กมธ.สว. ยืนตาม สส. ‘พื้นที่คุ้มครองฯ’ ต้องเป็นไปตาม กม.ที่เกี่ยวข้อง รอโหวตวาระ 2, 3 ‘กม.ชาติพันธุ์’ 8 เม.ย.นี้ 

ประธาน กมธ.วิสามัญฯ เผย ปรับแก้ไขเพิ่มเติมบางถ้อยคำ เพื่อประโยชน์ต่อการบังคับใช้ได้จริง และไม่เป็นปัญหาในอนาคต ย้ำ กฎหมายนี้ จะสร้างความเท่าเทียม ส่งเสริมศักยภาพ ทุนวิถีวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลาย สู่ส่วนร่วมการพัฒนาประเทศ  

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 68 ธวัช สุระบาล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เปิดเผยกับ The Active  ภายหลังการประชุมกรรมาธิการฯ  เพื่อสรุป และลงมติความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งใช้เวลาไปกว่า 9 ชั่วโมง โดยระบุว่า ที่ประชุมมีมติยืนตาม ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก 

แต่ในความหมายของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ กมธ.วิสามัญฯ สว. ตีความ ยังมีข้อห่วงกังวล เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ระบุคำว่า ชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะฉะนั้น กมธ.สว.จึงยึดหลักตรงนี้

“จะกลุ่มชาติพันธุ์ หรือว่าชนเผ่าทั้งหมด ในที่ประชุม กมธ.สว. เล็งเห็นตรงกันว่า เราทุกคนล้วนเป็นคนไทย ที่มีความสัมพันธ์กับความเป็นไทยร่วมกัน แม้จะมีชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นหลักการในการยืนพื้นตรงนี้ เราต้องคงคำว่าชาวไทยไว้ในส่วนของ นิยาม  คือ ชาวไทยชาติพันธุ์

ธวัช สุระบาล

อีกเรื่องสำคัญ คือเรื่อง พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตรงนี้ทาง กมธ.สว.ไม่ได้แก้ไขอะไรมากนัก เพราะยึดหลักตามที่ฝั่ง สส.แก้มา คือ ยืนพื้นว่า ในพื้นที่คุ้มครองฯ ทั้งหมด ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ป่าชุมชน, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ  และ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ  ที่กำกับดูแลอยู่ เพราะว่า จะให้พื้นที่คุ้มครองฯ ใช้ทำกิจกรรมสาธารณะ หรือว่ายังชีพอยู่ในพื้นที่ที่เขาอยู่โดยอิสระไม่ได้  ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย 

ธวัช ย้ำไม่ต้องกังวลว่า ในทางปฏิบัติจะเดินหน้าพื้นที่คุ้มครองฯ ไม่ได้ตามหลักการ เพราะในการประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ ต้องมีการพิจารณาวางแนวทาง กฎกติกา ข้อกำหนดต่าง ๆ ร่วมกัน ของคณะกรรมการภายใต้กฎหมายนี้ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หน่วยงานที่เกี่ยว รวมถึงชุมชนชาติพันธุ์ ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ 

 “เป็นไปตามบริบทแต่ละพื้นที่ ที่จะไปทำข้อกำหนดต่าง ๆ และในส่วนของกลไกสภาคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะมาคุ้มครองดูแล นำเสนอปัญหาต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ การส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์นั้น เราให้สิทธิในส่วนของสมาชิกสภาฯ ถึง 300 คน คือกลุ่มละไม่เกิน 5 คน”

