ประกาศ หากยังมีคำสั่งส่งฟ้องข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทางภาคีเซฟบางกลอย และกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น เตรียมบุกชุมนุมเคลื่อนไหวใหญ่
วันนี้ (20 ก.ย.65) กลุ่มภาคีSAVEบางกลอย นำโดย พชร คำชำนาญ เข้ายื่นหนังสือถึง อนุชา นาคาศัยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ผ่าน ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระฯ คนที่ 1 และ มงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้มีความชัดเจนให้อัยการสั่งไม่ฟ้องชาวบ้าน 29 คน ข้อหาบุกรุก แผ้วถาง ยึดถือ อุทยานแห่งชาติแห่งกระจาน
ตัวแทนภาคีSAVEบางกลอย กล่าวว่า ตามที่สมาชิกชาวบางกลอย 29 คน ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวและแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุก แผ้วถ้าง ยึดถือ ครอบครองอุทยานแห่งชาติแห่งกระจาน ในขณะที่ชาวบางกลอยกลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียน เพื่อปลูกข้าวในพื้นที่ทำกินเดิมก่อนถูกอพยพในปี2554 เหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ซึ่งก่อนนำตัวชาวบ้านลงมาจากบางกลอยบน เจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับชาวบ้านว่าหากยอมลงมากับเจ้าหน้าที่จะมีการจัดพื้นที่ทำกินให้กับทุกครอบครัว แต่เมื่อเจ้าหน้าที่พาชาวบ้านมาถึงสำนักงานอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านกลับถูกควบคุมตัวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี โดยถูกส่งไปฝากขังยังศาลจังหวัดเพชรบุรี และถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำ และในเวลาต่อมาศาลได้ปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขไม่ให้ชาวบ้านกลับขึ้นไปยังบ้านบางกลอยบน อันเป็นถิ่นฐานเดิม และปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการจัดสรรพื้นที่เพิ่มเติมให้แก่ชาวบ้านตามที่ได้รับปากไว้แต่อย่างใด
ภาคีSAVEบางกลอย ได้ติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระฯอย่างต่อเนื่อง พบว่าแม้จะมีความเห็นว่าอัยการไม่ควรสั่งฟ้อง แต่ยังไม่ปรากฏว่า มีผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ไม่สามารถดำเนินไปได้ตามกรอบเวลาของคณะกรรมการ
“หากอัยการจังหวัดเพชรบุรีมีการดำเนินการทางคดีความต่อเนื่องจนศาลรับฟ้องก็จะเป็นการสร้างภาระในการต่อสู้คดีในศาล ทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหาร และที่สำคัญชาวบ้านอาจต้องสูญเสียอิสรภาพในท้ายที่สุด เท่ากับเป็นการเพิ่มความทุกข์ยากในการดำเนินชีวิตพวกชาวบ้านและครอบครัว ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านบางกลอยก็ดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบาก อย่างแสนสาหัสอยู่แล้ว “
ดังนั้นภาคีSAVEบางกลอย จึงขอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาหาแนวทางให้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีต่อชาวบ้านบางกลอยทั้ง 29 คน ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากเห็นว่าการสั่งฟ้องดำเนินคดีชาวบางกลอยซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นมาก่อน ปัจจุบันชาวบ้านมีความเป็นอยู่อย่างยากไร้ เพราะขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและไม่มีที่ดินทำกินที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการดำรงชีพ ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อสาธารณะ
ขอให้พิจารณาหาแนวทางให้ความช่วยเหลือชาวบ้านกลอยให้ได้รับความเป็นธรรม และให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเปิดทางสู่การแก้ไขปัญหาด้านอื่น ๆ ต่อไป และขอให้ท่านชี้แจงผลการดำเนินการดังกล่าวแจ้งกลับมายังภาคีSAVEบางกลอยเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่อยู่ข้างต้น ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับดังกล่าว
“ผู้แทนคณะกรรมการอิสระฯ แจ้งความคืบหน้าแก้ไขปัญหาบางกลอย แต่ไม่การันตีอัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ ด้านภาคีฯ ประกาศ หากยังเดินหน้าสั่งฟ้อง เตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ “
