ดัชนี ‘เสรีภาพ’ สื่อไทย ‘มีปัญหา’ รั้งอันดับ 87 จาก 180 ประเทศ

เผยสถานการณ์ ‘นักข่าวสิ่งแวดล้อม’ ถูกฟ้องปิดปาก ท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศเลวร้าย หลายฝ่ายร่วมเสนอทางออก สร้างกลไกป้องกันการใช้กฎหมายคุกคาม – ยกเลิกกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพ

วันนี้ (3 พ.ค. 67) สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ร่วมกับ องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน และองค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ จัดเสวนาเรื่อง “เสรีภาพสื่อไทยยุคหลังเลือกตั้ง ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมและกฎหมายปิดปาก” เนื่องใน ‘วันเสรีภาพสื่อโลก 2567’ ปีนี้ UNESCO ได้กำหนดให้เป็นปีของการรณรงค์ว่าด้วย ‘บทบาทสื่อมวลชนกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม’ (Journalism in the Face of Environmental Crisis)

Reporters sans frontières (RSF) หรือ นักข่าวไร้พรมแดน องค์การด้านสิทธิและเสรีภาพสื่อระดับนานาชาติ รายงานดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลกพบว่า ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ครอง 5 อันดับแรกประเทศที่มีสถานการณ์สื่ออยู่ในระดับดี

ขณะที่ ดัชนีเสรีภาพสื่อไทย ปี 2567 อยู่ที่อันดับ 87 จาก 180 ประเทศ จัดอยู่ในประเทศที่ ‘สถานการณ์มีปัญหา’ (Problematic Situation) แต่ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องด้วยกระแสการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2563 สู่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 ก่อให้เกิดพื้นที่สื่อเพื่อถกเถียงอย่างดุเดือดในประเด็นกฎหมายมาตรา 112 แต่ก็ยังพบสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล (ในสมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ถูกคุกคาม ข่มเหง และเผชิญทำร้ายซึ่งหน้าอีกด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการอ้างใช้ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ เพื่อจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอของสื่อมวลชน ในขณะที่สื่อที่สนับสนุนชนชั้นปกครองแทบไม่มีการพูดถึงการเคลื่อนไหวของมวลชนในปี 2563 – 2565

RSF ยังระบุว่า ในประเทศไทย นักข่าวต้องตระหนักว่า การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอาจทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมา จากการใช้อำนาจศาลและคำสั่งของรัฐบาล นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 นักข่าวและบล็อกเกอร์หลายสิบคนถูกบังคับให้เลือกระหว่างว่าจะยอมถูกจำคุกหรือเนรเทศตนเองไปจากประเทศ

สำหรับผู้ที่ถูกจำคุกด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีรายงานการถูกทำร้ายในคุก ขณะที่ภายนอกเรือนจำ ตำรวจเลือกใช้การปราบปรามอย่างผิดหลักสากล เป็นเหตุให้นักข่าวหลายคนต้องบาดเจ็บสาหัสจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ช่วงการชุมนุมเดือนพฤศจิกายน ปี 2565

นักข่าวสิ่งแวดล้อมถูกฟ้องปิดปาก
ท่ามกลางวิกฤตโลกรวนที่เลวร้ายขึ้นทุกวัน

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล นักเขียนประจำนิตยสารสารคดี และประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ธรรมชาติของการรายงานข่าวสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ และกลุ่มทุนต่าง ๆ ทั้งยังต้องเปิดโปงโครงการขนาดใหญ่ที่เอารัดเอาเปรียบทรัพยากรธรรมชาติ การรายงานข่าวดังกล่าวจึงทำให้มีผู้เสียผลประโยชน์มหาศาล ทำให้นักข่าวสิ่งแวดล้อมมีความเสี่ยงในการถูกคุกคามโดยผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อ ฟ้องปิดปาก (Strategic Lawsuit Against Pubilic Participation : SLAPP) ทำให้อาชีพนักข่าวสิ่งแวดล้อมทำงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้มวลชนได้อย่างยากลำบาก

“ข่าวสิ่งแวดล้อม อาจมีอายุน้อยในแวดวงวิชาชีพสื่อ เมื่อเปรียบเทียบกับข่าวสายอื่น ๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ นักข่าวสิ่งแวดล้อม เผชิญความท้าทายต่อการถูกฟ้องคดี SLAPP หรือ ฟ้องปิดปาก น้อยกว่าใคร”

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

ฐิติพันธ์ เล่าว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดกรณีนักข่าวสิ่งแวดล้อมถูกฟ้อง SLAPP อย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อตัวนักข่าวและสิทธิเสรีภาพ ยกตัวอย่าง ‘ปรัชญ์ รุจิวนารมย์‘ นักข่าวสิ่งแวดล้อมผู้ถูกฟ้องครั้งแรกจากการเขียนข่าว ‘เหมืองแร่ไทยทำลายแหล่งน้ำพม่า’ รายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนจากการดำเนินกิจการเหมืองแร่ดีบุก และอีกครั้งจากการเสนอข่าว ‘ศาลพม่าสั่งบริษัทเหมืองแร่ไทยชดใช้ชาวบ้านทวาย 2.4 ล้านบาทเหตุเหมืองดีบุกทำสิ่งแวดล้อมพัง’ และทั้ง 2 คดี ถูกฟ้องโดยบริษัทเดียวกัน

