20 ปี ค้างคาใจ ทำไม ? คนทำผิด ไม่ได้รับโทษ ขณะที่ทนาย คาดหวังศาลรับฟ้องคดี สร้างบรรทัดฐานใหม่ เดินหน้าแก้ปม ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ ยุติอำนาจพิเศษ ละเมิดสิทธิประชาชน
วันนี้ (11 ก.ค. 67) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เปิดวงพูดคุย “20 ปีตากใบ ความหวัง ความท้าทาย ในวันที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาฟ้องรัฐ ก่อนจะหมดอายุความ” โดยมีตัวแทนครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ ทนายความ และภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ร่วมสะท้อนมุมมองต่อเหตุการณ์ตากใบ ในช่วงเวลาที่ใกล้สิ้นสุดอายุความ 20 ปี ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ขณะเดียวกันยังเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ อยู่ระหว่างการยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีชาวบ้านเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งเวลานี้ศาลอยู่ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง
20 ปี แห่งความอึดอัดใจ เมื่อยังไม่เห็นใครรับผิด
แบมะ (ขอสงวนชื่อจริง) อายุ 35 ปี ตัวแทนครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ เล่าว่า เขาสูญเสียพี่ชายคนโต จากการที่ถูกเจ้าหน้าที่ขนย้ายผู้ชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ขึ้นรถบรรทุกทหารไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งมาทราบภายหลังไปรับศพ พบว่า พี่ชายถูกยิงที่หน้าอก 2 นัด และคอหักด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่ชายยังเป็นคำถามมาตลอด 20 ปี ว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ต้องกระทำการกับประชาชนในลักษณะนี้ ในเมื่อผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ และบางคนไม่รู้มาก่อนเลยว่าจะต้องเจอกับปฏิบัติการสบายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง
“อึดอัดใจหลายอย่างเกี่ยวกับเหตุการณ์ สิ่งที่เฝ้ารอคือขอให้มีความยุติธรรมเป็นสิ่งแรก เพราะตลอดช่วงเวลาที่สูญเสียพี่ชาย ความรู้สึกยังไม่จางหายไปไหน ยังไม่สบายใจ แม้อายุความใกล้จะครบ 20 ปีแล้ว แต่พูดถึงกี่ครั้งก็ต้องพูดด้วยน้ำตา เพราะเหตุการณ์นี้ยังคาใจ ขนาดสำนวนคดีที่เสียชีวิตของประชาชนถึง 85 คน ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แต่สำนวนคดีไม่รู้ไปไหน รัฐไทยไม่มีความจริงใจแก้ปัญหานี้ เจ้าหน้าที่โยนไปโยนมาจาก สภ.ตากใบ โยนไป สภ.หนองจิก โยนไปอัยการ ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผกระทบ ไม่สบายใจ ค้างคาใจมาตลอด ทำไมคนร้าย คนที่สั่งการถึงยังลอยนวล ยังโทษว่าชาวบ้านตายเพราะขาดอากาศหายใจ ทั้ง ๆ ที่ตายเพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่โดยตรง”
ตัวแทนครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ
แบมะ ยอมรับว่า แม้ได้รับเยียวยาด้วยตัวเงินครบถ้วนแล้ว ถามว่าเพียงพอและชดเชยกับการสูญเสียคนในครอบครัวได้หรือไม่ ตอนนี้เมื่ออายุความคดีตากใบใกล้จะจบลง ชาวบ้านจึงรวมฟ้องเจ้าหน้าที่ จะให้เรื่องนี้จบโดยที่ไม่มีใครรับผิดชอบอะไรเลยหรือ กับการกระทำที่ขนย้ายชาวบ้านเหมือนสัตว์ นอนทับกัน 4 – 5 ชั้น จึงจะลองสู้เพื่อให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นกับคนที่เสียชีวิตอีกสักครั้ง
