30 ปี ‘โศกนาฏกรรมเคเดอร์’ ย้ำบทเรียนความปลอดภัยการทำงาน

10 พฤษภาคม “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” ยกกรณีสูญเสีย 188 ศพ จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม ปลุกขบวนการแรงงาน ทวงถามความปลอดภัยจากการทำงาน เรียกร้องบริษัท นายจ้าง ภาครัฐ ให้ความสำคัญสวัสดิภาพ คุณค่าชีวิตแรงงานยุคใหม่  

วันนี้ (10 พ.ค.66) มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.), สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย รวมถึงเครือข่ายแรงงานต่าง ๆ ร่วมกันจัดพิธีรำลึกเนื่องในโอกาส ครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม และเนื่องใน“วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” โดยตั้งแต่ช่วงเช้ามีผู้นำเครือข่ายแรงงานหลายภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาชน ร่วมกันทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้กับแรงงานที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เคเดอร์ พร้อมร่วมกันกล่าวรำลึกถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว 

สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย บอกว่า แรงงานทุกคนต่างร่วมกันรำลึกถึงดวงวิญญาณของเพื่อนแรงงานที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เคเดอร์ ทั้ง 188 ศพ สิ่งที่เกิดขึ้นยอมรับว่า ชีวิตของมนุษย์ที่สูญเสียไปประเมินค่าไม่ได้ แต่การสูญเสียในครั้งนั้นต้องปลุกคนให้ตื่นเพื่อที่จะร่วมกันผลักดันให้ชีวิตแรงงานเกิดความปลอดภัยจากการทำงานมากยิ่งขึ้น จึงขอให้พี่น้องแรงงานใช้บทเรียนจากเหตุการณ์เคเดอร์ ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความท้ายทายทั้งหลาย เพื่อทำให้ชีวิตแรงงานมีคุณค่า มีความหมาย ต้องทำให้แรงงานนั้นเกิดความปลอดภัยในการทำงานมากยิ่งขึ้น

มานพ เกื้อรัตน์ ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ บอกว่า เหตุการณ์เคเดอร์เป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการด้านความปลอดภัยจากการทำงานของไทย แม้ผ่านมา 30 ปีแล้ว แต่ชีวิตผู้ใช้แรงงาน ก็ยังคงตกอยู่บนความเสี่ยง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรณรงค์กันต่อไป 

ธนัสถา คำมาวงษ์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย มองว่า เหตุการณ์เคเดอร์ ทำให้แรงงานตื่นตัวขึ้นมาขับเคลื่อนกฎหมายความปลอดภัย แม้กฎหมายไม่ดีที่สุดแต่ก็ทำมาแล้วและจะทำต่อไปเพื่อให้ทุกสาขาอาชีพมีความปลอดภัยในการทำงาน ขอให้ผู้ที่สูญเสียไปแล้ว ผู้นำแรงงานที่อยู่ข้างหลังจะขับเคลื่อนกฎหมายให้ดียิ่งขึ้นเพื่อความปลอดภัยของแรงงานทุกคน

เสถียร ทันพรหม เครือข่ายสิทธิเเรงงานข้ามชาติ ยอมรับว่า แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มแรงงานที่ยังเผชิญกับความเสี่ยงจากการทำงาน เพราะยังคงทำงานใน 3 ส่วน คือ งานเสี่ยง งานอันตราย และงานสกปรก ซึ่งหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ก็เคยเกิดเหตุการณ์ที่แรงงานข้ามชาติเสียชีวิตภายในรถคอนเทนเนอร์ ทั้งที่พวกเขาต้องการเข้ามาทำงานในไทย แสวงหาอาชีพที่ดี แต่สุดท้ายต้องมาจบชีวิตจากการทำงาน ดังนั้นแรงงานข้ามชาติ จึงเป็นส่วนหนึ่งของแรงงาน ที่อยากร่วมรำลึกและผลักดันให้ทุกภาคส่วนตระหนักว่าแรงงานทุกคนเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศ และพวกเขาควรต้องได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจากการทำงานด้วย 

ขณะที่ ตัวแทนจากสหภาพคนทำงาน ระบุว่า 30 ปี ของเหตุการณ์เคเดอร์ มาจนถึงวันนี้สภาพการจ้างงานเปลี่ยนไปอย่างมาก อยากให้ขยายสิทธิแรงงานเพื่อสร้างความปลอดภัยในการทำงาน เพราะทุกวันนี้แรงงานยุคใหม่ไม่ได้ทำงานอยู่เฉพาะแค่ในโรงงาน

กลุ่มไรเดอร์ มีโรงงานคือท้องถนน ซึ่งเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ เสียชีวิตกันอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทยังไม่มีสวัสดิการ เพื่อรองรับอุบัติเหตุ และความสูญเสียดังกล่าว จึงอยากให้ทุกอาชีพ ที่ทำงานมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยที่คนเราไม่มาควรเสี่ยงชีวิต เพียงเพราะการออกมาจากบ้านเพื่อทำมาหากิน หาเงินเลี้ยงปากท้อง เลี้ยงครอบครัว”

ขณะที่ ตัวแทนแรงงานจากเนปาล ในฐานะเลขาธิการผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมในเอเชีย ร่วมรำลึกถึงความสูญเสีย โดยแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับขบวนการแรงงานไทย อยากให้แรงงานร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยจากการทำงาน พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสนใจ และชดเชยเยียวยาผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างเต็มที่

สำหรับเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของ บริษัทเคเดอร์อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 จากรายงานของคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงฯ พบว่า บริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ เป็นตัวอาคารโรงงานเป็นเสาเหล็ก คานเหล็ก และพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป ซึ่งสาเหตุที่นำไปสู่การเสียชีวิตของแรงงาน พบว่า โครงสร้างอาคารขาดมาตรฐาน เป้นเสา และคานที่ไม่มีวัสดุฉนวนหุ้มเสาเปลือย ทำให้โครงสร้างพังทลายลงมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 15 นาที ที่เกิดไฟไหม้ โรงงานไม่มีบันไดหนีไฟ ไม่มีระบบแจ้งเตือนภัย บันไดภายในตัวอาคารมีขนาดเล็ก ทำให้การอพยพหนีของแรงงานจำนวนมากทำได้อย่างยากลำบาก แรงงานจึงถูกกั้นด้วยควันและเปลวไฟ ไม่สามารถหนีได้ ทำให้บางคนเลือกกระโดดออกจากตัวอาคาร นำไปสู่การบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตจำนวนมาก

โดยเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเคเดอร์ มีผู้บาดเจ็บ 469 คน เสียชีวิต 188 คน เป็นแรงงานชาย 14 คน แรงงานหญิง 174 คน หลังเกิดเหตุการณ์เครือข่ายแรงงานรวมตัวกันเรียกร้องเงินชดเชยเยียวยาจากทางบริษัท กระทั่งบริษัทฯ ยอมจ่าย 1. เงินชดเชยเป็นกรณีพิเศษแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต รายละ 200,000 บาท 2. เงินช่วยเหลือการศึกษาแก่บุตรหลานจนถึงอายุ 25 ปี

เหตุการณ์ในครั้งนั้น เป็นที่มาให้ขบวนการแรงงานเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาล ประกาศให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” อีกทั้งขบวนการแรงงาน ยังได้เข้าชื่อกัน 50,000 กว่ารายชื่อ เรียกร้องให้รัฐบาลตรากฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน จนนำไปสู่การออก “พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ปี 2554” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active