สะท้อนผ่านปรากฎการณ์ ‘อ่าวมาหยา’ ย้ำภาพไทยมาไกลดูแลทรัพยากรทางทะเล เชื่อ ยังดีขึ้นได้อีก ผ่านนโยบายสนับสนุนเงินเดือน สวัสดิการ เจ้าหน้าที่ งบฯ วิจัย
ยังเป็นที่ถกเถียงในโลกออนไลน์ กรณี ทราย สก๊อต หรือ สิรณัฐ สก๊อต หลังประกาศยุติบทบาทในฐานะ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยระบุว่า “ยินดีเสียสละตำแหน่ง เพื่อมีอิสระในการสะท้อนปัญหาทะเลภาคใต้ และจะยังคงเดินหน้ารณรงค์ในฐานะพลเมืองที่รักทะเลต่อไป”
ล่าสุดค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดจาก อธิบดีกรมอุทยานฯ ที่พิจารณายกเลิกคำสั่งที่ปรึกษาของ ทราย สก็อตแล้ว ให้เหตุผล “มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมตักเตือนแล้วไม่ยอมรับแก้ไข” ขณะนี้สำนักอุทยานแห่งชาติ อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อพิจารณายกเลิกคำสั่งให้ทราย สก็อต ออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาฯ แล้ว เพราะการเผยแพร่เนื้อหาระยะหลังในช่องทางโซเชียลอาจเกินเลย และกระทบกับภาพรวมการท่องเที่ยวทางทะเล เช่น กรณีคลิปหนีห่าว นอกจากนี้ได้กล่าวตักเตือน แต่กลับไม่ปรับปรุงแก้ไข
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : ชงปลด “ทราย สก๊อต” พ้นที่ปรึกษาอธิบดีอุทยานฯ
ประเด็นนี้ มีทั้งนักอนุรักษ์ทางทะเล นักวิชาการ และผู้คนในโลกออนไลน์ แสดงความคิดเห็นอย่างแตกต่างหลากหลาย เช่น “ขาดคุณทรายไป ใครจะปกป้องทะเล”, “มีเจตนาดี แต่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย”, “การทำงานด้านทะเล และการท่องเที่ยวต้องมาจากการมีส่วนร่วม จะทำลำพังไม่ได้” รวมไปถึง “อนาคตทะเลไทย ใครบ้างจะกล้าลุกขึ้นมาปกป้องอีกเมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้”
The Active พูดคุยกับ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่โพสต์ภาพเปรียบเทียบอ่าวมาหยา จ.กระบี่ในอดีต กับหลังการฟื้นฟู โดยระบุว่า ที่นำภาพเปรียบเทียบมาให้ดูเพื่อบอกว่า แม้หลายอย่างจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่บางแห่งทำได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ในขณะเดียวกันการท่องเที่ยวที่เหมาะสมยังคงไปต่อได้ กลายเป็นกรณีที่ต่างประเทศพูดถึงด้วยความชื่นชม

ผศ.ธรณ์ บอกอีกว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ หรือคนในพื้นที่ให้ความสำคัญกับทะเลมากขึ้น แต่อาจไม่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ซึ่งยังมีทางที่จะไปต่อได้ สิ่งสำคัญอย่างแรกสุด คือ ภาครัฐ แม้มีกฎระเบียบชัดเจนมากมาย แต่ปัญหาคือเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่พยายามเต็มที่ แต่ยังขาดการสนับสนุน เช่น สวัสดิการ การขึ้นเงินเดือน ความมั่นคงในอาชีพ ฯลฯ
“คนที่ดูแลทะเล เขาทำงานด้วยความเสี่ยง เสียสละ ก็ต้องให้เขาอยู่ได้ด้วย แล้วเรื่องของการที่มีอนาคต ทำงาน 10 ปี บางคนได้เงินเดือนเท่าเดิมมันก็คงไม่ใช่ ผลก็คือคนตั้งใจทำงานเพื่อทรัพยากรทางทะเลจริง ๆ เขาอยู่ได้ไม่กี่ปี เพราะรู้สึกว่ามันไม่มีอนาคต ตรงนี้ควรจะต้องตรวจสอบการนำรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อเป้าหมายหลัก คือ การสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ มีอุปกรณ์ มีกำลังใจ การดูแลก็จะดีขึ้นกว่าเดิม”
ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ส่วน ภาคเอกชน เช่น ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว, ไกด์นำเที่ยว บางส่วนที่มีปัญหาฝ่าฝืนกฎ พานักท่องเที่ยวเข้าไปพื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่โดยรอบ แบบไร้ความรับผิดชอบ จนทรัพยากรทางทะเลได้รับความเสียหาย ผศ.ธรณ์ ยอมรับว่า สถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปเตือนนักท่องเที่ยวมีอยู่ตลอดทุกวันอยู่แล้ว เนื่องจากแต่ละปีมีนักท่องเที่ยว 30 ล้านคน กว่า 40 ประเทศ ที่มาเที่ยวทะเลไทย บางคนสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษไม่ได้ อาจจะมีคนที่ไม่เข้าใจ มีคนที่คิดจะละเมิด โดยไม่คิดด้วยซ้ำว่าเป็นการละเมิด ซึ่งเราต้องพยายามตักเตือน และไกด์ก็ต้องพยายามช่วยกัน

ขณะที่ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวที่มีอิทธิพลในพื้นที่ หรือเจ้าหน้าที่เข้าไปสั่งการ บังคับใช้กฎหมายไม่ได้นั้น ส่วนตัวยังไม่เคยเห็น แต่อาจเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบ ข้อห้ามต่าง ๆ เพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว โดยเฉพาพื้นที่ห่างจากจุดลาดตระเวณ เห็นด้วยว่าต้องบังคับใช้อย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างในการประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวแบบทำลายล้าง
ผศ.ธรณ์ ยังย้ำว่า ผู้ประกอบการ หรือชาวบ้านในท้องที่ ไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป หลายพื้นที่มีการทำงานร่วมกันระหว่าง รัฐ ชาวบ้าน นักวิชาการ เช่น เกาะยูง อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ที่ฟื้นตัวดี แตกต่างชัดเจนกับเมื่อปี 2558 และยังปิดการใช้งานในปัจจุบัน หรือ อ่าวมาหยา ที่กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการกล้านำเรือเข้าอ่าว จนเป็นที่ผู้ถึงของชาวต่างชาติ ถือเป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน แต่ยังเป็นความท้าทาย ในการขยายโมเดลความสำเร็จต่อไป
“การทำงานด้านทะเล ผมทำมา 40 ปีแล้ว ทั้งที่มีตำแหน่ง ไม่มีตำแหน่ง มีเงินเดือน ไม่มีเงินเดือน เพราะฉะนั้นอะไรต่าง ๆ ผมก็สามารถที่จะปรับให้เข้ากับเป้าหมายที่ผมต้องทำงานด้วย โดยที่ผมจะไม่มีวันเดินไปบอกชาวบ้านว่าคุณต้องทำแบบนี้ แบบนั้น ไอ้คำว่า ‘ตรงกลาง’ ของการอนุรักษ์อยู่ตรงไหน ผมคิดว่าอยู่ที่วิถีของแต่ละคน แต่จะตรงกับชาวบ้านไหมเป็นอีกเรื่องที่ต้องมาคุยกัน”
ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ผศ.ธรณ์ ยังทิ้งท้ายว่า ไม่มีฮีโร่ หรือใครคนเดียวชี้เป็นชี้ตายให้กับอนาคตทะเลไทยได้ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม เพียงแต่ทุกคนมีความสำคัญในแบบของตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงอยากให้สังคมใช้โอกาสนี้ในการทบทวนถึงบทบาทของแต่ละฝ่ายในเวลานี้ ว่าสามารถทำอะไรได้อีกบ้าง เพื่อปกป้องท้องทะเลไทยที่กำลังเผชิญกับสภาวะสภาพภูมิอากาศแปรปรวนอยู่ในเวลานี้