‘กม.ชาติพันธุ์’ ผ่านวาระ 3 กมธ.ภาคประชาชน ซัดตัดหลักการสำคัญ ยากคุ้มครองสิทธิ์

สภาฯ ผ่าน วาระ 3 ‘กม.ชาติพันธุ์’ ด้วยคะแนน 312 ต่อ 84 เสียง ด้าน กมธ.ภาคประชาชน ย้ำบิดเบี้ยว เหตุตัดหลักการ หัวใจสำคัญ ม.27 ‘พื้นที่คุ้มครองชาติพันธุ์’ ชี้ กฎหมายละเลยเจตนารมณ์ของประชาชน จึงไม่ขอร่วมสังฆกรรม

วันนี้ (5 ก.พ. 68) เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบ วาระ 3 ของ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … ด้วยคะแนน 312 ต่อ 84 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 4 คน จากจำนวนผู้ลงคะแนนทั้งหมด 402 คน

เมื่อย้อนกลับไปในช่วงบ่าย กมธ.พิจารณาร่าง กม.ชาติพันธุ์ สัดส่วนภาคประชาชน ร่วมกับ เครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมด้วยกลุ่มพีมูฟ แถลงประณาม และแสดงความผิดหวัง หลังสภาฯ โหวตคว่ำ มาตรา 27 ไม่เห็นด้วยกับหลักการ “พื้นที่คุ้มครองชาติพันธุ์” ตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก แต่เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่ต้องไม่กระทบกับกฎหมายอื่น โดยได้แถลงยืนยัน เสนอให้สภาฯ คว่ำร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ในวาระ 3

โดยให้เหตุผลว่า หากสภาฯ ยืนตาม กมธ.เสียงข้างน้อย ไม่สามารถคุ้มครองส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ตามเจตนารมณ์ได้ ก็เท่ากับว่าหัวใจของหลักการสำคัญได้ถูกตัดไปหมดแล้ว พร้อมมองว่า ประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์ ได้ถูกย่ำยี โดยรัฐจะอ้างความชอบธรรม ผลิตซ้ำอคติ

จึงขออย่าให้รัฐนำไปอ้างในเวทีโลก ว่า ไทยมีกฎหมายชาติพันธุ์ เพราะหลักการของกฎหมายไม่สามารถคุ้มครองชาติพันธุ์ได้จริง ไม่เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายไว้ ว่า จะดูแลผู้ด้อยโอกาส รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงเรื่องนี้ต่อสาธารณะด้วย

ทั้งนี้ภายหลังสภาฯ มีมติผ่านร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ในวาระ 3 แล้วนั้น พชร คำชำนาญ หนึ่งใน กมธ.สัดส่วนภาคประชาชน โพสต์ระบุว่า เกือบ 1 ปี ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ครั้งแรกในชีวิต ยอมรับว่า วันนี้กฎหมายผ่านวาระ 2 และ 3 มาได้ แต่บิดเบี้ยวเกินกว่าจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิ์ เมื่อคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ก็ไม่ปรากฏ แล้วยังตีตกมาตรา 27 เรื่องพื้นที่คุ้มครองชาติพันธุ์ ที่จำเป็นต้องไม่นำหลักเกณฑ์ของกฎหมายป่าไม้ ป่าสงวน อุทยาน เขตห้ามล่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามาบังคับใช้

พชร คำชำนาญ

จึงแถลงคว่ำในนาม กมธ.ภาคประชาชนในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อยืนยันว่า กฎหมายที่เขียนโดยละเลยเจตนารมณ์ของประชาชนเช่นนี้ ไม่อาจร่วมสังฆกรรมได้

“เราไปไม่ถึงฝันว่าชาติพันธุ์จะเท่ากับคน แต่แค่ในทางกฎหมาย ในทางสาธารณะเราต่างได้ร่วมกันฟังอภิปรายร่วมกัน และเห็นว่ามันมีอะไรอยู่ในสภาฯ ถ้อยคำที่ถือว่าผรุสวาสเหล่านั้น ที่ต่างส่งเสียงว่าเราเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า สร้างรัฐอิสระ เป็นภัยความมั่นคง มันแทงใจ แต่นี่คือความเป็นจริงที่สะท้อนทัศนคติและคุณภาพผู้แทนราษฎรที่ทำงานอยู่ในสภาฯ ขณะนี้ วันนี้พี่น้องได้ตาสว่าง ว่าใครเป็นใคร ใครจริง ใครปลอม ใครยืนข้างพี่น้อง และใครยืนข้างผลประโยชน์ตัวเอง”

พชร คำชำนาญ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active