‘ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา’ (Stella Maris) เผยข้อมูล อุบัติเหตุเรือประมง ปี 65 จ.สงขลา, ปัตตานี, สตูล พบกว่า 40 ครั้ง ส่งผลการบาดเจ็บ พิการ ของแรงงาน หวังรัฐบาลใหม่ วางมาตรการ ลดความสูญเสีย เยียวยาครอบคลุม
นาตยา เพชรรัตน์ ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (Stella Maris) เปิดเผยข้อมูลกับ The Active ถึง สถานการณ์อุบัติเหตุทางทะเลของเรือประมงล่าสุด ปี 2565 เฉพาะ 3 จังหวัด ที่ทางองค์กรทำงานด้วย คือ สงขลา ปัตตานี และสตูล พบสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางทะเลของเรือประมงประมาณ 40 ครั้ง มีทั้งกรณีชาวประมงตกน้ำ และกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งบาดเจ็บและสูญเสียอวัยวะร่างกาย
“ ยิ่งในช่วงพายุ มรสุม โอกาสที่ลูกเรือจะตกน้ำจะเกิดขึ้นตอนนี้ แต่ช่วงอื่นก็มีโอกาสเกิดได้ตลอด เช่นกัน เช่นตอนที่เขาออกไปทำธุระส่วนตัว ไม่มีเพื่อนตามไปด้วย ก็มีพลาดตกน้ำ อันนี้ก็เจอ 40 กรณี คืออุบัติเหตุจากการทำงาน รวมถึงบาดเจ็บสูญเสียนิ้วและอวัยวะจากอุปกรณ์ที่ทำงานด้วย “
นาตยา เพชรรัตน์
ขณะที่ข้อมูลจากคณะทำงานติดตามสถานการณ์และบังคับใช้กฎหมายเพื่อต่อต้านการทำประมง IUU ที่มี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เป็นประธาน พบสถิติอุบัติเหตุทางทะเลในการทำประมง ปี 2565 โดยแบ่งเป็น
- ค้นหาพบและมีชีวิต เป็นชาวไทย 4 คน, กัมพูชา 3 คน และเมียนมา 11 คน
- ค้นหาพบและเสียชีวิต เป็นชาวไทย 6 คน, กัมพูชา 2 คน และเมียนมา 7 คน
- ค้นหาไม่พบ เป็นชาวไทย 16 คน, กัมพูชา 4 คน และเมียนมา 25 คน ซึ่งรวมทั้ง 3 ส่วน ที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมง 78 คน
นาตยา บอกด้วยว่า อุบัติเหตุแต่ละครั้ง หมายถึงการสูญเสียโอกาสในชีวิตของแรงงานประมงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสูญเสียจากรายได้ระหว่างการทำงาน หรือว่าการสูญเสียรายได้ในการที่จะส่งกลับไปดูแลครอบครัวทั้งพ่อแม่ ภรรยา ลูก หรือว่าสูงสุดคือการสูญเสียชีวิต ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นประเด็นสำคัญ ที่มองว่ามันมากกว่าเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเช่น กม.แรงงาน หรือว่า การค้ามนุษย์ แต่เป็นเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน หรือ Health & Safety เพราะจริงๆเรื่องความปลอดภัยในการทำงานบนเรือประมง ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในการออกไปทำประมงพาณิชย์ในบ้านเรา คือถ้าสามารถรักษาปกป้องชีวิตเขาไว้ได้ ก็สามารถที่จะสร้างความสุขกลับไปที่ครอบครัวเขาได้
อีกส่วนสำคัญ คือ เป็นประโยชน์ต่อตัวนายจ้างด้วย เพราะถ้าลูกจ้างมีความเข้าใจในเรื่องของการดูแลจัดการความปลอดภัยในชีวิตตนเองเวลาออกไปทำประมง รู้วิธีการการใช้เครื่องมือความปลอดภัยที่มันมีอยู่ในเรือประมง เวลาที่เกิดเหตุขึ้นมา เขาก็จะสามารถใช้มันได้อย่างเข้าใจ และมั่นใจ เพื่อลดการสูญเสียต่าง ๆ ได้
“อุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น ห่วงชูชีพ ถังแก๊สดับเพลิง ที่จะต้องมีอยู่บนเรือ ถ้าเขาไม่รู้วิธีการใช้ ไม่เข้าใจวิธีการใช้ เวลาเกิดเหตุก็ไม่สามารถที่จะเอามาใช้ หรือว่าใช้มันได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าเขามีโอกาสได้ฝึก ซึ่งจากประสบการณ์ที่เราทำงานในการอบรม มีเหตุที่เกิดขึ้น และตัวคนงานสามารถใช้ทักษะจากสิ่งที่เขาเรียนรู้จากสิ่งที่เราอบรม ในการช่วยเหลือชีวิตเพื่อนเขาที่ตกน้ำได้ และทำให้เพื่อนเขามีชีวิตรอด และคงยังทำงานประมงอยู่ในปัจจุบันนี้ ทำให้คนสามารถเอาชีวิตรอดจากการออกไปทำงานประมงในทะเลได้”
