมายเฉพาะนี้เป็นหลัก ยกเว้นแต่มีกฎหมายอื่นกำกับเป็นการเฉพาะ เช่น สำนักงาน ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีการกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลด้วย ก็จะไม่นำ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ไปบังคับใช้ แต่ต้องมีเกณฑ์ที่ประกันความโปร่งใส เป็นธรรม มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่กำหนด”

ประชาชนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชกฤษฎีกา การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …. โดยส่งผ่านช่องทางระบบกฎหมายกลาง https://www.law.go.th/listeningDetail?survey_id=NTkwREdBX0xBV19GUk9OVEVORA== ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 10-25 มีนาคม 2565 ภายในเวลา 17.00 น. เมื่อสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นแล้ว สพธอ. จะรวบรวมความคิดเห็นเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้