เชื่อนิรโทษกรรมเป็นหมุดหมายที่ดี คืนเสรีภาพให้ประชาชน ขณะที่ ‘หมอทศพร’ เชื่อเริ่มต้นใหม่ ชวนสังคมเปิดใจหาทางออกร่วมกัน
ในกิจกรรม “11.2 Love Fair” ที่เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จัดรวมตัวผู้ต้องหาคดีทางการเมืองจากทุกฝั่ง ทุกฝ่าย กว่า 300 ชีวิต นับตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ที่บริเวณลานประชาชน อาคารรัฐสภา เมื่อวานนี้ (11 ก.พ. 67) เพื่อแสดงออกทางการเมือง พร้อมเชิญชวนประชาชนทั่วไปที่สนใจร่วมลงชื่อ เพื่อนำเสนอเป็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนต่อสภาผู้แทนราษฎร
นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สส.พรรคเพื่อไทย หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม บอกกับ The Active ว่า มาทั้งในฐานะผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง และสส.ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม รู้สึกว่ากิจกรรมนี้แสดงออกถึงความเข้มแข็ง และพลังของประชาชนที่เรียกร้องให้มีกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งก็เป็นเหตุเป็นผลที่ควรจะทำ
นพ.ทศพร บอกด้วยว่า คดีทางการเมืองทั้งหลายเป็นการต่อสู้กับความคิดทางการเมืองด้วย การออกมาชุมนุมต่าง ๆ เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชน ตราบใดที่ไม่ได้ทำให้ใครต้องเสียชีวิต หรือทำลายทรัพย์เสียหายมาก ๆ การแสดงออกของประชาชนก็ควรเป็นสิ่งที่ต้องทำได้ แต่ที่ผ่านมาในอดีต แต่ละคดี แต่ละคำตัดสินนั้น ก็มีความหลากหลายกันออกไป
“เพราะฉะนั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ผ่านมาเป็นสิบปีแล้ว ก็ควรจบให้หมด แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ ด้วยการนิรโทษกรรม ยกเว้นกรณีที่คุณไปทำให้คนเสียชีวิต หรือทำให้มีความเสียหายอย่างร้ายแรง”
นพ.ทศพร เสรีรักษ์
นพ.ทศพร ยังมองว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเป็นสิ่งที่รู้สึกอ่อนไหวต่อคนในสังคมบางส่วน แต่ก็ต้องเปิดใจคุยกัน เชื่อว่าหากยอมรับฟังความคิดเห็นกัน โดยไม่มีการบีบบังคับกัน ก็จะสามารถหาทางออกให้กับประเทศได้
นภัสสร บุญรีย์ หนึ่งในประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ในการร่วมกิจกรรมการชุมนุมหลาย ๆ ครั้ง บอกว่า เริ่มโดนคดีทางการเมืองในปี 2561 กรณี กลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” 4 หมาย จากกิจกรรมยืนหยุดขัง 1 หมาย และกิจกรรมเรียกร้องต่อกรณี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หน้าสถานทูตกัมพูชา 1 หมาย และล่าสุดร่วมกิจกรรมกับกลุ่มทะลุฟ้าก็โดนคดีมาอีก 2 หมาย รวมแล้วถูกนภัสสรดำเนินคดีทางการเมืองไปแล้ว 8 หมาย
แม้จะถูกดำเนินคดีหลายคดีแต่ นภัสสร บอกว่า ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่บางครั้งจะมีข้อจำกัดในการเข้าร่วมกิจกรรมบางอย่างที่ต้องตรวจสอบบัตรประชาชน ก็จะปรากฏว่ามีคดีติดตัวขึ้นมา ทำให้ถูกจำกัดสิทธิในการเข้าร่วมงาน
นภัสสร ยังมองว่า ถึงเธอจะไม่ได้เป็นแกนนำในกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ และถือว่าตนเองไม่ได้โดนคดีที่ร้ายแรงนัก หากเทียบกับนักกิจกรรมคนอื่น ๆ แต่หวังว่าการนิรโทษกรรมประชาชนในครั้งนี้จะครอบคลุมไปถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วย เพราะหลายคนยังเป็นเยาวชนอยู่ การนิรโทษกรรมจะช่วยให้พวกเขากลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้ง
พร้อมทั้งยังเชื่อว่าการที่นิรโทษกรรมประชาชนนั้นเกิดขึ้น ถือเป็นหมุดหมายที่ดี ผู้ถูกดำเนินคดีจะได้สามารถกลับมามีเสรีภาพอีกครั้ง แต่กฎหมายนี้ต้องจำกัดไว้สำหรับประชาชนเท่านั้นไม่ควรนำไปใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้กำลังรุนแรงต่อประชาชน
นอกจากนั้นยังหวังว่า ประชาชนทุกคน ที่กลายเป็นนักโทษทางการเมือง และถูกคุมขังจะได้ออกมาจากนอกเรือนจำอย่างเท่าเทียม แต่เมื่อออกมาแล้วก็ไม่อาจคาดได้ว่ากลุ่มที่มีความเห็นต่างจะมีการต่อต้านกันอย่างไร
ขณะที่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ย้ำว่า “ข้อเสนอนิรโทษกรรมประชาชน ที่ต้องเรียกร้องเพื่อให้ได้มาในวันนี้ เป็นเรื่องเดียวกันกับที่เราเรียกร้องกันมาตลอดหลายปี คือ เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และคือการทวงคืนความยุติธรรมให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และคือ การเสนอใช้สิทธิช่วยกันเสนอต่อผู้มีอำนาจสูงสุดอย่างเป็นทางการให้ปล่อยเพื่อนเรา”
โดยเนื้อหาหลักของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน คือการยกเลิกคดีที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมืองหรือมีมูลเหตุทางการเมืองทั้งหมดตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยครอบคลุมคดีที่เกิดขึ้นตามกฎหมายเช่น คำสั่งและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไปจนถึงมาตรา 112
ขณะเดียวกันในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จะมีกิจกรรม “ส่งรักให้ถึงสภา ถามหาความยุติธรรม เพื่อนิรโทษกรรมประชาชน” ที่ลานประชาชน โดยจะเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองมารับรายชื่อประชาชน พร้อมกับแสดงความเห็นและจุดยืนต่อการนิรโทษกรรมประชาชนด้วย