หวั่นหากศาลไม่ให้ประกันตัว ‘พิรงรอง’ หลุดกรรมการ กสทช. ทันที วงการสื่อร่วมลงชื่อหนุน ย้ำบทบาท กสทช. ปกป้องสิทธิประชาชน
วันนี้ (4 ก.พ. 68) เครือข่ายนักวิชาการ สื่อชุมชน กลุ่มผู้บริโภค และกลุ่มเพื่อนพิรงรอง ได้ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนและให้กำลังใจ ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ก่อนที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะมีการอ่านคำพิพากษาในคดีดำหมายเลข 147/2566 ในวันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568
‘ทรูไอดี’ ยื่นฟ้อง ‘พิรงรอง’ ปมออกหนังสือเตือน
หากศาลไม่ให้ประกันตัว หลุดบอร์ด กสทช. ทันที
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดอ่านคำพิพากษาคดีของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ตามที่ บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ยื่นฟ้องกรณี กสทช. ออกหนังสือเตือนเกี่ยวกับการแทรกโฆษณาในสัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัลบนแพลตฟอร์มทรูไอดี ซึ่งอาจขัดต่อกฎ Must Carry
คดีนี้เริ่มจากข้อร้องเรียนของผู้บริโภค ที่พบว่า แอปพลิเคชันทรูไอดีมีโฆษณาคั่นในช่องโทรทัศน์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ทำให้สำนักงาน กสทช. ออกหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลให้ตรวจสอบการออกอากาศและปฏิบัติตามประกาศ Must Carry อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ทรูดิจิทัลฯ มองว่า การออกหนังสือและคำสั่งของ กสทช. ทำให้เกิดความเสียหาย และอาจส่งผลให้ช่องรายการโทรทัศน์ระงับการเผยแพร่ผ่านบริการของตน

โดย ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ยืนยันว่า การออกหนังสือดังกล่าวเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และรักษาความเป็นธรรมของผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบการรายใด ทั้งยังชี้ว่า หนังสือดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง จึงไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายโดยตรง
นอกจากนี้ การดำเนินงานของ กสทช. มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากปัญหาการแทรกโฆษณาในช่องรายการโทรทัศน์ที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต ซึ่งได้รับการร้องเรียนเข้ามายังคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. นอกจากนี้ยังเป็นการคุ้มครองลิขสิทธิ์เนื้อหาของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัล เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม
ทั้งนี้ หากศาลตัดสินว่ามีความผิดและไม่ให้ประกันตัวแม้เพียงวันเดียว ศ.กิตติคุณ พิรงรอง จะพ้นจากตำแหน่ง กสทช. ทันที เนื่องจากขัดต่อคุณสมบัติตามกฎหมาย ขณะที่ก่อนหน้านี้ ทรูดิจิทัลฯ เคยยื่นคำร้องให้ศาลสั่งให้ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว แต่ศาลได้ยกคำร้องดังกล่าวไปแล้ว
วงการสื่อร่วม #saveพิรงรอง
คณบดีนิเทศฯ จุฬาฯ ย้ำบทบาท กสทช. ปกป้องสิทธิประชาชน
นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ได้ผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและผู้ผลิตสื่อ รวมถึงการส่งเสริมการผลิตรายการที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะรายการสำหรับเด็ก รายการที่ส่งเสริมเอกลักษณ์ท้องถิ่น และเนื้อหาที่มีศักยภาพแข่งขันในระดับนานาชาติ อีกทั้งยังสนับสนุนมาตรการคงอยู่ของสื่อท้องถิ่นและสื่อชุมชน พร้อมผลักดันให้เกิดกลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนตามหลักจริยธรรม
ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายนักวิชาการ สื่อชุมชน และกลุ่มผู้บริโภค จึงร่วมแสดงความห่วงใยและให้กำลังใจ และร่วมติด #saveพิรงรอง ในการปฏิบัติหน้าที่ กสทช. จนครบวาระ และหวังว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศจะให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและสาธารณชน
รศ.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาแสดงความเห็นถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า การใช้คดีอาญาและคดีแพ่งเป็น “ท่าไม้ตาย” ของทุนใหญ่ เพื่อข่มขู่และเล่นงานผู้ที่พยายามต่อต้านการครอบงำของทุน พร้อมย้ำว่า นักวิชาการมีหน้าที่ให้แสงสว่างแก่สังคม นักสื่อสารมวลชนต้องปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม ขณะที่ผู้กำกับดูแลนโยบายสื่อต้องดำรงตนอย่างอิสระเพื่อพิทักษ์สิทธิของประชาชน
“ท่าไม้ตายของทุนใหญ่ในการจัดการกับผู้พยายามขัดขวางการครอบงำของทุนก็โดยวิธีนี้ นั่นคือข่มขู่ด้วยคดีอาญาข้อหากระทำการโดยทุจริต และฟาดโบยด้วยคดีแพ่งเรียกร้องสินไหมจำนวนเงินที่รู้ว่าฝ่ายต่อต้านจะไม่มีปัญญาชดใช้ได้”
รศ.ปรีดา อัครจันทโชติ
รศ.ปรีดา ยังกล่าวว่า ศ.กิตติคุณ พิรงรอง เป็นความภาคภูมิใจของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นแรงบันดาลใจให้คณาจารย์ นิสิต นักวิชาการ และประชาชน ที่ปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม พร้อมเชิญชวนให้ประชาชน และเพื่อนพี่น้องวงการสื่อสารมวลชน ร่วมให้กำลังใจ และสามารถร่วมลงนามสนับสนุนการการปฏิบัติงานในฐานะ กสทช. ได้ ที่นี่