‘พีมูฟ’ ย้ำ กม.ชาติพันธุ์ ชะงัก! เหตุไม่ใช่เนื้อหา แต่เข้าใจที่มากฎหมาย ไม่เท่ากัน

สะท้อนความจริง กฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ดิน ทรัพยากร ลิดรอนสิทธิดั้งเดิมชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง เชื่อ กฎหมายชาติพันธุ์ช่วยสร้างสมดุล ขอทุกฝ่ายปรับแก้กฎหมายให้เดินหน้าต่อ

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ระบุถึง วาระการพิจารณาและลงมติ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับ พศ…. (ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์) ในวาระที่ 2 เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้ที่ประชุมสภาฯ ลงมติว่าจะเห็นชอบร่างกฎหมายที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเคยถอนกลับไปแก้ไขเมื่อเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 67 เนื่องจากที่ประชุมสภาฯ ได้มีการอภิปรายและตั้งข้อสังเกตร่างฯ และให้คณะ กมธ.นำร่างกลับไปทบทวน แก้ไข มาตรา 3 ที่มีการนิยามคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” และมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

ภาพ : ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

โดยย้ำว่า ตลอดกว่า 4 เดือน กมธ.ร่าง พรบ.คุ้มครองฯ วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีตัวแทนหลายฝ่ายร่วมกันพิจารณา ถกเถียง ปรับแก้กันหลายครั้งอย่างละเอียด ทั้งนี้ได้รับฟัง สส.ที่อภิปรายคัดค้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนและพิจารณาปรับเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงที่มาจากร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ ที่สภาฯ รับมา

อย่างไรก็ตาม กมธ. เสียงข้างมากก็มีมติตัดคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ออกทั้งฉบับ และมี กมธ.เสียงข้างน้อยขอสงวนเอาไว้อภิปรายในสภาฯ

เมื่อเสนอให้สภาผู้แทนฯ พิจารณาอีกครั้ง ได้มี กมธ.เสียงข้างน้อยที่ขอสงวน เสนอให้ ระบุในมาตรา 3 เรื่องนิยามของกลุ่มชาติพันธุ์ คือ “กลุ่มคนที่ระบุตนเองว่าเป็นชนเผ่า ชนเผ่าพื้นเมือง ชนพื้นเมือง ชนพื้นเมืองดั้งเดิม หรือชนพื้นถิ่นด้วย” เนื่องจากเป็นคำที่ตรงกับบริบท และคำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง ตามปฏิญญาว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองแห่งสหประชาชาติ (UNDRIP) นิยามว่า เป็นคนดั้งเดิมที่ผูกติดกับดินแดน มีประวัติศาสตร์เป็นอาณานิคมถูกรุกรานจากคนนอก และเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีอำนาจครอบงำกำหนดเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง หรือกลุ่มคนที่ถูกกดขี่

แต่จากการอภิปรายของ สส.ที่ไม่เห็นด้วย มีเหตุผลเรื่องนิยามเรื่องการถูกรุกรานอานานิคม เกรงจะส่งผลให้มีการแบ่งแยกดินแดนในอนาคต โดยประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อยู่ร่วมกันมาในนาม “เผ่าไทย” จึงเป็นเหตุที่ไม่ยอมรับกับสหประชาชาติว่า มีชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย แม้รัฐไทยจะร่วมลงใน UNDRIP ก็ตาม รวมถึงในรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 ซึ่งเป็นที่มาของการจัดทำร่างกฎหมายก็ไม่มีคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” และมีการลงมติตาม กมธ.เสียงข้างมาก

และเมื่อสภาฯ พิจารณาถึงเรื่องเขตคุ้มครองวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ ในมาตรา 27 ของร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ได้มี สส.อภิปรายคัดค้านที่ กมธ.กฎหมายชาติพันธุ์ ได้ใส่เนื้อหา “ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” จนนำมาสู่การขอให้สภาฯ พักการพิจารณาและนำกลับไปแก้ไข

ภาพ : ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลฯ และผู้ร่วมริเริ่มเสนอกฎหมาย ในฐานะกรรมการพีมูฟ และกรรมการเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) บอกว่า ต้องย้อนเรื่องกฎหมายในประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายที่ดินและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้เป็นคุณประโยชน์และยังเป็นโทษลิดรอนสิทธิดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าฯ ที่อาศัยดำรงชีวิตในพื้นที่ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ด้วยวิถีที่สอดคล้องมาอย่างยาวนาน กลายเป็นเหมือนการทำลายวัฒนธรรม ใช้กฎหมายแย่งยึดถิ่นชนติดแผ่นดินมาก่อน

วิทวัส ยังมองว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีทั้งปฏิญญาฯ สนธิสัญญาระหว่างประเทศให้คุ้มครองชนเผ่าฯ รัฐธรรมนูญ 70 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ มติ ครม.แก้ไขปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 2 มิ.ย.2553 และของชาวกะเหรี่ยง 3 ส.ค. 2553 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี การจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน แต่กฎหมายที่ดิน, กฎหมายป่าไม้, กฎหมายอุทยานฯ, กฎหมายป่าชายเลน, กฎหมายเขตรักษาพันธุ์, กฎหมายเจ้าท่า, กฎหมายราชพัสดุ ธนารักษ์, กฎหมายที่ดินสาธารณะและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกฎหมายที่กำลังออก ก็ไม่สามารถเสนอให้แก้ไขให้สอดคล้องได้

“หยุดชะงักคือ ความหมายการพัก และยืดระยะการพิจารณากฎหมาย ซึ่งเพียงเพราะแค่ เนื้อหากฎหมายที่เขียนให้หยุด/ชะลอการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค ในการจัดทำพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยธรรมนูญชุมชนที่ได้ผ่านคณะกรรมการพื้นที่คุ้มครองซึ่งมีนายกฯ และกระทรวงต่าง ๆ  พิจารณา รวมทั้งยังต้องมาจากการร่วมพิจารณาและมีมติ ข้อตกลงจากทุกหน่วย หากทำผิดธรรมนูญก็ผิดกฎหมาย และนี่คือความไม่เข้าใจในที่มาที่ไป”

วิทวัส เทพสง

ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลฯ ย้ำว่า การมี “กฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” คือการสร้างความสมดุลของกฎหมาย ถ้ากฎหมายออกมาแล้วไม่สามารถบังคับใช้ได้เพราะติดกฎหมายอื่นที่มีอยู่ ก็ไม่รู้จะมีไปทำไม แต่ถ้ายังมีโอกาสปรับแก้ให้ยอมรับกันทุกฝ่ายก็ควรเดินหน้าต่อ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active