หวังคืนความเป็นธรรม เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ พร้อมเป็นก้าวใหม่ ทบทวน เปลี่ยนแปลง แนวทางการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม เดินหน้าล่ารายชื่อประชาชนเสนอกฎหมาย
เมื่อวันที่ 27 ม.ค.68 ขบวนการประขาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวทีรณรงค์สาธารณะเชิญชวนเสนอกฎหมาย “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ด้านที่ดินและป่าไม้ พ.ศ. …” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ทั้งนี้ได้มีการตั้งโต๊ะเพื่อลงชื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว โดยประชาชนที่มาร่วมงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากคดีป่าไม้-ที่ดิน ทยอยลงชื่อต่อเนื่อง
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดนำหัวข้อ “กฎหมายนิรโทษกรรมกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย” ว่า กฎหมายที่ภาคประชาชนกำลังผลักดันกันอยู่ตอนนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและกระทบกับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งหากทำสำเร็จจะช่วยประชาชนได้หลายล้านคน
ทั้งนี้ปัญหาเกิดจากการขีดเส้นประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ดาวเทียมขีด รัฐไม่ได้สนใจว่ามีประชาชนอยู่มาก่อนหรือไม่ พอทำเช่นนั้นประกาศเสร็จ ประชาชนจึงกลายเป็นผู้บุกรุกอุทยาน ทั้งที่กฎหมายเป็นผู้บุกรุกประชาชน
แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีในปี 2541 บอกว่า ถ้าชาวบ้านอยู่มาก่อนต้องไม่จับกุม แต่ผ่านมา 20 กว่าปี การทำแนวเขตให้ชัดว่าตรงไหนประชาชนอยู่มาก่อน ก็ไม่ทำสักที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีประชาธิปไตย ก็เกิดการปฏิบัติที่ใช้อำนาจเข้าจัดการ ไม่เกิดการฟังเสียงของประชาชน ฟังแต่เสียงของคนที่อยู่ใกล้อำนาจ คือ ข้าราชการระดับสูง และนายทุน เจ้าสัว จึงเกิดปัญหากับประชาชน
ทั้งนี้มองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่ดี ที่ประชาชนจะเสนอกฎหมายเข้าไป แต่จะสำเร็จได้คือต้องทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะยังมีอคติ บอกว่า ชาวบ้านบุกรุกป่าจะพ้นผิดกันหมด และจะเกิดการบุกรุกอีกใหญ่โต
“ต้องพูดให้ชัดว่า เราแก้ปัญหาป่าบุกรุกคน อุทยานบุกรุกคน ตรงไหนป่าบุกรุกคน นิรโทษกรรมให้หมด และแน่นอนว่าสิทธิต้องตกทอดสู่ลูกหลานของเขาด้วย แต่คนที่มาซื้อต่อ จะเป็นข้อละเอียดอ่อนว่าจะครอบคลุมหรือไม่ เช่นซื้อต่อไปทำรีสอร์ท อาจจะไม่สามารถครอบคลุมได้”
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
ทั้งนี้ แม้รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยไม่ใช่ผู้ผิด หากยังไม่มีคำพิพากษา ปฏิบัติต่อผู้นั้นเสมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ แต่ในคุกของเรา ตัวเลขเมื่อเดือนมกราคม 2568 มีผู้ติดคุกอยู่ 7.4 หมื่นคน ถามว่าท่านให้เขาติดคุกได้อย่างไร และมีคนจำนวนมากในนั้นที่ศาลให้ประกันตัว แต่ตั้งวงประกันไว้สูงมาก จนไม่สามารถประกันตัวได้ ประมาณครึ่งหนึ่ง แล้วใครที่ไม่มีเงินประกันตัว ก็คนจนไง นี่คือปัญหาในทางปฏิบัติ อีกอันหนึ่ง
“คุก ทำไมมีคนจนอยู่มาก ก็เพราะมีการปฏิบัติแบบนี้ ทำไมเราต้องมารวมตัวเรียกร้อง ก็เพราะสังคมไทยไม่เป็นธรรมมีการเลือกปฏิบัติ เราต้องออกมาส่งเสียง และคิดว่าสังคมควรสนับสนุน เพราะนี่คือการแก้ปัญหา ไม่ได้นิรโทษกรรมให้คนบุกรุกป่าและอุทยานฯ แต่เรานิรโทษกรรมให้คนที่ถูกอุทยานฯและป่าบุกรุก เพราะอุทยานฯและป่ามาทีหลังการอยู่ของเรา”
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