กรณีข้างต้น สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและทรัพยากรระหว่างโจทก์ (บริษัทเอกชน) กับจำเลย (นักข่าว) และยังพบการไล่ฟ้องร้องสื่อมวลชนปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน อันเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แม้ว่าปีนี้ประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศแปรปรวน วิกฤตปะการังฟอกขาว สารเคมีรั่วไหล ฝุ่นควันและไฟป่า แต่สื่อมวลชนไทยกำลังอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่อาจถูกปิดปากด้วยกฎหมายได้ทุกเมื่อ หากพูดสิ่งใดที่ไม่เข้าหูผู้มีอำนาจ

ฐิติพันธ์ เสนอแนะว่า นักข่าวลำพังไม่อาจแบกรับความเสี่ยงได้ วงการสื่อจำเป็นต้องร่วมด้วยช่วยกัน อย่าปล่อยให้นักข่าวเพียงสำนักเดียวต้องต่อสู้กับอำนาจใหญ่อย่างโดดเดี่ยว ถ้าร่วมกันรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อม ก็อาจทำให้เกิดการฟ้องร้องกลุ่มทุนหรือหาทางออกร่วมกันได้

สื่อมวลชน นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ สหภาพแรงงาน
เป้าหมายการถูกฟ้องปิดปาก

สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ระบุว่า การฟ้องคดี SLAPP หรือฟ้องปิดปาก มักก่อให้เกิด “ภาวะชะงักงัน” (Chilling Effect) ต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเสรีภาพอื่น ๆ เพื่อระงับหรือ
ขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับประโยชน์สาธารณะ โดยกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อของการฟ้องปิดปากมักหนีไม่พ้นบรรดาสื่อมวลชน นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ และสหภาพแรงงาน

สัณหวรรณ ศรีสด

ลักษณะของกฎหมายที่ใช้ฟ้องปิดปากมักเป็นกฎหมายที่เขียนไว้โดยกว้าง คลุมเครือ เอื้อให้ตีความได้ และกำหนดโทษทางอาญาที่ไม่ได้สัดส่วน เช่น บุคคลทั่วไปวิพากษ์การทำงานของภาครัฐแต่ถูกตัดสินถึงโทษจำคุก ทั้งที่การวิพากษ์วิจารณ์ควรเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

นอกจากนี้ คดี SLAPP ยังมีการดำเนินคดีที่เร่งรัด หมายเอาผิดโดยเร็ว และเพ่งเล็งบุคคลที่โดดเดี่ยว ไม่มีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง โดย สัณหวรรณ ได้เสนอแนวทางถึงการปกป้องการฟ้องปิดปาก 3 ประการ ดังนี้

  1. ออกกฎหมายและนโยบายเพื่อป้องกันคดี SLAPP: รัฐสภาและรัฐบาลควรออกกฎหมายและนโยบายเพื่อป้องกันการฟ้องคดี SLAPP รวมถึงทำการทบกวนแก้ไขกรอบกฎหมายป้องกันคดี SLAPP ในปัจจุบัน ให้กฎหมายและนโยบายดังกล่าวสามารกคุ้มครองผู้เสียหายจากการถูกฟ้อง SLAPP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรวมถึงการเปิดช่องให้ศาลสามารถวินิจฉัย เรียก และยกฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็น SLAPP ได้โดยเร็วนับตั้งแต่ช่วงแรกของการฟ้องคดี พร้อมทั้งประกันกระบวนการโดยชอบธรรมทั้งแก่ฝ่ายผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องคดี

  2. ปฏิรูปกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้องคดี SLAPP: รัฐสภาและรัฐบาลควรยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้องคดี SLAPP ให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น กฎหมายที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง มีความคลุมเครือ เอื้อต่อการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพขั้นพื้นฐานอื่น ๆ อย่างไม่เหมาะสม หรือกำหนดโภษทางอาญาอย่างไม่ได้สัดส่วนกับความผิด

  3. ส่งเสริมการใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือก: คู่ความสามารถเข้าถึงการระงับข้อพิพาทในช่องทางอื่น ๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากันในชั้นศาลเพียงอย่างเดียว เช่นการไกล่เกลี่ย เจรจาเพื่อหารือทางออกอย่างสมานฉันท์และสุจริตใจ

“ไม่ใช่ทุกคนจะพร้อมอยู่หน้าบัลลังก์ เขาอยากไกล่เกลี่ย เพราะด้วยหน้าที่การงาน ครอบครัว ทำให้เข้าไม่พร้อมขึ้นศาลได้ แต่ ‘กลไกทางเลือก’ ในการไกล่เกลี่ย ต้องไม่ใช่การกดดันกดขี่ หลายครั้งเจ้าหน้าที่ก็จะเน้นให้เคสมันจบลงเร็ว ๆ ด้วยการขอโทษกันไป โดยที่จำเลยไม่ได้ยืนยันจุดยืนตัวเองด้วยซ้ำ ทั้งนี้ การไกลเกลี่ยควรเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ต้องเป็นทางเลือกที่ให้ความยุติธรรมได้ด้วย”

สัณหวรรณ ศรีสด

สัณหวรรณ ย้ำว่า การจะแก้ไขประเด็นการฟ้องปิดปากไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการร่างกฎหมาย Anti-SLAPP เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมายตั้งต้นที่เอื้อให้เกิดการตีความและฟ้องร้องกันได้ รวมไปถึงการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ตลอดจนการร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะผลักดันเสรีภาพสื่อมวลชนไปพร้อมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active