เครือข่ายประมง – ภาคประชาชน เกาะติดเช็กเสียงทุกพรรค ทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ย้ำทุกเสียงโหวต มีค่าต่อความเป็นธรรม และความยั่งยืนของทรัพยากร
ในวันที่ 12 มี.ค. 68 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาวาระด่วน หนึ่งในนั้นคือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ภายหลังจากวุฒิสภาได้แก้ไขเพิ่มเติม และได้ส่งคืนสภาผู้แทนราษฏร เพื่อพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ.2562 ข้อ 137
โดยประเด็นสำคัญที่ถูกจับตา คือประเด็น มาตรา 69 เรื่องการใช้อวนตาถี่จับปลากะตักในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้ว ว่า ที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีมติเสียงข้างมาก โหวตคว่ำ หรือ โหวตสวน มติของ สส. คือ ไม่อนุญาตให้ใช้อวนตาถี่จับปลากะตักในเวลากลางคืน โดยเหตุผลที่ สว. และกรรมาธิการเสียงข้างมากหลายคน ระบุ คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยจะทำลายทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ไม่ใช่แค่ปลากะตัก แต่ยังมีข้อมูล และภาพที่ชัดเจน จากทีมนักวิชาการ และนักดำน้ำ ที่ไปทดลองและเก็บภาพใต้น้ำนอกเขต 12 ไมล์ทะเล มาเผยแพร่สู่สาธารณะ

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยกับ The Active ถึงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เครือข่ายประมง ทั้ง สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย, สมาคมรักษ์ทะเลไทย โดยในวันนี้ (11 มี.ค. 68) มีตัวแทนบางส่วนเดินทางไปพบตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อปรึกษาหารือ ติดตามแนวโน้มว่าคิดอย่างไร ส่วนในทางการเมืองจะโหวตตามพรรคร่วม หรือในส่วนฝ่ายค้านจะโหวตตามวิปฝ่ายค้าน หรือ รัฐบาล ก็เป็นสิทธิ แต่ก็หวังว่า หากได้คุยโดยตรงก่อนการโหวตน่าจะมีประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจต่อประเด็นนี้
“มติของ สว. เป็นที่ชัดเจนว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ที่ ภาคประชาชน ทั้งชาวประมง นักดำน้ำ นักตกปลา นักท่องเที่ยว นักวิชาการรวมถึงภาคประชาชนหลายฝ่าย ร่วมกันลงแรง สร้างข้อมูลเชิงประจักษ์ ไปดำน้ำถ่ายภาพ และนำข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อชี้ว่าการที่จะมีการแก้ไขกฎหมาย เปลี่ยนมาตรา 69 เดิม โดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทาวงเกษตรและสหกรณ์ ไปประกาศอนุญาตได้ น่าจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำวัยอ่อน ในระบบนิเวศ มากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ และเชื่อว่าสังคมที่ติดตามเรื่องนี้ ก็ได้รู้มากขึ้นว่าสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรานี้ มีแค่เจ้าของเรือประมาณ 175 ลำ จะได้เข้าถึงทรัพยากรด้วยวิธีการแบบนี้ ซึ่งถ้าไปจำกัดสิทธิคนอื่น ๆ ที่จะได้เข้าถึงทรัพยากร เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม ก็หวังว่า สส.จะได้ทบทวนใหม่ และยืนตามมติ สว.”
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
ทั้งนี้หากย้อนไปดูมติโหวตของ สส. เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ในการแก้ไขมาตรา 69 พบว่า เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก อนุญาตให้ใช้อวนล้อมตาถี่จับปลากะตักในเวลากลางคืน 239 เสียง ในจำนวนนี้พบเกือบทั้งหมด เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เห็นด้วย 28 เสียง ในจำนวนนี้กว่าครึ่ง คือ เสียงจากพรรคประชาชน งดออกเสียง 114 เสียง เกือบทั้งหมดเป็นพรรคประชาชน และไม่ลงคะแนนเสียงอีก 2 เสียง
จากมติดังกล่าว นายกสมาคมรักษ์ทะลไทย ย้ำว่า เครือข่ายภาคประชาชน เคารพทุกการตัดสินใจ ยึดมั่นและเห็นพ้องต้องกันว่า สส. เป็นสถาบันหลักในการทำหน้าที่ตรากฎหมายของประเทศ และไม่เคยปฏิเสธหลักการนี้ ดังนั้น โอกาสที่มีการตีกลับมาพิจารณาของผู้แทนใหม่อีกครั้ง ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีของ สส.ที่จะได้รับฟังข้อมูลใหม่ ใช้โอกาสนี้ในการพิจาณาใหม่ โดยเฉพาะพรรคแกนนำที่ถือเสียงข้างมากในสภาฯ จะใช้โอกาสนี้ร่วมกันแสดงจุดยืน รักษาบนฐานประโยชน์ส่วนรวม หลังจากรับฟังข้อมูลแล้ว และเลือกโหวตสนับสนุนความเห็น สว.ซึ่งเป็นการกลั่นกรองของ สว. ก็น่าจะเป็นทิศทาง วิธีการ และก้าวย่างทางการเมืองของประเทศไทยที่เป็นความสวยงาม แบบหนึ่ง และจะสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการตรากฎหมายประมง ที่มีคำถามจากหลายองค์กรทั่วโลก คือถ้าทบทวน น่าจะสร้างความมั่นใจ ความเขื่อมั่น มากกว่าการจะปฏิเสธของ สว. ผลดีจะเกิดขึ้นกับไทยแน่นอน

ส่วนกรณี สส.พรรคประชาชน งดออกเสียงนั้น วิโชคศักดิ์ ย้ำว่า ในทางการปฏิบัติก็มีความเคารพทุกพรรค ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลด้วย แต่เมื่อพบข้อเท็จจริงว่า พรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงข้างมากสุด คือ พรรคประชาชน งดออกเสียงในรอบที่แล้ว ก็ต้องยอมรับว่า สร้างความสงสัย สร้างความกังขาให้ประชาชนอื่น ๆ ในสังคม รวมถึงเครือข่ายภาคประชาชน ที่ทำให้มีความไม่เข้าใจว่าทำไมมีมติแบบนี้
“รอบนี้เราคิดว่า เหมือนกันกับทุกพรรค น่าจะรวมถึงพรรคประชาชนด้วย ที่จะใช้โอกาสนี้ในการพิจารณาใหม่ จากที่เคยงดออกเสียง เราก็หวังว่า ให้เขาทุ่มเสียงมาเป็นฝ่ายเห็นด้วยกับ สว. ขอให้มีความชัดเจน ไม่ใช่งดออกเสียงอีก เพราะที่ผ่านมาพรรคประชาชน ยืนยันบนหลักการความชัดเจนมาโดยตลอด มีเหตุและผลของตนเองชัด ก็หวังว่า เรื่องประมงก็เหมือนกัน ไม่มีอะไรดำมืดไปกว่าที่ผู้เป็น สส.หนึ่งคน ที่จะตัดสินใจได้ว่า จะตัดสินใจไปทางไหน”
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
ทั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายประมง ทั้งสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทยบางส่วนจะไปเกาะติดการประชุมที่รัฐสภา และจะนัดชุมนุมออนไลน์ เพื่อติดตามการประชุมสภาฯ พิจารณาโหวตมาตรา 69 ซึ่งจะมาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ และถ่ายทอดสดทาง เพจ สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ด้วย