ศ.กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของประเทศไทยมีการบริหารงานโดย กรมมาธิปไตย คือ ถ้าเราจะแก้กฎหมายโดยกระทรวงยุติธรรม อีกกระทรวงหนึ่งที่บอกดูแลด้านสิ่งแวดล้อมก็บอกว่าอย่ามายุ่ง ประเทศไทยจึงไม่ได้บริหารงานโดยนโยบายที่เห็นความทุกข์ร่วม แต่บริหารโดยกรม
“คือโครงสร้างรัฐราชการ ยังไม่ได้บริหารงานโดยยึดความทุกข์ร่วมของประชาชน การเมืองยังเน้นไปเรื่องที่เป็นข่าวเท่านั้น เรื่องทุกข์ของประชาชนอยู่ไหนไม่รู้ ความยุติธรรมที่ต้องการเยียวยาน้อยมาก และที่สำคัญคือโอกาสของประชาชนที่มีส่วนสำคัญในการดูแลสภาพแวดล้อมที่ความหลากหลาย กลายเป็นไม่สนใจแต่กลับไปแก้ปัญหามุ่งเป้าสถิติจำนวนป่าที่เพิ่มขึ้น ไม่แก้ปัญหาเพื่อเอาความทุกร่วมมาเป็นเป้าหมาย ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับนโยบายที่เห็นความทุกข์ร่วมของประชาชน”
ศ.กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว
ก.ยุติธรรม ยัน ดันร่างฉบับรัฐบาล
นิรโทษกรรม คืนความเป็นธรรม ล้างมลทินให้ประชาชน
พ.ต.ท. ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในฐานะผู้แทน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บอกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยที่ยังทำหน้าที่ฝ่ายค้านมาก่อนได้ทำวิจัยขึ้นมา และคิดว่าควรมีอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน จึงเกิดเป็นการยกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเกิดขึ้น เกิดจากแนวคิดที่ว่าชาวบ้านที่อยู่มาก่อนจะกลายเป็นผู้บุกรุกได้อย่างไร วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็เคยกล่าวว่า การออกกฎหมายต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชน อย่าให้เป็นโทษต่อประชาชน ตนจึงกลับมายกตัวอย่างเรื่องประมวลกฎหมายที่ดิน ที่กลายเป็นโทษแก่ผู้ที่ไม่ได้ไปแจ้งการครอบครองหรือกฎหมายป่าสงวนก็ตาม กลายเป็นโทษแก่ผู้ไม่ได้ไปคัดค้าน จึงไม่ควรออกกฎหมายลักษณะนี้ ท่านวันนอร์ จึงสนับสนุนแนวคิดของกระทรวงที่จะผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม
“ภาคประชาชนได้เสนอว่าควรมีการนิรโทษกรรมหลังคำสั่ง คสช. เมื่อปี 2557 แต่ผมและท่านรัฐมนตรีมองว่าควรนิรโทษกรรมไปถึง 2497 ผมเลยยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาใหม่ด้วยระยะเวลา 2497 ถึงวันที่ พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ ต่อมาคือกลุ่มเป้าหมาย เรามองว่า คนที่อยู่มาก่อนควรได้รับการนิรโทษกรรม และควรได้สิทธิในที่ดินคืนด้วยไม่ว่าเขาจะครอบครองเนื้อที่เท่าไรก็ตาม หากสามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งไม่ได้พิสูจน์ยาก เพียงใช้ภาพถ่ายทางอากาศในอดีต ก็สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้ประโยชน์มาก่อนหรือไม่ ให้คืนสิทธิในที่ดินให้เขาด้วย”
และสุดท้ายคือการล้างมลทิน ต้องทำไปในคราวเดียวกัน เพื่อไม่ให้มีประวัติติดตัว บุคคลที่เข้ามาครอบครองที่ดินนั้นไม่ใช่อาชญากรร้ายแรง ไม่ใช่เป็นการฆ่าคนตาย ไปทำงานอะไรก็ติดขัดไปหมด มีประวัติอาชญากร จึงต้องล้างมลทินไปด้วย นอกจากนั้น มีภาคประชาชนร้องขอมา คือกลุ่มที่มาทีหลังการประกาศเขตป่าสงวนฯ หรืออุทยานฯ เป็นกลุ่มที่ยาก อยากให้มีการใส่เข้าไปในกฎหมายฉบับนี้ด้วย อาจด้วยความจำเป็นในชีวิตอื่นๆ เราเลยใส่ไว้ให้ด้วย แต่กลุ่มนี้อาจมีการจำกัดจำนวนที่ดินที่เขาถือครอง เพื่อไม่ให้ไปครอบคลุมถึงนายทุน จะเป็นตัวเลข 25 ไร่ ซึ่งผมคิดว่ากลุ่มนี้จะเจอปัญหาเยอะ ตอนนี้คิดว่าหน่วยงานเจ้าของพื้นที่กำลังคัดค้านทั้งฉบับ
หวังล้างมลทิน คืนสิทธิที่ดินให้ประชาชน
