จับตา! โหวตต่อ วาระ 2 ‘กม.ชาติพันธุ์’ 15 ม.ค.นี้

ถกต่อ ม.27 พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หัวใจสำคัญร่างกฎหมาย ขณะที่ กมธ. หวัง สส.โหวตผ่านร่าง เดินหน้าคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะชุมชนดั้งเดิม ส่วนร่วมดูแลอนุรักษ์ จัดการทรัพยากร เพิ่มขีดความสามารถ พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยทุนวัฒนธรรมที่หลากหลาย

วันนี้ (14 ม.ค. 68) กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ได้ประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนมาตราสำคัญในร่างกฎหมาย ก่อนจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฏรเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระ 2 ต่อจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งวันพรุ่งนี้ (15 ม.ค. 68) จะพิจารณาสาระสำคัญของกฎหมาย หมวด 5 เริ่มที่มาตรา 27 พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ศักดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ คาดหวังว่า สส.จะเข้าใจและเห็นความสำคัญต่อการมีกฎหมายที่มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดการพื้นที่คุ้มครองที่ได้รับการปฏิบัติได้จริง และมีความสอดรับกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์จริง ๆ ก็เป็นการบัญญัติในบทบัญญัตินี้ขึ้นมา แต่ว่า เรื่องของภาษาทางกฎหมายที่ผ่านมา อาจจะมีความไม่เข้าใจ หรือว่าอาจจะทำให้ความเข้าใจที่ไปเชื่อมกฎหมายอื่น อาจมีความขัดแย้งกันได้ แต่ในที่สุดที่ประชุมกรรมาธิการฯ ก็ได้มาพิจารณาปรับปรุง ไปสู่การนำเสนอชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนรษฎรในวันที่ 15 ม.ค.นี้อีกครั้ง และจะเป็นตัวช่วยอธิบายถึงเรื่องสาระสำคัญบทบัญญัติต่าง ๆ

“ก็จะทำให้เห็นว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติได้ เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาติพันธุ์ที่จะมีการจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตตนเอง โดยมีหน่วยงานรัฐ และตัวกฎหมายนี้ เป็นตัวสนับสนุนการปฏิบัติจริง และจะไม่เป็นการขัดแย้งกับกฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถนำศักยภาพ ทุนทางวิถีวัฒนธรรม สู่ส่วนร่วมการพัฒนาประเทศ”

ศักดา แสนมี่

สาระสำคัญพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ทั้งนี้ การจัดตั้งเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กําหนดไว้ในหมวด 5 พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยกําหนดหลักการและแนวปฏิบัติในการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีหลักการดังนี้

ประการ 1 ให้สิทธิชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะชุมชนดั้งเดิมมีส่วนร่วมบริหารจัดการพื้นที่ให้ สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะบุคคล แต่เป็นการให้สิทธิแบบส่วนร่วม หรือ สิทธิหน้าหมู่ที่ทุกคนต้องร่วมกันจัดการและใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน ไม่สามารถจําหน่ายจ่ายโอนได้ ดังนั้นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถจัดตั้งเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตต้องเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีหลักฐานยืนยัน และพิสูจน์ได้ว่าอยู่ในพื้นที่นี้มาก่อนที่จะมีการประกาศเป็นพื้นที่ของรัฐในรูปแบบต่างๆ จึงเป็นแนวทางเยียวยากลุ่มชาติพันธ์ุที่ประสบปัญหาขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยที่ทํากนิและพื้นที่ทางวัฒนธรรม

ประการที่ 2 การกําหนดเขตพื้นที่วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่การเพิกถอนพื้นที่ของรัฐที่ประกาศมาแล้วก่อนหน้า เช่น อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นต้น แต่เป็นเพียงการให้หลักประกันว่าชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ดังกล่าว จะได้รับการคุ้มครองสิทธิให้มีส่วนร่วมบริหารจัดการพื้นที่ และสามารถอยู่ร่วมในพื้นที่ดังกล่าวได้ตามวิถีวัฒนธรรม ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์จะเป็นแนวร่วมในการดูแลพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้เกิด ความสมดุลและยั่งยืน

ประการที่ 3 การกําหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องเกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลง ที่ทําร่วมกันระหว่างชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยต้องเป็นไปโดยความสมัครใจของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ และต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ทําข้อมูลชุมชน และสํารวจขอบเขตพื้นที่ พร้อมจัดทําแผน บริหารจัดการพื้นที่ เสนอให้คณะกรรมการพิจารณประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงเป็นกระบวนการแบบมีส่วนร่วมนําไปสู่การทํางานร่วมกันระหว่างชุมชนกลุ่มชาติพันธ์ุกับเจ้าหน้าที่

ศักดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

แม้โหวตตัด ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ แต่มองเป็นโอกาสสร้างความเข้าใจ ยอมรับตัวตน

ศักดา ยังย้ำว่า แม้ประเด็นเรื่อง ชนเผ่าพื้นเมือง จะถูกตีตกไปจากบทนิยามกฎหมายนี้ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะเป็นโอกาสให้มีการสื่อสารสร้างความเข้าใจ ทั้งในสภาผู้แทนราษฏร รวมไปถึงสาธารณชนมากขึ้นและเกิดการยอมรับในอนาคต

“แม้ในกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ แต่จะนำไปสู่เรื่องการสร้างความเข้าใจกับสังคมที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างน้อยในกฎหมายนี้ ในนิยามชาติพันธุ์ ก็จะหมายถึงเราชนเผ่าพื้นเมืองอยู่แล้ โดยเนื้อหาใจความแม้ไม่ได้ระบุคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง แต่เราหวังว่ากฎหมายนี้จะโอบรับตัวตนนี้มาอยู่ในสาระบบของกฎหมายด้วย อันนี้ก็จะเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำการสื่อสารกับสังคมต่อเนื่อง คงจะมีเวที มีพื้นที่ ที่จะได้สื่อสารกับทางสังคม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราจะทำต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะในบทบาทของสภาชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้เห็นตัวตนของเรา นำไปสู่การดำรงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยต่อเนื่องต่อไป”

ผ่านแล้วกลไก ‘สภาคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์’
ย้ำจับตาการปฏิบัติสู่รูปธรรม

เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ยังระบุถึง กลไกสำคัญในร่างกฎหมาย อย่าง สภาคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ในการพิจารณาสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ก็จะมีผลในทางปฏิบัติ ว่า กลไกนี้จะทำยังไงให้ยังดำรงเจตนารมณ์เพื่อจะเปิดเป็นพื้นที่ ที่จะให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ สามารถที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนา รวมไปถึงเรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหาของตนเอง โดยใช้พื้นที่ของความเป็นสภาฯ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญจะมีมากกว่าความเป็นเวที ซึ่งในสภาฯ นี้จะมีทั้งกลไกการเป็นสมาชิก มีคณะกรรมการ กลไกที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

“แม้ที่ประชุมได้มีการให้ความเห็นชอบต่อมาตราที่เกี่ยวข้องว่าด้วยสภาฯ ไปแล้ว แต่เราอยากให้ในทางปฏิบัติ กฎหมายนี้มีการสนับสนุนแนวทางเจตนารมย์ที่ก่อเกิดการมีสภานี้อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง”

ศักดา แสนมี่


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active