นาตยา เพชรรัตน์
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (Stella Maris) ยังชี้ให้เห็นว่า นายจ้างหลายคนให้ความสนใจและความสำคัญกับการอบรมเรื่องนี้มากขึ้นแต่ด้วยการอบรมความปลอดภัยในการทำงานประมงมีต้นทุนสูง แต่หากมองที่ต้นทุนชีวิตคนสูงกว่า เพราะฉะนั้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าหน่วยงานรัฐเอง หรือว่าภาคธุรกิจเองที่เป็นผู้ซื้อสัตว์น้ำ ได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาสนับสนุนให้เกิดความปลอดภัยของลูกเรือประมงด้วย
“ตอนนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีมาตรการให้นายจ้างติดสติกเกอร์ ที่มีกำหนดให้ติดในเรือเพื่อเตือนลูกเรือคำนึงถึงความปลอดภัย เช่นห้องอับอากาศ จุดที่เป็นความร้อนบนเรือ จุดมีระบบไฟฟ้าบนเรือ ให้ลูกเรือระมัดระวัง คือการติดดีทำให้รู้เท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือว่า คู่ไปกับการมีทักษะความรู้ในการจัดการเหตุที่เกิดขึ้นด้วย“
นาตยา เพชรรัตน์
สำหรับข้อเสนอสำคัญต่อรัฐบาลใหม่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและฝ่ายต่าง ๆ นาตยา เห็นว่า รัฐในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญดูแลประชาชน ก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมจัดการทำให้ลูกเรือได้มีโอกาสพัฒนาศัยภาพตนเอง ดูแลชีวิตตนเองให้ปลอดภัย หรือแม้แต่การควบคุมดูแลให้อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือบนเรืออยู่ในสภาพความพร้อม เมื่อลูกเรือเข้าไปทำงานแล้วมันสร้างความปลอดภัยให้เขาได้ด้วย
ส่วนภาคส่วนธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อสัตว์น้ำ คุณคือส่วนสำคัญ เพราะคุณได้ประโยชน์จากการออกไปทำการประมง คุณคือส่วนหนึ่ง ที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนให้เกิดการดูแลคนงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน หรือว่าประเด็นเรื่องสิทธิแรงงานอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน อย่างการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน โดยกองทุนเงินทดแทน ดูแลแรงงานเวลาเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน แล้วกองทุนเงินทดแทนตรงนี้นายจ้างนำส่ง แต่เป็นจำนวนเล็กน้อยมาก คือ 0.2% หนึ่งปีนำส่งแค่หนึ่งครั้งเท่านั้น อันนี้อาจต้องทบทวน
หรือแม้แต่การตรวจสอบสิทธิในกองทุนเงินทดแทนตรงนี้ ควรตรวจสอบตั้งแต่เขาจะออกไปทำการประมงมั่นใจว่าคนหนึ่งคนหรือลูกเรือประมงที่ออกไป เขามีกองทุนเงินทดแทนรองรับอยู่หรือไม่หากเกิดขึ้นกับชีวิตเขาเพื่อเวลาเกิดเหตุมาจะได้คุ้มครองได้ทันที เพราะว่ามีหลายครั้งที่เกิดเหตุแล้วทางองค์กรต้องมาช่วยตรวจสอบว่าอยู่มีสิทธิในกองทุนหรือไม่ ซึ่งอันนี้ทำให้เกิดความล่าช้าในการช่วนเหลือดูแลรักษา
“เราอยากให้มาตรการรัฐ รวมถึงการตรวจสอบรายงานการเข้าออกของเรือประมง อย่าง Port In – Port Out ทำหน้าที่การตรวจสอบลูกเรือประมง สามารถตรวจสอบได้เลยทันที ก่อนออกไปทำการประมงกลางทะเล และให้มั่นใจว่า คนกลุ่มนี้มีสิทธิประโยชน์รองรับ ไม่ว่าเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติก็ตาม”
นาตยา เพชรรัตน์