ธวัช สุระบาล

ธวัช สุระบาล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

ส่วนที่มีการปรับเพิ่มเติม คือ คำว่า ธรรมนูญ เพราะมองว่า เป็นคำใหญ่ คนอาจจะมองหรือเข้าใจว่าธรรมนูญการปกครอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ย่อมาจากรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น เพี่อตัดประเด็นปัญหานี้ ทาง สว. พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ ได้เสนอให้เปลี่ยนเป็น ข้อกำหนด ซึ่งที่ประชุมก็ตกลงว่าจะใช้คำนี้แทน เพื่อตัดประเด็นปัญหาไป เพราะว่า เป็นการใช้เฉพาะกลุ่ม คำว่า ธรรมนูญ จะเป็นคำใหญ่ไป กมธ.สว. ได้หารือกฤษฎีกาแล้ว กฤษฎีกาก็เห็นพ้องตามกัน 

ขณะที่หลักเกณฑ์วิธีการ การเพิ่มกรรมการ คณะกรรมการ การบริหารต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามร่างเดิมที่มีมา 

สว.เชื่อกฎหมายสร้างความเท่าเทียม หนุนศักยภาพทุนวิถีวัฒนธรรม

ธวัช ยังเชื่อว่า กฎหมายฉบับนี้จะถือเป็นของขวัญให้กลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ เพราะจากเดิมที่กลุ่มชาติพันธุ์อาจถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้น 2 กฎหมายตัวนี้จะเปิดโอกาสในการที่จะสร้างความเท่าเทียม เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ก็บอกแล้วว่าคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้นการดูถูกเหยียดหยามกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะกระทำไม่ได้ และกฎหมายนี้จะคุ้มครองการให้สิทธิต่าง ๆ ที่พึงมีพึ่งได้ แต่ว่าสิทธินี้จะมาพร้อมหน้าที่ต้องรับผิดชอบ สิทธิหน้าที่พลเมืองของไทย ตามรัฐธรรมนูญ คือว่า การกระทำทั้งหลาย ก็ให้ทำไปในกรอบที่มีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ส่วนพื้นที่ทางจิตวิญญาณ หรือจะทำตามวิถีวัฒนธรรมประเพณีอันนี้ไม่เป็นปัญหา 

“เราจะมีกฎหมายตัวนี้ เป็นกฎหมายฉบับแรก และพอมีกฎหมายนี้ จะมีสภาคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะมาบริหารจัดการ ซึ่งก็เป็นการบริหารจัดการในพื้นที่ โดยสมาชิกสภาฯ ที่มาจากการคัดเลือกของกลุ่มชาติพันธุ์เอง ก็คิดว่า จะทำประโยชน์กับกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ถือว่า เป็นของขวัญที่มอบให้กลุ่มชาติพันธุ์” 

ธวัช สุระบาล

พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ บอกว่า กฎหมายนี้มาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งตนเองก็เป็นผู้แปรญัตติหลัก ๆ ด้วยใน กมธ.ชุดนี้  ตั้งใจทำกฎหมายนี้ เพื่อให้เอาไปใช้ได้จริง  

“เราแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต แต่เราก็ทำให้กฎหมายนี้ ไม่ให้เป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป และสิ่งสำคัญคือ เราทำให้ชาวไทย คนไทย ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยเท่าเทียมกัน คือเรายืนยันคำที่ท่านประธานวุฒิสภา ท่านมงคล สุระสัจจะ บอกไว้ว่า แตกต่างได้ แต่เราต้องไม่แตกแยก ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาชิกวุฒิสภา ได้ดำเนินการตามคำประธานวุฒิสภาเสมอ เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ แตกต่างหลากหลาย แต่เราต้องไม่แตกแยก”

พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์

เช่นเดียวกับ พิชาญ พรศิริประธาน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ บอกว่า พิจารณาตามชื่อร่างกฎหมาย คือคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ยึดตรงนี้เป็นกรอบหลักพิจารณา เพราะฉะนั้นทุกอย่าง ทุกมาตรา โดยพิจารณาเพื่อให้สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่คุ้มครอง หรือว่าจะมีสภาคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เข้ามาดูแลกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์

สำหรับการกำหนดวันประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  ในวาระ 2,3 จะประชุมกันในวันที่ 8 เม.ย.นี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active