“ชาวบ้านขอคาดหวังกับกระบวนการยุติธรรมอีกสักครั้ง แต่ถ้าศาลไม่รับฟ้อง และชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ถึงคดีความจะหมดอายุ แต่ความสูญเสีย ความรู้สึกต่าง ๆ ยังคงอยู่ ถ้ารัฐไม่แก้ปัญหาความยุติธรรมให้กับคดีตากใบ ปัญหาที่ชายแดนใต้ก็ยังคงไม่มีความยุติธรรมเกิดขึ้น”
ตัวแทนครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ
ยกบทเรียนคดีตากใบ สู่การมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์
อูเซ็ง ดอเลาะ ศูนย์ทนายความมุสลิม จ.นราธิวาส บอกว่า คดีตากใบเป็นคดีสำคัญที่เกิดจากการกระทำละเมิด ของเจ้าหน้าที่รัฐ มีคำถามว่าก่อนหน้านี้เหตุใดชาวบ้านไม่ฟ้อง ซึ่งยอมรับว่า พอเกิดเหตุการณ์เสียชีวิต กรณีคดีอาญาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ แต่ที่ผ่านมาพบว่า เจ้าหน้าที่เองก็เพิกเฉย ปล่อยปละละเลย และที่สำคัญคือผู้ก่อเหตุ ผู้สั่งการเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง ชาวบ้านจึงทำได้แค่การรำลึกถึงเหตุการณ์เท่านั้น แต่ตอนนี้เมื่อคดีใกล้หมดอายุความและมีหลายองค์กรเข้าไปช่วยเหลือ เมื่อประเด็นนี้ถูกชูขึ้นมาอีกครั้ง ชาวบ้านก็เลยตื่นตัว เป็นอีกเฮือกสุดท้าย โอกาสสุดท้ายของชาวบ้านจริง ๆ
“แม้ตลอดช่วงที่ผ่านมาชาวบ้านจะถูกคุกคาม กดดัน และกระบวนการยุติธรรมก็ถูกตั้งคำถาม ในกระบวนการไต่สวนของศาลก็มีข้อสังเกตหลายประเด็น ผลทางคดีจึงคาดเดายากมาก อย่างน้อยถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูล ศาลรับฟ้อง มองว่าคดีใกล้หมดอายุความ ก็ยังมีขั้นตอนอีกเยอะภายในอายุความ แต่ก็ทำให้ชาวบ้านรู้สึกดีว่าศาลเองก็ให้ความสำคัญ เห็นผลกระทบที่เกิดกับชาวบ้าน ถ้าศาลมีคำสั่งรับฟ้องก็เท่ากับว่าคดีมีมูล มีคนกระทำผิด แต่ขั้นตอนก่อนหมดอายุความ ศาลก็จะนัดอีกครั้งหนึ่ง จำเลยก็อาจไม่มาศาล กรณีนี้ก็เป็นภาระของฝ่ายโจทก์ต้องนำตัวจำเลยมาศาลด้วยตัวเอง ภายในอายุความด้วย”
“แค่ศาลมีคำสั่งว่าคดีมีมูลก็เท่ากับว่าประชาชนชนะไปครึ่งหนึ่งแล้ว บทเรียนนี้ถ้าศาลมีคำสั่งดังกล่าว นั่นหมายความถึงการมีชีวิตของบุคคลควรได้รับการฏิบัติอย่างมีคุณค่า เจ้าหน้าที่จะทำอะไรนับจากนี้ต้องระมัดระวัง อย่างในปัจจุบันมีชาวบ้าน และผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในพื้นที่ถูกวิสามัญจำนวนมาก ถ้าคำสั่งตรงนี้มีผลก็คิดว่าความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนจะมีมากขึ้น แม้ยอมรับว่ามีการแทรกแซงก็ตาม”
อูเซ็ง ดอเลาะ
เมื่ออำนาจรัฐ นำมาสู่ความกลัว
ซาฮารี เจ๊ะหลง ภาคประชาสังคม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ย้ำว่า ที่ชาวบ้านเพิ่งมาฟ้องเจ้าหน้าที่ ก็เพราะปัญหาในชายแดนใต้มีความซับซ้อน จนกลายเป็นความกลัวของชาวบ้าน ในขณะที่อำนาจรัฐ พยายามทำให้ประชาชนลืมเรื่องตากใบ แต่นี่คือความผิดพลาด ที่รัฐไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง และที่ผ่านมาความพยายามกดดันชาวบ้าน ก็ทำให้ไม่มีใครกล้าฟ้องรัฐ ไม่กล้าฟ้องละเว้น ม.157 ซึ่งต่างกับพื้นที่อื่น ๆ ที่ประชาชนกล้าลุกขึ้นมาสู้กับเจ้าหน้าที่ ผ่านกระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งที่ชายแดนใต้ไม่มีใครกล้า
