‘กม.ชาติพันธุ์’ จบไม่ลง! สภาฯ เลื่อนพิจารณอีก 2 – 3 สัปดาห์

หวั่น ม.27 พื้นที่คุ้มครองชาติพันธุ์ กระทบกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ขอ กมธ.กลับไปทบทวนให้เหมาะสม  

วันนี้ (15 ม.ค. 68) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ คือ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้เห็นชอบหลายมาตราสำคัญมาแล้วก่อนหน้านี้ เช่น กลไกสภาคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งการเสนอตัดคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ออกจากนิยามคำว่าชาติพันธุ์ ซึ่งกลายเป็นข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไปแล้ว ขณะที่วันนี้ที่ประชุมสภาฯ จะพิจารณากันต่อ ในมาตรา 27 เรื่องสำคัญในประเด็น “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์”

ทั้งนี้เมื่อเข้าวาระการพิจารณา ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติให้เลื่อนการพิจารณา ซึ่งวิปรัฐบาลเห็นตรงกันให้เลื่อนการพิจารณาออกไป 2-3 สัปดาห์ โดยเหตุผลที่ต้องเสนอเลื่อนญัตตินี้ออกไปก่อน เพราะว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่ค้างการพิจารณาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  มีเนื้อหาสาระในบางส่วน ที่เพื่อนสมาชิกหลายคนมีความกังวล ว่าอาจจะไม่เหมาะสมหรือไม่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ พรรครัฐบาลได้มีการประชุมในพรรคของตนเอง  ซึ่งแต่ละพรรคมีข้อกังวลใจเรื่องนี้  จึงอยากให้ทางกรรมาธิการ ได้มีโอกาสนำกลับไปทบทวนเพื่อปรับปรุงร่างให้มีความชัดเจนก่อน เพื่อนำกลับมาพิจารณาต่อให้ราบรื่น

“เพราะอย่างที่แจ้ง เพื่อนสมาชิกทุก ๆ ท่าน และทุก ๆ พรรคมีเจตนารมณ์ชัดเจน ว่า อยากให้กฎหมายนี้ผ่านด้วยความเรียบร้อย และสามารถบังคับได้จริง ไม่อยากให้ผลีผลามไปโดยที่ไม่มีความรัดกุม แล้วก็มีความกังวลว่า ถ้ากฎหมายผ่านไปจะบังคับใช้ไม่ได้ อาจไม่เป็นประโยชน์กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ หรือพี่น้องในประเทศไทย ก็ขอความเห็นใจ ความร่วมมือ และความเห็นจากทางวิปฝ่ายค้านด้วย ถ้าเห็นพ้องในทางเดียวกัน ขอเวลาให้ทางกรรมาธิการฯ ได้ทบทวนซักเล็กน้อย 2-3 สัปดาห์ แล้วค่อยกลับมาพิจารณาต่อจากที่ค้างอยู่”

ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ

ด้าน มานพ คีรีถูวดล สส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคประชาชน กล่าวว่า ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ได้ร่วมกับพรรคการเมืองทุกพรรค ภาคประชาชน โดยสัปดาห์ที่แล้ว ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกต ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสมาชิกอาวุโส และนักกฎหมายที่มีประสบการณ์ในสภาฯ แห่งนี้ ว่ามีความเห็นอย่างไร ทำให้กฎหมายมันมีความรู้สึกที่ไม่แข็งเกินไป อันนี้จึงเป็นประเด็นที่เราราใช้เวลาพอสมควร แล้วหลังจากประชุมเสร็จ ก็ลงไปปรึกษาหารือกับผู้อาวุโสหลาย ๆ ท่าน แล้วเมื่อวานนี้ (14 ม.ค. 68) ที่ประชุมกรรมาธิการฯ ได้ประชุมกัน และปรับแก้ข้อความเนื้อหาต่าง ๆ ตามที่เพื่อนสมาชิกในสภาฯ ได้แนะนำเกือบทุกประเด็น จึงเป็นประเด็นที่อยากสื่อสารกับท่านประธานฯ ไม่ใช่เป็นเรื่องการทบทวน แต่คิดว่ากรรมาธิการฯ ได้ทำหน้าที่ตามข้อทบทวน ข้อคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎรไปเรียบร้อย

“หลายท่านที่อภิปรายผมคิดว่าเนื้อหาต่าง ๆ ที่ท่านได้เสนอ เรากรรมาธิการฯ ทั้งหมด ทั้ง กฤษฎีกา ฝ่ายเลขาสภาฯ จริง ๆ แล้วเราน่าจะพร้อม แต่ถ้าเป็นประเด็นของการเลื่อนครั้งนี้ เพื่อเป็นการทำความเข้าใจแต่ละพรรค อันนี้ก็พอรับฟังได้ แต่อยากทราบว่า เราจะใช้เวลากี่วันกี่สัปดาห์ ผมในนามกรรมาธิการฯ ผู้แทนที่มาจากชาติพันธุ์ จะได้ตอบพี่น้องประชาชนได้ว่า เหตุผลสำคัญที่ขอเลือนออกไป และคำตอบที่จะกลับมาในการพูดคุยอีกครั้งหนึ่งเป็นอย่างไร”