ขณะที่ วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อม (แสงเดือน ตินยอด) ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทวงคืนผืนป่า ย้ำเหตุผลที่ต้องยืนหยัดต่อสู้ เพราะคดีความที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อตนและครอบครัวพังอยู่คนละทิศละทาง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีต่อเนื่องเป็นเงินหลักล้านบาท
“ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับตนแค่คนเดียว แต่ยังมีคนอื่น ๆ ที่เจอปัญหาเหมือนกัน คิดว่าเราต้องเข้มแข็ง เราต้องยืนหยัดเราเชื่อมั่นว่าเราไม่ผิด เราก็เดินหน้าสู้ต่อ กว่าจะคลี่คลายมาได้ขนาดนี้ เราก็เสียอะไรไปเยอะ ครอบครัวอยู่คนละที่ละทาง แต่เราก็ยังมีความหวัง เรายังเชื่อว่าชีวิตมีเท่านี้ เราก็ต้องสู้ต่อไป เอาทุกทาง เพราะเราไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ความยุติธรรมมันยาก มันยากมาก แต่เราต้องลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเราเอง จนกว่าเราจะได้ความยุติธรรม”
ทั้งนี้ แม้คดีจะถึงที่สิ้นสุดแล้ว แต่ผู้ถูกดำเนินคดีจะยังมีประวัติคดีติดตัว เหมือนเรามีมลทิน เหมือนเราเป็นคนผิด ทั้งๆที่เราไม่ได้ผิด กฎหมายสำคัญจึงต้องล้างมลทินให้ด้วย
สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความและผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น บอกว่า คดีป่าไม้ที่ดินมีเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นคดีแห้ง คือ การยึดที่ดิน การไม่สามารถเข้าไปทำกินได้ เพราะฉะนั้น มิติคดีป่าไม้ที่ดินมองแค่ว่าการมีคนถูกจับ ขึ้นศาล ถูกคดี เท่านี้ไม่พอ ต้องมองในมิติที่ไม่สามารถกลับเข้าไปทำกินไม่ได้แล้ว กว่า 800,000 ไร่จากนโยบายทวงคืนผืนป่านโยบายเดียวด้วย
“ต้นทุนชีวิตที่ประชาชนเสียไป และนับเป็นเงินไม่ได้อีกมหาศาล สิ่งเหล่านี้ใครจะชดใช้ ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไม่มีที่ดิน กลายเป็นว่าคนชนชั้นนำเพียง 20% กำลังถือครองที่ดินถึง 80% ของประเทศ เพราะฉะนั้น การนิรโทษกรรมจะมีคนได้ผลประโยชน์มาก เพราะคนส่วนใหญ่กำลังใช้ประโยชน์บนที่ดินของรัฐไม่ว่าจะประเภทใดก็ตาม”
สุมิตรชัย หัตถสาร
ในมุมมองทนายความที่ทำคดีมาหลายคดี มองว่า จะเป็นการเยียวยาคนที่ถูกกระทำ ถูกดำเนินคดีไปแล้วเหมือนเป็นการปลดปล่อยจากมลทิน จากความทุกข์ และทำให้เขาลุกขึ้นยืนได้เต็มร้อยในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ส่วนเรื่องการเยียวยาชดเชยจากรัฐต้องผลักดันกันต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีได้
สำหรับแถลงการณ์ของพีมูฟ เพื่อร่วมขับเคลื่อนกฎหมายนิรโทษกรรมคดีป่าไม้ที่ดิน คืนเป็นธรรมให้คนยากจนทั้งประเทศ ระบุว่า
“เราขอยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเจตจำนงที่จะนํามาซึ่งการคืนความเป็นธรรมให้คนยากจน คนไร้ที่ดินที่ทำกินที่ถูกกดทับโดยกฎหมายไม่น้อยกว่า 10 ล้านครอบครัว ภายใต้กลไกกระบวนการทางนิติบัญญัติของรัฐสภา โดยกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น บัดนี้ เราขอประกาศเชิญชวนพี่น้องคนจน ผู้ยากไร้คนไร้ที่ดิน ผู้ได้รับผลกระทบหรือเสียหายจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้านป่าไม้ที่ดิน และผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทุกท่าน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมายและขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ ให้มีผลบังคับใช้จนถึงที่สุด”
โดยล่าสุดมีผู้ลงรายชื่อแล้วกว่า 4,000 คน ตั้งเป้ารวบรวมให้ครบ 10,000 รายชื่อเพื่อยื่นชื่อเสนอกฎหมายนี้ต่อไป