“ปัญหาความยุติธรรมเป็นข้อจำกัดแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ ประชาชน ไม่รู้สึกได้รับความเป็นธรรม เป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้ ประชาชนจึงกลายเป็นเหยื่อการใช้อำนาจที่เลยเถิดของรัฐ โดยรัฐไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย”
ซาฮารี เจ๊ะหลง
ซาฮารี ย้ำด้วยว่า แม้ไม่มีความยุติธรรมในคดีตากใบ ก็ยังต้องสู้กันต่อ ยังมีอีกหลายเรื่องต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธี และการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงไม่ใช่ทางออก แม้มีกลุ่มคนเลือกใช้ความรุนแรงในพื้นที่ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง แต่ในฐานะประชาชนต้องยึดมั่นแนวทางสันติวิธี ทั้งนี้มองว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือน ต้องมีบทบาท มีอำนาจมากกว่านี้ ถ้าให้ทหารนำการแก้ปัญหาก็จะย้อนไปสู่ความรุนแรง
โอกาสสุดท้าย ‘รัฐบาลเพื่อไทย’
นำความยุติธรรมคืนประชาชน เริ่มต้นจากคดีตากใบ
ขณะที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยอมรับว่า จริง ๆ คดีตากใบเกิดขึ้นใน รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวกับนโยบายด้านการช่วยเหลือเยียวยา ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับทักษิณ แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมาจนมาถึงขั้นตอนการทำให้คดีตากใบเป็นคดียุทธศาสตร์ เพื่อให้นำไปสู่จุดเริ่มต้นของการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้คดีตากใบนำไปสู่การคืนความไว้เนื้อเชื่อใจที่ประชาชนในพื้นที่จะสามารถมีต่อเจ้าหน้าที่ หรือ ฝ่ายที่เป็นกลุ้มก้อนทางการเมืองนี้อีกครั้ง แต่ที่ผ่านมาก็ยังมองไม่เห็น ว่า รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะทำอะไรกับเรื่องนี้ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว นี่คือโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพลเรือน จะสามารถทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นกับคดีตากใบได้ ก็ต้องถือว่าน่าเสียใจจริง ๆ ที่รัฐบาลเพื่อไทยไม่ได้หยิบจับโอกาสนี้ไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้กับคดีตากใบ และความยุติธรรมสำหรับประชาชนคนไทยได้เลย
“ถามว่ายังกลับตัวทันไหม ก็มองว่ายังทัน เพราะไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรคสำหรับรัฐบาลเพื่อไทยที่จะทำให้ประเทศนี้มีความยุติธรรมมากขึ้น เขามีอำนาจฝ่ายบริหารในมือ มีรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมที่ก็น่าจะเกี่ยวโยงกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้มานาน รวมถึงที่ผ่านมาการบริหารในพื้นที่ชายแดนใต้ ก็เป็นคำสั่งนายกฯ โดยตรงแทบไม่ต้องขอมติจาก ครม. แต่ทำไมจึงรู้สึกว่ารัฐบาลนี้ยังทำน้อยไป จึงอยากให้คดีตากใบ เป็นโอกาสสุดท้ายของการมีพื้นที่ให้รัฐบาลนี้ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่ชายแดนใต้ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ต้องอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน โดยเริ่มต้นจากคดีตากใบ”