มานพ คีรีถูวดล

เช่นเดียวกับ เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคประชาชน กล่าวว่า การเลื่อนออกไป 3 สัปดาห์นั้นนานเกินไป เพราะการถกเถียงเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว นอกจากถกเถียงเชิงประเด็น ยังได้ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงจริง ๆ แล้วในการประชุมกรรมาธิการฯ ซึ่งได้แก้ไขตามคำแนะนำข้อเสนอตามที่เพื่อสสมาชิกได้มีการอภิปรายไปแล้ว ที่ประชุมกรรมาธิการฯ ได้สรุปร่วมกันไปแล้ว จึงไม่มีประเด็นที่ต้องดำเนินการแก้ไขอีกใด ๆ อีก และในเรื่องการทบทวน คิดว่าไม่มีประเด็นที่ต้องทบทวนอีกแล้ว ดังนั้นแค่ 2 สัปดาห์ ก็เพียงพอแล้ว

ส่วนประเด็นที่ตนอยากหารือ คือในอาทิตย์ที่แล้ว เพื่อนสมาชิกได้ท้วงติง 2-3 ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้มีการเสนอเลื่อนออกไป จึงอยากชี้แจงว่า ประเด็นที่มีการตั้งมา เรื่องของการระบุว่า เขียนวกวน สับสน อ่านไม่เข้าใจ เรื่องขัดรัฐธรรมนูญก็เป็นประเด็นถกเถียงหลัก เรื่องนี้จึงอยากย้ำว่า ได้มีการไปศึกษารายละเอียดอย่างต่อเนื่อง ว่า กฎหมายฉบับนื้ ร่างฉบับหลัก คือฉบับของ ครม. ซึ่งผ่านการตรวจสอบของกฤษฏีกา

“กฤษฎีกาก็อยู่ในที่ประชุมด้วย ผ่านการตรวจสอบคัดกรองอย่างละเอียด เพราะฉะนั้นไม่มีประเด็นเรื่องของการขัดรัฐธรรมนูญ สาระสำคัญก็คือ เป็นเรื่องการสร้างโอกาส ให้กลุ่มคนด้อยโอกาส เปราะบาง ได้มีสิทธิเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ หลักการเขียนไว้ในมาตรา 27 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บอกว่า ประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน หากแต่ในทางปฏิบัติ คนด้อยโอกาสกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้ มันจึงมีวรรค 3 ในมาตรา 27 เขียนเอาไว้ว่า หากรัฐจะมีมาตรการใดที่สนับสนุนให้กลุ่มด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ สิ่งหล่านี้ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ จึงไม่ใช่การขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด”

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

ทั้งนี้หนึ่งในประเด็นสำคัญที่เป็นความท้าทาย และเป็นผลทำให้เกิดการเสนอเลื่อนวาระการพิจารณาออกไป คือหมวด 5 มาตรา 27 เรื่อง พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วน แสดงความกังวลเกี่ยวกับถ้อยคำ หรือข้อความในมาตรา 27 ที่กังวลว่าจะไปกระทบกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้กรรมาธิการฯ ไปพิจารณาทบทวนปรับถ้อยคำที่แข็งเกินไปอีกครั้ง ก่อนนำมาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ ก่อนถูกเลื่อนไปในที่สุด

ขณะที่ผู้แทนกรรมาธิการฯ เปิดเผยกับ The Active ว่า ยังคงยืนยันสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ ไม่ได้ไปกระทบหน่วยงาน หรือกฎหมายอื่น และมีสาระและหลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ

  1. ให้สิทธิชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะชุมชนดั้งเดิม มีส่วนร่วมบริหารจัดการพื้นที่ให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม โดยเป็นกรรมสิทธิ์แบบส่วนร่วม

  2. การกําหนดเขตพื้นที่วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่การเพิกถอนพื้นที่ของรัฐ ที่ประกาศมาแล้วก่อนหน้า แต่เป็นเพียงการให้ หลักประกันว่าชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ดังกล่าว จะได้รับการคุ้มครองสิทธิให้มีส่วนร่วมบริหารจัดการพื้นที่ ดูแลทรัพยากรอย่างยั่งยืน

  3. การกําหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต้องเกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลง ที่ทําร่วมกันระหว่างชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา ประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ทั้งนี้การเข้าถึงสิทธิ การมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งการดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย เป็นต้นทุนสำคัญต่อส่วนร่วมการพัฒนาประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active