กะเหรี่ยงดอยสะเก็ด วอน ‘เศรษฐา’ ยุติจัดที่ดิน คทช. หวั่นกระทบสิทธิคนกับป่า

ชาวบ้าน เชื่อ นโยบายรัฐบาล แก้ปัญหาที่ดิน-ป่าไม้ ไม่เป็นธรรม ขาดการมีส่วนร่วม เรียกร้องเดินหน้า ‘โฉนดชุมชน’ ทางรอดจัดการที่ดิน เคารพวิถี ‘คนกับป่า’ อย่างยั่งยืน

วันนี้ (16 ก.ย.66) ที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านห้วยผาตื่น หมู่ที่ 6 และหย่อมบ้านดอย หมู่ที่ 2 ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอนสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ในนามสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านคณะทำงาน ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมราชการ จ.เชียงใหม่ ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยชาวบ้านเรียกร้องให้ยุติการดำเนินโครงการภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในพื้นที่ชุมชน และมีข้อเสนอต่อแนวทางการแก้ไขกฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดินอย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากพื้นที่ชุมชนของพวกเขา ได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้านที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยการผลักดันแนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการรับรองสิทธิชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแท้จริง

แต่ที่ผ่านมา ชุมชนกลับต้องเผชิญความท้าทายจากนโยบายด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรของรัฐบาล รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับพื้นที่ พยายามผลักดันแนวทางการจัดการที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พ.ย. 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ซึ่งเป็นแนวทางของ คทช. ซึ่งมองว่าไม่สอดคล้องกับหลักการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร

โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ คทช.หลายประเด็นที่เห็นว่า ไม่สอดคล้องกับวิถีของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ การจำแนกชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ, การใช้ภาพถ่ายทางอากาศพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย. 2541, การปลูกป่า ฟื้นฟูป่าในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน, การต้องขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวจากผู้ว่าราชการจังหวัด ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 รวมถึงการกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขการใช้ที่ดินที่จะนำไปสู่การถูกแย่งยึดที่ดินได้ในอนาคต

“ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่เข้ามาดำเนินการเร่งรัดเพื่อให้ชาวบ้านยินยอมรับแนวทางการจัดการที่ดินตามแนวทาง คทช. ดังกล่าว โดยเราพบว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาชี้แจงนั้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ คทช. ที่ไม่รอบด้าน รวบรัดกระบวนการ กดดันชาวบ้านให้ยินยอมรับโครงการดังกล่าว โดยขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งทำให้ชาวบ้านกังวลใจต่อท่าทีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะนำไปสู่การแย่งยึดที่ดินและละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์”

ห่วงนโยบายป่าไม้-ที่ดิน รัฐบาลเศรษฐา ตัดขาดคนกับป่า

จรัสศรี จันทร์อ้าย ชาวบ้านผาตื่น อ.ดอนสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตต่อ นโยบายของรัฐบาลเศรษฐา มองว่าไม่ตอบสนองการแก้ปัญหาให้กับคนจน ที่อยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่ป่ามาดั้งเดิม หากเป็นไปตามที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ยืนยันจะเดินหน้านโยบาย คทช. คนอยู่กับป่า จะต้องเจอปัญหาหนัก เนื่องจากหลักคิดของ คทช. ไม่ยอมรับคนกับป่า ชุมชนจึงเรียกร้องการจัดที่ดินแบบ ‘โฉนดชุมชน’ ซึ่งเป็นทางรอดของคนในป่า โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนให้ชุมชน มีสิทธิจัดการที่ดินและทรัพยากร เอื้ออำนวยให้ชุมชนยังสามารถมีที่ทำกินเป็นของตนเอง ยั่งยืนไปถึงลูกหลาน

“รูปแบบที่รัฐพยายามจัดให้แบบ คทช. หมายความว่าชาวบ้านเป็นแค่ผู้เช่าอยู่ในที่ดินทำกินของตัวเอง มันไม่ใช่สิทธิ มันเป็นเรื่องเงื่อนไขที่รัฐกำหนดมาแล้วไม่เป็นธรรม เขาจะเพิกถอนการใช้ที่ดินของเราได้ตลอด ส่วนเราต้องขออาศัยในที่ดินของเราทั้งที่เราอยู่มาก่อน วันดีคืนดีรัฐก็จะเพิ่มพื้นที่ป่า ยึดที่ดินทำกินเราไปไถแล้วปลูกป่าใหม่ เขาจะทำไปทำไม เพื่ออะไร ชาวบ้านจะได้อะไร ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์ แล้วมันตอบโจทย์ความยั่งยืนหรือไม่”

จรัสศรี จันทร์อ้าย

ขณะเดียวกันชาวบ้านยังกังวลนโยบายคาร์บอนเครดิต ที่ชุมชนมองว่า ไม่แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่จะนำไปสู่การแย่งยึดที่ดินของคนจนไปให้นายทุน

“ชาวบ้านก็กังวลอยู่ว่าเขาจะแยกคนกับป่าออกจากกันเลยเหรอ ชาวบ้านคือชาวบ้าน ป่าคือป่า แบบนั้นเลยใช่ไหม จะไม่ให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันเลยใช่ไหม อยากบอกท่านนายกรัฐมนตรีคนรวย ว่าให้เห็นหัวคนจนบ้าง เพราะคนจนจะตายอยู่แล้ว”

จรัสศรี จันทร์อ้าย

ข้อเรียกร้องถึงนายกฯ แก้ปัญหาป่าไม้-ที่ดิน-ชาติพันธุ์

ชาวบ้านจึงยื่นข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา 6 ข้อถึงนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1. ยุติการดำเนินแนวทางการจัดการที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พ.ย. 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ซึ่งเป็นแนวทาง คทช. ในพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยผาตื่น และชุมชนหย่อมบ้านดอย ตำบลป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ทันที

2. กำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ดำเนินการใด ๆ อันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และวิถีวัฒนธรรมของชุมชน ไม่ข่มขู่ คุกคาม และผลิตซ้ำอคติทางชาติพันธุ์และอคติต่อคนอยู่กับป่า

3. เร่งปรับแก้กฎหมายด้านการจัดการป่าไม้ให้รับรองหลักสิทธิชุมชนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ และให้เร่งบรรจุแนวทางการบริหารจัดการที่ดิน ป่าไม้ รูปแบบสิทธิชุมชน โฉนดชุมชน ในนโยบายของรัฐบาล ให้เป็นไปตามปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ โดยเฉพาะปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

4. เร่งผลักดันกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

5. ยุตินโยบายว่าด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าในรูปแบบการปลูกป่าทับซ้อนกับชุมชนดั้งเดิมทุกกรณี ทั้งนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่า 40% ตามแผนคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และการเอื้อกลุ่มทุนฟอกเชียวปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิต ตามแนวนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และเป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero

6. นายกรัฐมนตรี ควรแถลงขอโทษต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยต่อกรณีการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยต้องแถลงต่อสาธารณะ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active