วอนสังคมร่วมจับตาพรุ่งนี้ ศาลนราธิวาส รับฟ้องหรือไม่ ก่อน 2 เดือนคดีขาดอายุความ เชื่อรัฐบาลใหม่ ทำอะไรได้มากกว่านี้ ย้ำหากหาคนผิด คืนความยุติธรรมให้ชาวบ้านไม่ได้ สันติภาพชายแดนใต้ก็ไม่ง่าย
วันนี้ (22 ส.ค. 67) ที่รัฐสภา รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงระบุถึงกรณีการจับตาคำตัดสินศาลจังหวัดนราธิวาส ในคดีที่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจาก เหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งมีโจทก์รวม 48 คน ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านเสียชีวิต 85 คน ซึ่งศาลนัดฟังคำสั่ง หรือ คำพิพากษา ว่า คดีมีมูลหรือไม่ ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ โดย รองฎอน ระบุว่า จากคำแถลงรายงานกระบวนการพิจาณณาคดี ศาลเห็น ว่า คดีนี้เกิดขึ้นมานาน มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก เป็นเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคง ความรุนแรง กระทบต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ทั้งนี้มองว่า ผลของคำสั่ง หรือพิพากษาศาลในวันพรุ่งนี้ (23 ส.ค. 67) จะอำนวยความยุติธรรมให้กับคดีตากใบ ภายใต้กรอบที่คดีใกล้ขาดอายุความภายใน 2 เดือนนับจากนี้ได้หรือไม่ หากศาลเห็นว่าคดีมีมูล และรับฟ้อง ศาลจะนำส่งหมายเรียกให้จำเลย ตามที่ศาลเห็นว่ามีมูล อาจจะครบทั้ง 9 คน หรือไม่ครบก็ตาม ก่อนวันที่ 25 ต.ค. 67 ให้มาพบศาล พร้อมเดินหน้ากระบวนการทางยุติธรรมต่อไป หากศาลไม่รับฟ้อง ก็ต้องติดตามกันต่อว่า ฝ่ายโจทก์ผู้ร้อง จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวหรือไม่ แต่ก็จะทำให้กระบวนการพิจารณาทอดยาวไปอีก ทั้งที่เหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือน
นอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีอีกคดีที่ดำเนินการคู่ขนานกันไปด้วย คือคดีอาญา ที่เกิดขึ้นจากการทักท้วงของ กมธ.กฎหมายฯ สภาฯ ที่ทวงถาม สภ.หนองจิก ถึงสำนวนคดีว่าอยู่ที่ไหน โดยตำรวจภูธร ภาค 9 ได้สั่งตั้งคณะทำงาน และตั้งสำนวนคดีนี้ขึ้นมาในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งความคืบหน้าเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน ได้ส่งสำนวนให้กับอัยการ โดยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เจ้าหน้าที่รัฐ 8 คน ซึ่งล่าสุดเท่าที่ตรวจสอบจากคณะทำงาน มีการส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมไปแล้ว จึงต้องจับตาว่า อัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่
รอมฎอน ยังระบุว่า ปมคดีตากใบ คือประเด็นสำคัญที่สังคมไทยต้องร่วมกันแสวงหาความยุติธรรมให้กับชาวบ้าน ครอบครัวผู้สูญเสีย และได้รับผลกระทบ ย้ำว่ากรณีนี้เป็นปมปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้ วางอยู่บนสายสัมพันธ์ของรัฐ และประชาชน หากรัฐไม่เอื้ออำนวยความยุติธรรมก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ให้ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกันกับความยุติธรรมคดีตากใบจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ที่ต้องการความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ศาลระบุเอาไว้ ว่า คดีตากใบเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
“เดิมที่ผมตั้งใจตั้งกระทู้ถามสดนายกฯ เศรษฐา เพื่อติดตามความคืบหน้า แต่สียดายว่ามีคำวินิจฉัยให้ นายกฯ เศรษฐา หลุดตำแหน่งไปก่อน แต่ส่วนตัวก็เชื่อว่า ภายใต้การนำของนายกฯ อุ๊งอิ๊ง ก็น่าจะต้องเตรียมคำตอบสำคัญเกี่ยวกับเรื่องตากใบให้ได้ เพราะทราบกันดีว่าเหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ดังนั้นคำถามนี้จะกลับมาแน่ ๆ โดยจะหาโอกาสทวงถาม แทนประชาชน และอยากเห็นว่าฝ่ายการเมือง ฝ่ายบริหาร จะมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้”
รอมฎอน ปันจอร์
รอมฎอน ยังระบุด้วยว่า เมื่อไม่นานมานี้ คุณทักษิณ เคยขอโทษต่อชาวบ้านในกรณีตากใบแล้ว ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ แต่ปัจจุบันนี้คาดหวังจริง ๆ ว่า ครม. ที่จะตั้งขึ้นใหม่ น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะ การเตรียมคำตอบคดีตากใบ ซึ่งภาพรวมคิดว่า คาดหวังกับรัฐบาลนี้ จะมีความชัดเจนมากกว่ารัฐบาลเศรษฐา ที่ผ่านมาอภิปรายหลายครั้ง รัฐบาลเศรษฐา ไม่ระบุเฉพาะเจาะจงว่าจะเอายังไงกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้ จึงคาดหวังว่ารัฐบาลอุ๊งอิ๊งจะชัดเจน อย่างน้อยสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องความมุ่งมั่นเจตจำนงค์เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องแก้ปัญหาให้ได้ คิดว่าถ้าปราศจากทิศทางเช่นนี้ การแก้ปัญหาจะอยู่ภายใต้การบริหารราชการแบบปกติ จึงต้องการฝ่ายการเมืองที่เข้มแข็ง มีภาวะการนำที่ชัดเจน ฝ่ายบริหารน่าจะมีอะไรที่ดำเนินการได้มากกว่านี้
“แน่นอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ช่วยเยียวยาให้แล้วก็ตาม แต่ตอนนี้ชาวบ้านต้องการความยุติธรรม ว่า ชาวบ้านตายเพราะอะไร ใครต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่การบอกว่า ตายเพราะขาดอากาศหายใจ คำตอบแค่นั้นไม่เพียงพอ ทางการเมืองเรื่องนี้สำคัญกับการสร้างสันติภาพ ปมเหล่านี้ต้องได้รับการคลี่คลายให้ชัดเจน น่าจะเห็นความรับผิดชอบมากกว่านี้”
รอมฎอน ปันจอร์
ก่อนหน้านี้ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ในฐานะทนายความฝ่ายโจทก์ ได้ประเมินแนวทางของคดี ตากใบ ในวันที่ศาลนัดฟังคำสั่ง 23 ส.ค. 67 เอาไว้ดั้งนี้
- หากศาลมีคำสั่งว่าคดีไม่มีมูล และพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยังมีสิทธิ์อุทธรณ์ ฎีกาได้
- หากศาลมีคำสั่งคดีมีมูล ศาลก็จะประทับรับฟ้อง และก็จะมีขั้นตอนในการออกหมายเรียกจำเลยให้มาศาล หากจำเลยไม่มาในวันนัด ศาลก็จะมีการออกหมายจับ ผู้ทำหน้าที่จับกุมก็จะเป็นตำรวจในการติดตามจำเลยมาศาลตามนัด ให้ทันวันที่ 25 ต.ค. 67 ตามกำหนดอายุความ 20 ปี
- หากจำเลยมาศาลได้เพียงแค่บางคน หรือตำรวจนำตัวมาได้เพียงบางคน ก่อนหมดอายุความ (25 ต.ค. 67) ก็จะยังเป็นคดีความได้ กล่าวคือ ต้องนำจำเลยมาศาล เพียงคนเดียวอายุความก็สะดุดหยุดลง
สำหรับคดีนี้ครอบครัวผู้เสียชีวิต และขาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 จำนวน 48 คน ได้ร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ประกอบด้วย
- จำเลยที่ 1 อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
- จำเลยที่ 2 อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4
- จำเลยที่ 3 อดีตผู้บัญชาการ พล. ร. 5
- จำเลยที่ 4 อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า
- จำเลยที่ 5 อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
- จำเลยที่ 6 อดีตผู้กำกับ สภ.ตากใบ
- จำเลยที่ 7 อดีตรองผู้กำกับ สภ.ตากใบ
- จำเลยที่ 8 อดีตรอง ผอ.สสส.จชต. หรือกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
- จำเลยที่ 9 อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส
ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหา ฆ่าผู้อื่น โดยทรมาน หรือโดยทารุณโหดร้าย ตามมาตรา 288 และ 289 (5) ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพฯ ตามมาตรา 309 หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรา 310