ภายหลังยื่นหนังสือ ตัวแทนภาคี SAVEบางกลอย เปิดเผยว่า ได้หารือกับ ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระฯ คนที่ 1 และ มงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายชาญเชาวน์ แจ้งความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 3 ประเด็น
1. เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือไปยังอธิบดีอัยการภาค 7 ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวน เพื่อแจ้งมติของคณะกรรมการอิสระ เรื่องการช่วยเหลือ และการทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกอบการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
2. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือไปถึงปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำเนินการช่วยเหลือ ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา โดยกรณีนี้จะเกิดขึ้น หากชาวบ้านบางกลอยถูกสั่งฟ้องฝากขัง ก็จะให้ความช่วยเหลือทางด้านกองทุนยุติธรรม
3. คณะกรรมการอิสระฯได้แจ้งว่า ได้มีการทำงานร่วมกับกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในการดำเนินการตามกรอบในการช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาตามกรอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ปี2562 เกี่ยวกับเรื่องเงื่อนไขการดำรงชีวิต ของกลุ่มชาติพันธุ์บ้านบางกลอย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ชาญเชาวน์ ยังกล่าวว่า ตามกรอบการดำเนินงาน 3 ข้อนี้ พนักงานสามารถใช้ดุลยพินิจได้ โดยความเคารพดุลยพินิจของพนักงานอัยการ ด้าน มงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลและคณะกรรมการอิสระฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในการดำเนินการเรื่องนี้ อาจมีข้อจำกัดทางกฎหมายบ้าง แต่สามารถจบลงได้ที่การเจรจา พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา
ด้านตัวแทนภาคี SAVE บางกลอย กล่าวว่า คณะกรรมการอิสระฯ ชุดนี้เป็นชุดที่มีความหวังที่จะเป็นโมเดลการทำงานปราศจากความขัดแย้งอคติภาครัฐ แต่ถ้าหากยังไม่สามารถดำเนินการได้ เท่ากับว่าภาคประชาชนจำเป็นต้องมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เพราะจะเท่ากับว่าไม่สามารถที่จะพึ่งพากลไกใดๆได้แล้วหลังจากนี้ ที่ผ่านมาแม้มีกฎหมายนโยบาย แต่ไม่มีเรื่องใดที่ให้อำนาจประชาชนสามารถจัดการทรัพยากรในพื้นที่ของตัวเองได้อย่างแท้จริง
เรียกร้องรักษาการนายกฯ เร่งลงนามรับรองร่างกม.ชาติพันธุ์ให้ทันการพิจารณรของรัฐสภา
ตัวแทนภาคีเซฟบางกลอยกล่าวว่า กรณีบางกลอย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นเพียง 1 ใน 34,692 คดี หลังจากที่ คสช. ได้ทำรัฐประหาร และก็ขึ้นมาเป็นรัฐบาลในปี 2557 มีนโยบายทวงคืนผืนป่า มีแผนเพิ่มพื้นที่ป่า 40% ฉะนั้นกรณีบางกลอยเป็นเดิมพันสำคัญของเหยื่อ ที่ถูกกฎหมาย นโยบายป่าไม้ จัดการทั่วประเทศ และมีพื้นที่ทำกินลักษณะนี้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านไร่ทั่วประเทศ ประชากรไม่ต่ำกว่าหลักล้านคน หากชาวบ้านบางกลอยถูกดำเนินคดี ก็จะเป็นสัญญานเตือนถึงชาวบ้านในพื้นที่อื่น ๆ ที่ทำกินในพื้นที่ดินของรัฐไปประกาศทับด้วย และเป็นปัญหาความขัดแย้งไม่สิ้นสุด
ดังนั้น อีกกลไกสำคัญที่จะเป็นการแก้ไขปัญหากรณีนี้ และความขัดแย้งในพื้นที่อื่นๆ คือการผลักดันร่างกฎหมายที่จะเป็นการคุ้มครองสิทธิ และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งฉบับของรัฐบาลที่ตอนนี้ยังไม่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของครม. และอีก 3 ฉบับ ที่เสนอโดยภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งฉบับประชาชนโดยกลุ่มพีมูฟ ที่ถูกตีเป็นกฎหมายทางการเงิน ซึ่งต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองก่อน จึงเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาพีมูฟ ที่รับทราบปัญหาและการผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด เร่งลงนามร่างกม.ดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา