มติ 165 : 11 สว. ผ่านวาระ 1 ร่างแก้ กม.ประมง มองมุมต่าง กลุ่มหนุน – ค้าน บุกรัฐสภา

วุฒิสภา มีมติ เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง ปี 2558 ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษา 21 คน ขณะที่ เครือขายประมงพื้นบ้าน หวัง สว. ทบทวน ม.69 ปกป้องทรัพยากร ไร้การเมืองแทรกแซง ด้าน กลุ่มประมง 22 จังหวัด ขอ สว. เร่งออกร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง

วันนี้ (13 ม.ค. 68) ธนกร ถาวรชินโชติ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการประมงเพื่อพิจารณาศึกษาพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา พร้อมคณะ รับหนังสือจาก ไตรฤกษ์ มือสันทัด นายกสมาคมชาวประมงปากน้ำตะโก และกลุ่มสมาคมอวนล้อมจับปลากะตัก พร้อมชาวประมงและผู้ประกอบการ กว่า 300 คน จาก 22 จังหวัดชายทะเล เรื่อง “เสนอข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด ( พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …

ไตรฤกษ์ บอกว่า เนื่องจากการประชุมวุฒิสภาในวันนี้ จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …ทางกลุ่มสมาคมฯ สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ ดังกล่าวเพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหา และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวประมงจาก พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 และจากข่าวที่ปรากฏทำให้เกิดความสับสน พวกตนจึงต้องมาชี้แจงให้วุฒิสภาเข้าใจว่า ปลาะกะตักมีแบบไหน เพราะการได้มาของปลากะตักจะได้มาโดยเรืออวนล้อม ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์อยู่เท่านั้น และมีการตรวจสอบมาตรฐานเครื่องมือประมงอวนล้อมจับปลากะตัก ทั้งความยาว จำนวน และขนาดตาอวน ที่ไม่น้อยกว่า 0.6 มิลลิเมตร ความยาวไม่เกิน 1,000 เมตร และหลักวิธีการทำประมงเพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำตามแนวทางกฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดต่อกรณีดังกล่าว และไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว

ขณะที่ ธนกร บอกว่า จะนำเรื่องเรียนต่อประธานวุฒิสภา เพื่อประกอบการพิจารณาของที่ประชุม สว.ทั้งนี้ ขอบอกกับพี่น้องชาวประมงว่าการจะออก พ.ร.บ.ฉบับใด ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องคำนึงถึงพี่น้องทุกอาชีพ ดังนั้นไม่ต้องห่วงส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่อาจก้าวล่วง สว.ท่านอื่นได้ เพราะแต่ละคนก็มีดุลยพินิจพิจารณาของแต่ละบุคคลอยู่แล้ว แต่ยืนยันว่า จะพิจารณาด้วยความเป็นธรรมและรอบคอบที่สุด

ขณะที่ การประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นประธานในที่ประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมงปี 2558 โดย อัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมประมง เข้าร่วมประชุมชี้แจง และกล่าวว่าในร่างกฎหมายฉบับนี้มีแก้ไข 71 มาตรา 24 ประเด็น

อาทิ  เพิ่มเจตนารมย์ของกฎหมายมุ่งหมายเพื่อจัดระเบียบการประมงในประเทศไทย และน่านน้ำทั่วไปเพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำการประมงโดยผิดกฎหมาย เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะเป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน และรักษาสภาพแวดล้อมให้ดำรงอยู่อย่างเหมาะสม รวมทั้งคุ้มครองสวัสดิภาพของคนประจำเรือและป้องกันการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นให้เกิดความเหมาะสม

แก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผู้ขอรับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านด้วยการกำหนดเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ในการขออนุญาตทำประมงพื้นบ้าน, ยกเลิกบทบัญญัติที่ห้ามผู้ได้รับใบอนุญาตทำประมงพื้นบ้านทำประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง เพื่อไม่ให้เป็นการจำกัดสิทธิ์ของประมงพื้นบ้าน, แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การขออนุญาตและการขออนุญาตทำการประมงในเขตทะเลนอกเหนือน้ำไทยเป็นการส่งเสริมประมงไทยที่มีศักยภาพที่ต้องทำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการออกประกาศห้ามไม่ให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำขึ้นเรือประมง ให้การออกประกาศห้ามจับสัตว์น้ำไว้อ่อนหรือนำขึ้นเรือประมง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ, เพิ่มข้อยกเว้นให้สามารถใช้เครื่องมือควรล้อมจับที่มีช่องตาอ้วนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืนตามหลักเกณฑ์และประกาศกำหนด ที่ต้องกำหนดเรื่องใช้แสงล่อไว้ด้วย, ปรับปรุงการกระทำที่กำหนดเป็นการทำประมงฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง แยกการทำประมงนอกนั้นน้ำไทย และการประมงในน่านน้ำไทย

ปรับปรุงบทกำหนดโทษโดยลดอัตราโทษลงจากโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 30 ล้านบาท เป็นปรับสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือปรับจำนวน 5 เท่าของจำนวนมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ซึ่งผู้ที่กระทำความผิดนี้จะถูกลงโทษ 5 เท่าของมูลค่าที่ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพยากร และยังโทษปรับตามขนาดเหลือที่กระทำความผิดตามหลักสากล เป็นการลงโทษต่อ1คนไม่ใช่เรือ1ลำ,

เพิ่มบทบัญญัติให้บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงนอก น่านน้ำไทยเป็นการสิ้นผลเมื่อมีกฎหมายว่าด้วยการทำประมงนอกน่านน้ำไทยใช้บังคับ เนื่องจากการทำประมง นอกและในน้ำไทยแตกต่างกัน, ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชกำหนดสำหรับใบอนุญาตให้นำเข้าส่งออกหรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำโดยให้คิดค่าธรรมเนียมในการนำเข้าเพิ่มขึ้นตามปริมาณที่นำเข้าเพิ่ม

”ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับกฎหมายนี้ จะมีผลเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนชาวประมงผู้ประกอบอาชีพการประมงโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะการปรับปรุงบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับสภาพความร้ายแรงของการกระทำความผิด ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพการประมง และอุตสาหกรรมการประมงของประเทศฟื้นตัวอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับพันธะกรณีของประเทศ ควบคู่กับการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารต่อไป”

อัครา พรหมเผ่า

เครือข่ายประมงพื้นบ้าน หวัง ทบทวน ม.69

ส่วนบริเวณภายนอกรัฐสภา สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 22 จังหวัด, สมาคมภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน, สมาคมนักตกปลา, นักดำน้ำ รวมถึงเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม ได้ยื่นหนังสือต่อ ธวัช สุระบาล ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ที่พิจารณาร่างกฎหมายนี้ โดยนำอวนมาล้อม พร้อมเทถุงลูกปลาทู เพื่อชี้ให้เห็นว่าการใช้อวนล้อมในเวลากลางคืน จะไม่ได้จับแค่ปลากระตัก แต่คือลูกปลาทู ปลาอื่น ๆ ด้วย

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การตั้งสัดส่วน กมธ.จากทุกภายส่วนอาจไม่ทันแล้ว แต่อยากให้กมธ.ตั้งที่ปรึกษากมธ.ที่มาจาก ประมงพื้นบ้าน นักวิชาการ  องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ถือเป็นความหวังสำคัญของประเทศในการปกป้องทรัพยากรทางทะเลให้ลูกหลาน จึงหวังเห็น สว.ทำหน้าที่โดยอยู่บนหลักข้อมูลวิชาการ และประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก โดยไม่มีการเมืองแทรกแซง เพื่อทบทวนมาตรา 69 ที่จะส่งผลกระทบต่อทะเลไทย

“เราก็ต้องหวัง เพราะสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ตรากฎหมาย ถ้าไม่เป็นการเมือง ไม่มีใบสั่ง ใช้หลักฐานวิชาการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ว่า อดีตทำไมไม่อนุญาตให้ทำ และผลจับปลากะตักสูงขึ้น แต่ปลาอื่นๆทุกชนิดลดลง คือก็เห็นต่างกันได้ แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ว่า สว.จะยึดโยงผลประโยชน์คนทั้งชาติ หรือคนเฉพาะกลุ่ม”

ปิยะ เทศแย้ม

ล่าสุดที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นด้วย 165 ต่อ 11 งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนน1 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมงปี 2558 โดยตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา 21 คน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active