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังมองว่า เหตุการณ์ตากใบ เป็นส่วนหนึ่งของการการผลักดันร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย และป้องกันการซ้อมทรมาน นับแต่นี้การควบคุมตัวบุคคล ไม่สามารถทำอย่างไร้มนุษยธรรม ย่ำยีความเป็นมนุษย์ แม้ไม่สามารถย้อนกลับไปใช้กับกรณีตากใบ แต่ความยุติธรรมสามารถทำได้โดยกระบวนการฝ่ายบริหาร การตอบสนองของฝ่ายบริหารต้องเป็นไปตามมาตรฐานใหม่ ซึ่งเวลาสิ่งที่รัฐเลือกคือไม่ทำ และพยายามทำให้เรื่องนี้สิ้นอายุความไป
‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ กับอำนาจพิเศษ ละเมิดประชาชน
สอดคล้องกับ ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ยอมรับว่า หลังจากได้ลงไปทำวิจัยในพื้นที่ต่อกรณีตากใบ พบว่า ชาวบ้านอยู่ภายใต้บรรยากาศความหวาดกลัว ปัญหาชายแดนใต้ถือเป็นเหรียญสองด้าน เกิด วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ของเจ้าหน้าที่ เกิดการละเมิดสิทธิประชาชน ซ้อมทรมาน วิสามัญ แต่ไม่มีกรณีไหนเลยที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คนถูกละเมิดไม่ได้รับความยุติธรรม คนที่ออกมาเปิดเผย เปิดโปงก็โดนคดี
ขณะที่การเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อยังไม่เกิดขึ้น การชดเชยเยียวยา อาจต้องมีมากกว่านั้น โดยรัฐต้องยอมรับอย่างเป็นทางกร ต้องการันตี รับประกันว่าเหตุการณ์แบบนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ตากใบ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นโมเดลปราบปรามการชุมนุมหลายครั้งในไทย สิ่งที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้ เป็นเหมือนห้องทดลองมนุษย์ ทดลองเอาไปใช้กับชายแดนใต้ก่อน เหตุการณ์ตากใบก็เหมือนกันที่ใช้การทดลองสลายการชุมนุมประชาชนโดยใช้ความรุนแรง แต่บทเรียนผ่านมา 20 ปี ก็ยังถูกนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า รัฐบาลไทยไม่เรียนรู้อะไรเลย
นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ คาดหวังให้ศาลรับฟ้องคดี ไม่ปล่อยให้หมดอายุความ เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาสเป็นต้นแบบการปฏิบัติกรณีสลายการชุมนุม ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อต้องได้รับความยุติธรรม
“จริง ๆ ปัญหาตากใบ เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนบรรยากาศในชายแดนใต้ ภาครัฐต้องพิจารณาหลายอย่างเชิงโครงสร้าง กฎหมายพิเศษต่าง ๆ ต้องได้รับการแก้ไข ปรับปรุง เพราะก่อให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่ ภาครัฐต้องกลับมาฟังเสียงประชาชน ว่า คนที่ได้รับผลกระทบต้องการการเยียวยาเพิ่มเติมไหม การจ่ายเงินไม่ได้ช่วยให้เยียวยาได้ตลอดไป”
ชนาธิป ตติยการุณวงศ์
สำหรับคดีที่ตัวแทนครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมนั้น ศาลจังหวัดนราธิวาส นัดไต่สวนมูลฟ้องอีกครั้งในวันที่ 19 และ 26 ก.ค.นี้ จึงเรียกร้องให้สังคมร่วมกันจับตาว่าศาลจะรับฟ้องเป็นคดีอาญา ก่อนคดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ หรือไม่