ครม.ไฟเขียวกฎกระทรวง กต. แก้ไขเพิ่มเติมกฎระเบียบ ลดเอกสาร ปรับถ้อยคำให้สอดคล้องสมรสเท่าเทียม
เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 68 สหประประชาชาติในประเทศไทย (United Nations Country Team in Thailand) พร้อมด้วย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จัดกิจกรรม Kick Off แสดงความพร้อมเชิงสัญลักษณ์ มอบธงแห่งความรักทั่วไทย เพื่อแสดงความพร้อมของกรมการปกครองในการให้บริการประชาชนบนหลักการความเสมอภาค และเท่าเทียม ภายใต้แนวคิด “สมรสเท่าเทียม ยินดีกับทุกความรัก 878 อำเภอ ทั่วไทย (Embracing Equality : Love Wins in 878 Districts)” รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 (กฎหมายสมรสเท่าเทียม )
อนุทิน ยืนยันความพร้อมของกระทรวงมหาดไทยในการให้บริการประชาชนตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม พร้อมมอบธงสัญลักษณ์ให้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด พร้อมย้ำว่า การร่วมเป็นพันธมิตรระหว่างกระทรวงมหาดไทย และสหประชาชาติประเทศไทย เป็นพลังที่สำคัญซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างสหประชาชาติ และรัฐบาลไทยในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนในการให้บริการสาธารณะให้กับประชาชน โดยเฉพาะในการดำเนินการตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งรับรองสิทธิในการสมรสสำหรับทุกคู่รัก ซึ่งวันนี้ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อโอบรับความเท่าเทียมและยอมรับความรักในรูปแบบที่หลากหลาย
“กระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครอง ภูมิใจที่ได้เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการนี้ในฐานะนายทะเบียนกลาง เราขอยืนยันความมุ่งมั่นของเราในการให้บริการจดทะเบียนสมรสอย่างราบรื่น และถูกต้องตามกฎหมายสำหรับทุกคู่รัก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในระเบียบและระบบที่ให้คุณค่าแก่ความหลากหลายและเคารพศักดิ์ศรีของประชาชน”
อนุทิน ชาญวีรกูล
ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง บอกว่า กรมการปกครองในฐานะนายทะเบียนกลาง ได้เตรียมความพร้อมให้กับสำนักทะเบียนอำเภอ 878 แห่ง สำนักทะเบียนเขต กทม. 50 เขต และสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลไทยในต่างประเทศ 94 แห่ง เพื่อสอดคล้องกับ พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 23 ม.ค. 68 รวม 4 ด้าน คือ
- ด้านระเบียบ โดยได้ร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2568 เพื่อรองรับการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศหลากหลาย ทำให้คู่รักสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกัน และเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลทั้งสองฝ่าย
- ด้านระบบ โดยได้มีการแก้ไขระบบทะเบียนสมรสและทะเบียนหย่า และมีการทดสอบระบบเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งจัดเตรียมผลิตแบบพิมพ์ ใบสำคัญการสมรส (คร.3) และใบสำคัญการหย่า (คร.7) เพื่อรองรับการให้บริการที่เพิ่มสูงขึ้น
- ด้านบุคลากร โดยได้จัดทำชุดความรู้และอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทะเบียนใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด การปรับกรอบความคิดในการให้บริการประชาชน และการบริการที่เป็นสากลบนหลักความเสมอภาคและเท่าเทียม คำนึงถึงมารยาทสากลและหลักสิทธิมนุษยชน
- ด้านการจัดกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรม Kick Off ในวันนี้ และกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่จะจัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ณ ที่ว่าการอำเภอ ทั้ง 878 แห่ง ในวันที่ 23 ม.ค. 68 ซึ่งเป็นวันแรกที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ เพื่อเฉลิมฉลองให้กับทุกความรักตามแนวคิด “กรมการปกครองยินดีเป็นนายทะเบียนให้กับทุกความรัก”
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง โทร 1548 หรือที่ว่าการอำเภอ และสำนักงานเขต ทุกแห่งทั่วประเทศ
ขณะที่ ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการต่างประเทศ ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพุทธศักราช 2478 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการต่างประเทศออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพุทธศักราช 2478 ดังนี้
- ปรับปรุงแบบคำร้องของขอจดทะเบียน จากเดิมคำร้อง 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1) คำร้องขอจดทะเบียนสมรส 2) คำร้องขอจดทะเบียนการหย่า 3) คำร้องขอจดทะเบียนการรับรองบุตร 4) คำร้องขอจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม และ 5) คำร้องขอจดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรม) ให้รวมเป็นคำร้องขอจดทะเบียนเพียงฉบับเดียว
- ปรับปรุงถ้อยคำในแบบคำร้องเป็นไม่ระบุเพศ เพื่อรองรับให้บุคคลเพศหลากหลายสามารถหมั้นและสมรสกันได้ มีสิทธิหน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายหญิง เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567
- ปรับปรุงวิธีการจดทะเบียนของนายทะเบียนประจำสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศ โดยกำหนดให้นายทะเบียนส่งข้อมูลการจดทะเบียนและการบันทึกข้อมูลให้สำนักทะเบียนกลางผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์เพื่อจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลการทะเบียน
- ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมการขอคัดสำเนาทะเบียนให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน โดยกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการขอคัดสำเนาทะเบียนและมีการรับรองสำเนาทะเบียน ฉบับละ 300 บาท (เดิม ฉบับละ 2 บาท) และการขอทราบข้อมูลจากทะเบียนของสำนักทะเบียนกลาง รายละ 300 บาท (เดิม รายละ 4 บาท) ทั้งนี้ ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงิน