หลังหนุนร่างแก้ไข พ.ร.ก.ประมงฯ ปลดล็อกเอื้อประมงผิดกฎหมาย กระทบทรัพยากรทางทะเลในภาพรวม ซัด รัฐบาล หากยังอุ้มโจรประมง เดินหน้า FTA ไทย – อียู ไม่เกิด เสียโอกาสการแข่งขันทางการค้า กระทบอุตสาหกรรม เศรษฐกิจทั้งระบบ
วันนี้ (23 มี.ค. 2567) รศ.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณี สำนักข่าว Telegraph ของอังกฤษ อ้างบทวิเคราะห์ร่างกฎหมาย ของมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) ว่าหลายมาตราในร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ…. ทั้ง 8 ฉบับของไทย ที่กำลังพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ มีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการยกเลิกการแจ้งบัญชีรายชื่อลูกเรือตอนออกเรือ และการอนุญาตให้ขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลและเปลี่ยนย้ายลูกเรือกลางทะเล เป็นไปได้สูงว่าจะส่งผลกระทบให้อาหารทะเลจากไทยถูกถอนออกจากชั้นวางสินค้าในห้างตะวันตก หากความพยายามผ่อนปรนกฎหมายนี้สำเร็จ
พร้อมทั้งอ้างว่าโฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป ลั่น “ใบเหลือง” และมาตรการเชิงลงโทษอื่น ๆ อาจถูกนำมาใช้ หากความพยายามในการลดทอนกฎระเบียบลงยังดำเนินต่อไป ซึ่งรวมถึงมาตรการยับยั้งทางการค้าหรือแม้กระทั้งระงับการค้า นอกจากนี้โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรปยังคงกล่าวว่าข้อเสนอผ่อนปรนกฎหมายดังกล่าวยังเป็นการขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย และย้ำว่าคณะกรรมาธิการยุโรป จะไม่ลังเลที่จะใช้มาตรการที่จำเป็นหากประเทศไทยยังคงแสดงทีท่า ว่าเป็นประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing (การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม)
จากกรณีดังกล่าว รศ.ธนพร ชี้ว่า ประเทศไทยอาจไม่ใช่แค่จ่อถูกใบเหลือง แต่อาจจะไปถึงขั้นโดนใบแดง ถ้าหากยังเดินหน้าแก้ไขกฎหมายประมงกันอยู่แบบนี้ ซึ่งเห็นว่าทุกพรรคการเมือภูมิใจนักหนา แต่ตนขอย้ำว่า นี่คือการ อุ้มโจร IUU และหากอุ้มกันอยู่แบบนี้ ก็ไม่พ้นที่ไทยจะโดนใบแดง IUU อีกแน่นอน วนกลับไปที่จุดเดิม ซ้ำยังจะเสียโอกาสในการแข่งขันทางการค้าเสรีด้วย
ปลดล็อกกฎหมายเอื้อทุนประมงผิดกฎหมาย เพื่อไทย-ก้าวไกล และทุกพรรค หนีไม่พ้นความรับผิดชอบ
รศ.ธนพร ย้ำว่า ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ…. ทั้ง 8 ฉบับของไทย ที่กำลังพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ สภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ ไม่ได้เป็นการแก้ไขเพื่อให้การประมงไทยมีความก้าวหน้า และเพื่อทรัพยากรทางทะเลที่ยั่งยืน เพราะมีหลายข้อที่ปลดล็อกให้มีการทำประมงผิดกฎหมายขัดกับ IUU เพราะนอกจากการลดรายงานการเข้าออก คือการยกเลิกการแจ้งบัญชีรายชื่อลูกเรือตอนออกเรือซึ่งไม่รู้ว่าใครเข้าออกบ้าง และการอนุญาตให้ขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลและเปลี่ยนย้ายลูกเรือกลางทะเล เปิดช่องไปสู่การค้ามนุษย์ ยังมีเรื่องการกำหนดโทษร้ายแรงที่ลดลงจากเดิม ประมาณ 15 อย่าง เหลืออยู่เพียง 5-6 อย่าง และที่ปรับแก้ออกก็จะส่งเสริมการทำประมงผิดกฎหมาย หรือเรือผีทั้งนั้น
