ชี้ แม้ผ่านรับฟังความคิดเห็นแล้วแต่ถูกแช่แข็ง เหตุกังวลด้านสถาบันครอบครัว และเยาวชน หวังนายกฯ จริงใจหลังประกาศสนับสนุนในไพรด์พาเหรด
วันนี้ (13 มิ.ย.67) ที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตัวแทนพนักงานบริการ (Sex Worker) จาก จ.เชียงใหม่, อุดรธานี, กรุงเทพมหานคร และ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ร่วมกันติดตาม ทวงถามร่าง พ.ร.บ.มาตรการคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ พ.ศ. …. เนื่องจากร่างฯ ฉบับนี้เป็นกฎหมายใหม่ที่ผ่านการจัดทํา และรับฟังความคิดเห็นมานานกว่า 5 ปีทั่วประเทศ ทั้งในส่วนของภาครัฐ พนักงานบริการ และสถานบริการ
ตัวแทน Sex Worker ยังร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ด้านหน้ากระทรวงฯ ด้วยการผูกเชือกลากตุ๊กตาเต่า แสดงออกถึงความเชื่องช้าในการออกกฎหมาย และราดน้ำแข็งใส่ร่างกฎหมายฯ สะท้อนถึงการที่กระทรวง พม. ในฐานะเจ้าภาพเป็นผู้แช่แข็งกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ให้ไปข้างหน้า
ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ในฐานะตัวแทนภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.มาตรการคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ พ.ศ. …. กล่าวว่า ร่างฯ ฉบับนี้ผ่านการจัดทํา และรับฟังความคิดเห็นมานานกว่า 5 ปีทั่วประเทศ โดยมีกระทรวง พม. เป็นเจ้าภาพ ทั้งในส่วนของภาครัฐ พนักงานบริการ และสถานบริการ
ตามไทม์ไลน์เดิมในเดือน พ.ย. 66 ร่างฯ ฉบับนี้จะต้องอยู่บนโต๊ะของ รมว.พม. และยื่นเข้าสู่ ครม. ในเดือน ธ.ค. 66 แต่กลับหยุดรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย โดยได้รับคําตอบว่า พม. ขอเวลาศึกษา และรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 3 เดือน แต่พบว่าตั้งแต่เดือน ม.ค. เป็นต้นมา กลับไม่มีความคืบหน้าใด ๆ
“เราทราบมาว่าทาง พม. แสดงความห่วงกังวลเรื่องสถาบันครอบครัว และการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ แต่เราได้ชี้แจงมาตลอดการรับฟังการคิดเห็นในหลาย ๆ ครั้ง ว่าเราเป็นเหยื่อของอคติเหล่านี้ และมีกฎหมายอื่น ๆ ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น แต่กลับปล่อยให้คนในอาชีพนี้ไม่ได้รับการคุ้มครอง ถูกเอาเปรียบต่อไป”
ทันตา เลาวิลาวัณยกุล
ขณะที่ตัวแทนกลุ่ม Sex Worker บอกว่า ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และตัวแทน พม. ต่างพากันไปร่วมงานไพรด์ที่จัดขึ้นใน กทม. และ จ.เชียงใหม่ ยืนยันที่จะผลักดันให้งานบริการทางเพศถูกกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติทั้ง ๆ ที่มีร่างฯ ดังกล่าวอยู่ตรงหน้าแต่กลับไม่ทำอะไร จึงอยากเห็นความจริงใจ และให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
ด้าน วรรณภา สุขคง รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นตัวแทนรับหนังสือ รับปากนำประเด็นนี้เสนอต่ออธิบดี สค. เพื่อนำเข้าที่ประชุมกระทรวง พม. ขณะที่กลุ่มพนักงานงานบริการ ได้ขีดเส้น 3 เดือนที่กระทรวง พม. ต้องเสนอร่างฯ ฉบับนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ หากล่าช้าเครือข่ายจะกลับมาทวงถามอีกครั้ง