เดินหน้าแปลภาพถ่ายทางอากาศ เพิกถอนเอกสารสิทธิโดยมิชอบ พร้อมแผนแม่บทการพัฒนาเกาะหลีเป๊ะเพื่อความยั่งยืน คู่ขนานการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล คุ้มครองสิทธิวัฒนธรรม สิทธิชุมชนดั้งเดิม
วันนี้ (21 พ.ค. 67) รศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เปิดเผยกับ The Active ถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ที่ดูเหมือนจะอยู่ในช่วงสุญญากาศ หลัง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่นั่งเป็นประธานคณะกรรมการฯ ต้องยุติบทบาท จากคดีความส่วนตัว
รศ.ธนพร เปิดเผยว่า ล่าสุดคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ซึ่งมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม มารับหน้าที่แทน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว เสนอนายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้ง คาดว่าหลังนายกฯ กลับจากภารกิจต่างประเทศ โดยอาจใช้เวลาไม่น่าจะเกินสัปดาห์
ทั้งนี้จากที่ตนได้พูดคุยกับ ชาญเชาวน์ เบื้องต้น ทราบปัญหานี้ดี ทันทีที่นายกฯ ลงนามคำสั่ง จากนี้จะเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ปัญหาต่อทันที ถือว่าเป็นความหวังในการเดินหน้าแก้ปัญหาที่สั่งสมมายาวนาน
“ท่านชาญเชาว์เป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านการแก้ไขกรณีปัญหาลักษณะนี้มาเยอะ ก็น่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ ไปถึงมาตรการบังคับใช้กฎหมายต่อได้“
รศ.ธนพร ศรียากูล
นายกฯ เปิดทางอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศเกาะหลีเป๊ะ แก้ปมพิพาท
รศ.ธนพร ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาพิสูจน์สิทธิ์ และตรวจสอบที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ ว่า ก่อนที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะยุติหน้าที่ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว ได้ทำเรื่องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี ขอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. อ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศทั้งเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งนายกฯ ได้ให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว หลังนายกฯ ให้ความเห็นชอบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ ได้ทำหนังสือ ไปถึงกรมแผนที่ทหาร ขอให้ส่งภาพถ่ายทางอากาศที่มีทุกปีบนเกาะหลีเป๊ะ ส่งให้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ส่งมอบให้ สคทช. ดำเนินการไปอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี ว่าได้ภาพถ่ายทุกปี โดยได้มาจากกรมแผนที่ทหารเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ภาพถ่ายชุดนี้ได้ส่งให้ สคทช. เรียบร้อยแล้วเช่นกัน
“ดังนั้นกระบวนการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ก็จะเป็นขบวนการสำคัญในการคลี่คลายที่ดินทั้งเกาะหลีเป๊ะที่มันมั่วๆกันอยู่หลายแปลง ได้ถือโอกาสจัดระเบียบใหม่ทั้งเกาะเลย ก็คิดว่าขั้นตอนอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ คงจะใช้เวลาซัก 60 วัน นอกจากนั้นจะแปลภาพถ่ายทางอากาศได้ กรมที่ดินต้องทำระวางแผนที่ก่อน ก็มีหนังสือจากคณะกรรมการฯ ไปถึงกรมที่ดินเรียบร้อยแล้ว ก็เดินหน้าและมีความคืบหน้า“
รศ.ธนพร ศรียากูล
กรณีดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาเอกชนอ้างกรรมสิทธิ์ ปิดทางสาธารณะที่ผู้คนบนเกาะใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่อดีต ซึ่งเป็นข้อพิพาทที่ดินในแปลง นส.3 เลขที่ 11 แต่เมื่อนายกฯ ได้เห็นชอบในการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศทั้งเกาะ นั่นจึงแปลว่าทุกแปลง ที่อยู่ในข่ายทับซ้อนออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบก็จะได้เห็นความจริงกันทั้งเกาะ ซึ่งถือว่าเป็นการจัดกรรมสิทธิ์ครั้งใหญ่บนเกาะหลีเป๊ะ
“หลังจากนี้ กรมที่ดิน ก็เดินหน้าได้ตามมาตรา 61 อห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ในการเพิกถอนเอกสารสิทธิมิชอบได้เลย เพราะว่าในการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานตามกฎหมาย เน้นย้ำว่าเป็นหน่วยงานตามกฎหมาย ขณะที่การอ่านแปลภาพถ่วยทางอากาศก่อนหน้านี้ไม่ว่าเคสไหน กรมที่ดิน ไม่ยอมรับ เพราะว่าดำเนินการกับส่วนราชการทั้งนั้น แต่หลังจากนี้อ้างไม่ได้แล้ว“
รศ.ธนพร ศรียากูล
รศ.ธนพร เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมาการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นการอ่านแปลภาพถ่ายของแต่ละหน่วยงานเอง ซึ่งอันนี้ไม่ใช่หน้าที่บทบาทตามภารกิจของแต่ละกรม ดังนั้นกรมที่ดินจะมีเหตุผลในการบอกว่า เกณฑ์ของกรมอุทยานฯ เกณฑ์หนึ่ง ของดีเอสไอ เกณฑ์หนึ่ง ซึ่งก็ไม่จบสักที แต่นายกฯ มีบัญชาให้จบเรื่องนี้ได้แล้ว โดยให้ สคทช. อ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ดังนั้นเมื่ออ่านแปลออกมาอย่างไร กรมที่ดินก็ต้องดำเนินการตามนั้น
เดินหน้าแผนแม่บท สร้างรูปธรรมพัฒนาเกาะหลีเป๊ะยั่งยืน
ทั้งนี้ต้องเดินหน้าไปพร้อมกับการจัดทำแผนแม่บท หรือ master plan ซึ่งอนุกรรมการจัดการด้านต่างๆที่ตั้งไว้ต้องเดินหน้าเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม เพราะบนเกาะหลีเป๊ะยังมีปัญหาหลายเรื่อง ทั้ง การระบายน้ำ แผนการจัดการขยะ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่มีความท้าทายมาก เพราะบนเกาะหลีเป๊ะมีพี่น้องที่มีส่วนได้เสียจำนวนมาก ทั้งพี่น้องชาวเล ก็จะมีมุมมองในการอนุรักษ์ วิถีชีวิต ท้องถิ่น ขณะเดียวกันผู้มีส่วนได้เสียอีกจำนวนมากบนเกาะหลายคนก็เป็นคนกรุงเทพ หรือต่างถิ่น มาลงทุนทำมาหากินบนเกาะหลีเป๊ะ ก็จะมีโลกทัศน์ หรือมุมมองอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นการดำเนินการเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าแผนแม่บทตรงนี้ไม่ออก การที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนก็ค่อยข้างจะเป็นไปได้ยาก
อีกประเด็นสำคัญ เนื่องจากพื้นที่เกาะหลีเป๊ะอยู่ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา วิถีชีวิตชาวเลก็ล้วนพึ่งพาอาชีพการทำประมงด้วย สิ่งที่ต้องเข้าไปดูแล คือหลักเกณฑ์ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในเรื่องการใช้ประโยชน์ในมาตรา 65 ของ พ.ร.บ.อุทยานฯ ซึ่งวันนี้ยังไม่ออกมา และแน่นอนว่าตัวร่างฯ ที่เสนอเข้าไป ที่กฤษฎีการมีการฟังความคิดเห็น ก็ไม่ค่อยเอื้ออำนวยสอดคล้องกับวิถีชีวิตพี่น้องชาวเลเลย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงและต้องมาคุยกันใหม่เช่นเดียวกัน
รศ.ธนพร ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ต้องเดินหน้าคู่ขนานกัน ในส่วนกระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามมติ ครม. 2 มิถุนายน 2553 แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล คือ การเดินหน้าเรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เพราะว่าสุดท้ายแล้ว ถ้ายังไม่เข้าไปจัดระบบสิทธิในที่ดินของพี่น้องชาวเล ปัญหาก็ยังคงอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกกลไกจึงต้องมานั่งทำงานร่วมกัน