“เช่น บอกว่าใช้เรือประมงที่ไม่ต้องแจ้งรหัสประจำเรือไปทำการประมงได้ โดยที่ไม่ถือเป็นโทษร้ายแรง เท่ากับส่งเสริมเรือเถื่อน ส่งเสริมเรือผี แล้วประเทศไหนเขายอมรับได้ ปล่อยให้เรือเถื่อนกับเรือผีไปขโมยปลาในน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน หรือขโมยปลาในบ้านในเรือคนอื่น“
รศ.ธนพร กล่าว
อีกเรื่องคือการเขียนล็อกบุ๊กเป็นเท็จ ก็อ้างกันตลอดบอกไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่จริง ๆ แล้วเรื่องล็อกบุ๊กเป็นข้อมูลพื้นฐานที่เราจะเอามาดูว่าทรัพยากรของเรามีเท่าไหร่ ดังนั้นถ้าเริ่มจากการเขียนล็อกบุคเป็นเท็จแล้ว ข้อมูลที่จะมาคำนวณวันทำการประมงก็เป็นเท็จตาม ซึ่งหากเริ่มจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแล้ว จะรู้สถานภาพทรัพยากรในประเทศเราได้อย่างไร
หนึ่งเรื่องสำคัญ คือการที่บอกว่าเรือขนถ่าย ที่นำปลาเข้ามาจากต่างประเทศ เดิมกรมประมงมีเวลในการจะตรวจสอบที่มาของปลา 96 ชม. ในการปรับแก้กฎหมาย ลดเหลือ 48 ชม. ถ้ากรมประมงอนุมัติไม่ได้ภายใน48 ชม. ก็ให้นำปลาขึ้นท่าได้เลย ลองคิดดูว่า เวลาสั้นขนาดนี้ เมื่อกรมประมงตรวจไม่ทัน ก็สามารถเอาปลาซึ่งไม่รู้ที่มาที่ไป หรือยังไม่มีใครรับรองก็เอาขึ้นท่าได้ นี่ก็เป็นช่องว่างในการฟอกปลา แล้วมีประเทศไหน ที่ไหนเขาจะยอมรับได้ เราก็กลับไปเป็นสวรรค์การฟอกปลา และตนเคยบอกแล้วว่า เรือออกไปทำประมงเองไม่ได้ เพราะเรือไม่ใช่ AI ต้องมีคน แต่กลับมีการไปถอดเรื่องการคุ้มครองแรงงานออกจากกฎหมายประมงมันแปลว่าอะไร มีประเทศไหนที่เขาจะไม่คุ้มครองคนของเขา ขนาดทุกวันนี้ดูแลเข้มงวดขนาดนี้ แทบจะไม่มีคนลงเรือกันแล้วเห็นบ่นกันทุกวันว่าไม่มีแรงงานลงเรือ แล้วไปถอดการคุ้มครองแรงงานออกจากกฎหมายประมงอีก คำถามคือ แล้วใครจะลงเรือ
แล้วที่เลวร้ายที่สุด การเข้าไปขโมยปลาชาวบ้าน บอกว่าไม่ใช่ความผิดร้ายแรง เป็นไปได้ยังไง เรือของเราเข้าไปขโมยปลาของคนอื่น พอถูกจับได้กลับบอกว่าไม่เป็นไร ไม่ใช่โทษร้ายแรง นี่เท่ากับว่าเราไปส่งเสริมให้ขโมย และนี่คือที่มาของครั้งก่อน ที่เราโดนใบแดง เพราะเข้าไปขโมยปลาในน่านน้ำอินโดนีเซีย จะมาอ้างว่าเรือธงอินโดนีเซีย เจ้าของคนไทยทั้งนั้น นี่ชัดเจนแล้วว่าไทยเรากำลังจะเอาเรื่องแบบนี้กลับมาอีกหรือไม่
“ไม่ทีที่ไหนเขาอนุญาตให้อวนลาก เข้าไปทำลายทรัพยากรเขาหรอก ที่ผ่านมาไง เขาไม่เอา เราเลยต้องใช้วิธีเข้าไปขโมยปลาเขา พอเข้าไปขโมยปลาก็ต้องค้ามนุษย์ เพราะเรือมันจับปลาเองไม่ได้ มันก็ต้องมีคนไปช่วยกันจับ ก็เรือทุนเข้าไปเถื่อน มันก็ต้องเป็นคนเถื่อน ก็เราถึงโดนไง เรื่องค้ามนุษย์นี่ไง วันนี้ก็จะกลับมาใหม่อีก ทุกพรรคต้องรับผิดชอบ“
รศ.ธนพร กล่าว
รศ.ธนพร ย้ำอีกว่า เรื่องนี้ ทั้งรัฐบาล รวมถึงฝ่ายค้าน รอรับผิดชอบกันด้วย เพราะพรรคก้าวไกล ก็ต้องหนีไม่พ้นที่จะรับผิดชอบหาก EU ให้ใบแดง เพราะเห็นออกตัวแรงจะแก้ไขกฎหมายประมงนี้
“ไม่ใช่ว่าถ้า EU มีมาตรการกับรัฐบาล แล้วพรรรคก้าวไกล จะมาทำหล่อ ไม่ต้องรับผิดชอบ ก็ไม่หล่อนะ เพราะสนับสนุนแก้ร่างกฎหมายนี้เหมือนกัน โดยร่างพรรคก้าวไกล ร่างของทุกพรรค ก็เห็นตาม ๆ กัน จริง ๆ อุ้มนายทุนไม่ใช่ปัญหา แต่ไปอุ้มนายทุนที่เป็นโจรไง นี่มันหนัก ถ้านายทุนที่เขาทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ใช้เทคโนโลยี สร้างนวัตกรรม อัปสกิล รีสกิล ให้กับทรัพยากรมนุษย์ของเขาไอ้อย่างงี้จะอุ้มก็ไม่ได้ว่ากัน แต่ไอ้นี่เนี่ย นอกจากอุ้มทุนแล้ว ดันเป็นทุนที่เป็นโจรด้วย“
รศ.ธนพร กล่าว
ประมงผิดกฎหมาย เงื่อนไขฉุดประเทศ ปิดโอกาสความร่วมมือนานาชาติ สร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
รศ.ธนพร กล่าวว่า หากกลุ่มประมงทุนใหญ่ที่สนับสนุนแก้กฎหมาย จะไม่แคร์ เพราะมองว่าไทยส่งออกอาหารทะเลใน EU ไปแค่ 5% ก็ไม่เป็นไร ก็รับใบแดงไป ถ้าคิดอย่างนี้กันจริง ๆ แต่ที่แน่ ๆ FTA เขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ( EU ) ซึ่งจะมีภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากของเราได้ประโยชน์อีกเยอะก็จะไม่มีวันสำเร็จ เพราะต้องย้ำเลยว่า ยุโรปให้ความสำคัญกับการทำประมงผิดกฎหมายมาก ๆ นี่จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เราอาจเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในเรื่องนี้
“ก็ตอนนี้ธุรกิจอื่น ๆ ที่เราต้องแข่งกับเวียดนาม เพราะตอนนี้เขามี FTA กับ EU แล้ว มันเสียโอกาสสิ เพราะเวียดนามเขาภาษีเป็น 0 ขณะที่ไทยเราจัดเต็มคาราเบล เก็บเต็มข้อ มันจะไปแข่งขันได้ยังไง นวัตกรรมเราก็ไม่มี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะไปสู้ได้ ก็อยู่ในกระบวนทัศน์เก่า คือคุณภาพสินค้า ซึ่งวันนี้มันมีมาตรฐานสากลกำกับ พอมาตรฐานสินค้าเราเขาให้ใบแดง ก็แปลว่าสินค้าอื่น ความรู้สึกของคน EU เขาก็มอง ก็ขนาดปลากระป๋องยังโดนใบแดง อย่างอื่นจะยังน่าอุดหนุนไหม คำถามอื่นตามมาตัดไม้รึเปล่า สร้างโลกร้อนรึเปล่า ราคาก็ยังแพงกว่าเขาอีก แล้วมันจะไม่เจ๊งยังไงไหว“
พบว่า ในปี 2555 ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลอันดับที่ 3 ของโลกโดยมีมูลค่าส่งออกราว 8 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (290 พันล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยตกลงมาอยู่อันดับที่ 13 ดัวยมูลค่าการส่งออก 5.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (196 พันล้านบาท หรือลดลงกว่า 32 %)
ข้อมูลจาก มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) ในเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของประเทศไทย และผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมทะเล โดยมีสาเหตุจากจำนวนปลาที่ลดลง รวมทั้งค่าน้ำมันที่สูงขึ้น และการกวดขันไม่ให้เรือไทยทำประมงในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศอื่น นอกจากนี้รายงานต่างๆ เกี่ยวกับการทําประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม การทำประมงประเภททำลายล้างและไม่ยั่งยืน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอุตสาหกรรมประมงไทยยังเปิดเผยภาพลักษณ์ที่ไม่สู้ดีนักในสายตาของประเทศที่นำเข้าอาหารทะเล โดยมองว่า อาหารทะเลของไทยขาดความโปร่งใสและมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกี่ยวพันกับปัญหาดังกล่าว
ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศที่นำเข้าอาหารทะเลไทย 10 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วน 75.9% ของมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดของไทย แม้ปัจจุบันประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปจะนำเข้าอาหารทะเลจากไทยเป็นสัดส่วนเพียง 5.6% แต่มูลค่าการส่งออกที่เคยสูงกว่านี้ได้ตกลงถึง 55.6% ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 หรือ 1 ปี ก่อนที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะให้ ‘ใบเหลือง’ แก่ประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นสหภาพยุโรปนำเข้าอาหารทะเลจากไทยเป็นสัดส่วนกว่า 12.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ถึงกระนั้น ราคาส่งออกเฉลี่ย (บาท/ตัน) ไปยังสหภาพยุโรปในปัจจุบันยังคงสูงกว่าประเทศเทียบเคียง อาทิ จีน ออสเตรเลีย และแคนาดา
ในปี พ.ศ. 2562 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ปลดใบเหลืองไทย หลังจากรัฐบาลไทยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้มีการลงทุนและปฏิรูปที่สำคัญ ทั้งนี้ กฎหมายการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Regulation) ของสหภาพยุโรปกำหนดให้ประเทศที่เคยได้รับใบเหลืองสามารถได้รับใบเหลืองอีกครั้ง หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายได้ตามสัญญา
EJF จึงเห็นว่าประเทศไทยควรพยายามทุกวิถีทางเพื่อป้องกันการได้รับใบเหลืองอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศคู่ค้าสำคัญต่างๆ ของประเทศไทยหันมาให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและการสืบทวนย้อนกลับแหล่งที่มาของอาหารทะเลมากขึ้น
ทั้งนี้ ข้อเสนอจากภาคประมงพาณิชย์ อาจทำให้ประเทศไทยเสี่ยงที่จะสูญเสียตลาดอาหารทะเลมูลค่า 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศคู่ค้า 6 ประเทศและสหภาพยุโรป (ซึ่งกำลังจะมีข้อบังคับด้านความโปร่งใสและการสืบทวนย้อนกลับแหล่งที่มาเพิ่มเติม) ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยส่งออกอาหารทะเลไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวเป็นสัดส่วนเกือบ 60% นับเป็นสหรัฐอเมริกา 22.4%, ญี่ปุ่น 18.7%, สหภาพยุโรป 5.6%, ออสเตรเลีย5%, แคนาดา 3.7%, เกาหลีใต้ 3.5% และนิวซีแลนด์ 0.8%
และภายในอีก 4 ข้างหน้าจะมีกฎหมายควบคุมการส่งออกอาหารทะเลไปสหภาพยุโรปและอีก 6 ประเทศเพิ่มเติมอีกมากมาย ซึ่งรวมกันมูลค่ากว่า 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อคัดกรองและป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์จากการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ ละเมิดสิทธิแรงงานเข้าสู่ตลาด
ยังไม่นับว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มบังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานบังคับอย่างเข้มข้นขึ้น เช่น คำสั่งกักสินค้าของสำนักงานศุลกากรและป้องกันพรหมแดนสหรัฐอเมริกา (US Customs and Border Protection Agency’s Withhold Release Orders) และกฎหมายการใช้แรงงานบังคับ (Forced Labour Regulation) ของสหภาพยุโรปที่ใกล้ร่างแล้วเสร็จ
หมายเหตุ : พื้นหลังสีเขียว คือ กฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้ว พื้นหลังสีเหลือง คือ กฎหมายที่อยู่ในขั้นตอนการร่าง
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมประมงจะได้รับผลกระทบรุนแรง หากประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับการสืบทวนย้อนกลับแหล่งที่มาของอาหารทะเล ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ต่างหันมาสร้างมาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้น การที่ภาคประมงพาณิชย์เสนอให้ยกเลิกนโยบายฯ เป็นการกระทำที่ขาดวิสัยทัศน์เชิงสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสังคมในระยะยาว และจะสร้างประโยชน์ให้กลุ่มคนเพียง 20% ของอุตสาหกรรมประมงทั้งหมด (คำนวนจากจำนวนเรือ) ชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนชายฝั่งจะเสียเปรียบ ความเป็นอยู่และความมั่นคงทางอาหารของผู้คนหลายพันรายจะตกอยู่ในความเสี่ยง
ประเทศไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมประมงแบบองค์รวม และทำให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากการทำประมงที่ยั่งยืน ถูกกฎหมาย และเป็นธรรมได้ ต่อเมื่อมีการวางแผนปฏิรูปด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์และมีแนวทางป้องกันไว้ก่อน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อาทิ ภาคประมงพาณิชย์ ผู้ผลิตอาหารทะเล สมาคมชาวประมงพื้นบ้าน องค์กรประชาสังคม และสถาบันวิชาการต่างๆ ต้องมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขทั้งหมด หลังจากที่พยายามพัฒนามาเป็นระยะเวลาหลายปี อุตสาหกรรมประมงไทยที่เฟื่องฟูอยู่เพียงแค่เอื้อมมือ หากแต่เราต้องปฏิเสธที่จะก้าวถอยหลัง
ชี้ แก้กฎหมาย ปิดทางทำมาหากินประมงพื้นบ้าน และการเดินหน้าสร้างความยั่งยืนทางทะเล
รศ.ธนพร กล่าวว่า ตอนนี้ ประมงพื้นบ้านเจ๊งกันหมดแล้ว เพราะหากดูกฎหมายลูกประกาศต่าง ๆ ประมงฯ ก็ถอยหลังมาก ๆ อย่างเครื่องมือประมงพื้นบ้าน ไม่มีอย่างที่ไหนเขาทำกัน ที่ไปกำหนดให้เรืออวนลากเป็นประมงพื้นบ้านด้วย ก็แปลว่าให้เรืออวนลากขนาดเล็ก หรือเรือที่ติดเครื่อมือประมงทำลายล้าง เข้าไปทำประมงในเขตทะเลชายฝั่งได้ ทีนี้กวาดกันหมดปลาตัวเล็กปลาวัยอ่อน ต่อให้รัฐปล่อยปูม้าไปล้านตัว ลากอวน 2 ลอย ก็หมดทะเลแล้วกวาดไปหมด นี่ยังไม่รวมปลาทูมาวางไข่ชายฝั่ง อวนลากวางชายฝั่งเต็มไปหมด นี่แหละจึงเป็นหายนะปลาทูจริง ๆ ผมถึงบอกว่าวันนี้ที่จะแก้กฎหมายประมงกัน แก้อุ้มทุนโจรทั้งนั้น
“การกำกับดูแลประมงทั้งหลายทั้งปวงวันนี้ แทบไม่ได้ทำอะไรกันอยู่แล้ว การดัดแปลงเครื่องมือประมง ที่ก่อนนี้มีการจับกันบ่อย ๆ อยู่พักนึง สุดท้ายกรมประมงก็ปอดแหกขึ้นมาซะอย่างนั้น เพราะงั้นวันนี้ก็ดัดแปลงเครื่องมือประมง จับปลากันอยู่แล้ว และไม่มีการจับเอาผิดกันอยู่แล้ว ผมไม่เห็นว่าเรือประมงรายใหญ่จะเดือดร้อนอะไร ทุกวันนี้ไม่มีใครกล้าตรวจ อย่างเรื่องน้ำมันเขียวมี 20 กว่าปี รัฐอุดหนุนไปให้แล้วเกิน 80,000 ล้านบาท แล้วยังจะเรียกร้องจะเอาอะไรอีก ประเทศเราอุ้มประมงพาณิชย์มาตลอด เกือบแสนล้านบาท จะมาบอกว่าภาครัฐไม่ดูแลได้อย่างไร“
รศ.ธนพร กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้เดินหน้ากันผิดทางไปหมด สิ่งที่ต้องทำ คือต้องให้ความเป็นธรรมคนไทยคนอื่นเขาด้วย เพราะปลา อาหารทะเล เป็นของคนไทยทุกคน ถ้าจะแก้กฎหมายต้องอยู่บนหลักป้องกันและการฟื้นคืนทรัพยากรทางทะเลเพื่อความยั่งยืน นั่นถึงจะทำให้ประมงไทยกลับมายิ่งใหญ่และเป็นเจ้าสมุทรได้จริง ๆ ไม่ใช่หนุนประมงผิดกฎหมาย