เผชิญปัญหาคุณภาพชีวิต สุขภาพจิต โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ทั้งยังพบ การละเมิดสิทธิบังคับให้ตรวจเลือด จี้ รัฐบาลออกกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ ขณะที่ หน่วยงานรัฐ ย้ำ จุดยืน เร่งสร้างความเท่าเทียมต่อคนทุกกลุ่ม
วันนี้ (27 มี.ค. 68) ในกิจกรรม วันยุติการเลือกปฏิบัติสากล 2025 “GO-MoVED ก้าวไปข้างหน้าเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติในสังคมไทย” จัดขึ้นที่กระทรวงยุติธรรม ได้มีการเปิดเผยถึงข้อมูลสถานการณ์การตีตรา และเลือกปฏิบัติในสังคมไทยที่ยังคงเป็นปัญหาต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งมีข้อเสนอให้ หน่วยงานรัฐมีส่วนจัดตั้งงบประมาณ ที่จะทำเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานรัฐควรเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสังคมที่ปลอดจากการตีตรา (Stigma free)
สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) บอกว่า ในฐานะกรรมการสิทธิฯ สามารถหยิบยกเรื่องการละเมิดสิทธิมาพิจารณาได้เลย ไม่จำเป็นต้องให้มีผู้มาร้องเรียน ตอนนี้ กสม.ไม่ได้ทำงานแค่ในกฎหมายไทย แต่มีการทำงานตามพันธกรณีที่ประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งสหประชาชาติถือเป็นสนธิสัญญาหลักจำนวน 8 ฉบับ และขณะนี้ก็ขับเคลื่อนในการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมชิกในครอบครัวอีกด้วย
ส่วนการร้องเรียนเรื่องการเลือกปฏิบัติยังมีการร้องเรียนมาที่ กสม.เรื่อย ๆ ทั้งในเรื่องสัญชาติ และชาติพันธุ์ โดยสถานการณ์การเลือกปฏิบัติในสังคมไทยยังเกิดขึ้นทุกวัน ในวันนี้ กสม.และภาคีเครือข่ายก็เฝ้ารอ ว่า เมื่อไร กฎหมายการเลือกปฏิบัติ จะเกิดขึ้น จากที่ กสม.ได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาล ก็หวังว่ารัฐบาลจะเร่งพิจารณากฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้โดยเร็ว
นิภากรณ์ นันตา ตัวแทนเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) เผยถึงข้อมูลการถูกตีตราและเลือกปฏิบัติของผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ก็ยังไม่อยากบอกให้ใครทราบ เพราะยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม และในกลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีที่เป็นเยาวชนมีความกังวลมากที่สุด
โดยสรุปสถานการณ์พบว่า
- ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวียังคงเผชิญกับการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพและคุณภาพชีวิตโดยรวม
- กลุ่มประชากรหลักที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ถูกเลือกปฏิบัติมากกว่าผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีทั่วไป
- ยังมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีในสถานบริการสุขภาพ ทั้งบริการที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีโดยตรง
- ประเด็นการเปิดเผยผลเลือด และความกลัวกังวลว่าผู้อื่นจะทราบผลเลือดยังมีความสำคัญ
- การตีตราตนเอง และปัญหาสุขภาพจิตมีความสำคัญในผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยาวชน และกลุ่มประชากรหลัก
- ยังมีการละเมิดสิทธิในลักษณะของการบังคับให้ตรวจเลือดในสถานการณ์ต่าง ๆ แต่มีเพียง ส่วนน้อยเท่านั้น ที่ได้ดำเนินการบางอย่างเพื่อตอบโต้หรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ภาคีเครือข่าย จึงคาดหวังให้ข้อมูลเหล่านี้ เป็นประโยชน์กับผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีทั่วประเทศ และเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

ในส่วนของวงเสวนา “บทบาทของภาครัฐในการขจัดอุปสรรคด้านสิทธิมนุษยชน” ที่ชวนแลกเปลี่ยนแนวทาง และการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง รวมไปถึงการผลักดันนโยบาย มาตรการที่ตอบสนองต่อความเป็นจริง
พรรณี ชัยโพธิ์ศรี ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. บอกว่า กรุงเทพมหานคร ได้ผลักดันเรื่องเอชไอวีมามานาน และมีแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานอย่างชัดเจน ปัจจุบันคือมีเป้าหมายจะบรรลุให้ได้ภายในปี 2573 ซึ่งปัญหาตอนนี้ คือ คนเข้ารับบริการน้อย เลยพยายามให้โรงพยาบาลในสังกัด กทม. เข้าถึงง่าย สามารถเข้าไปได้ไม่ว่าจะเพศไหน หรือว่าสถานะอะไร พยายามให้ความเป็นมนุษย์ของทุกคนเท่าเทียมกัน ฉะนั้นได้อบรมให้หน่วยบริการทราบว่าควรปฏิบัติอย่างไร และมีหลักสูตรต่าง ๆ ให้หน่วยบริการ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
“กทม. ประกาศว่าจะเป็นหน่วยงานที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำ มีความเสมอภาคไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือบุคลากรของ กทม. และผู้มารับบริการต่าง ๆ เราจะไม่มีการตีตราเลือกปฏิบัติ จะให้ความเทียมกับทุกคน สิ่งนี้คือเป็นจุดยืนของ กทม.”
พรรณี ชัยโพธิ์ศรี
ตอนนี้ กทม.มี BKK Pride Clinic คลินิกสุขภาพเพศหลากหลายของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงฮอร์โมน หรือเรื่องอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากเอชไอวี สามารถเข้ามาปรึกษาได้ มีทั้งฟรีค่าใช้จ่าย และบริการบางส่วนที่ต้องมีค่าใช้จ่าย
ขณะที่ ธานินทร์ พุ่มอรุณ ผู้ตวรจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน บอกว่า ตามหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ต้องมีบทบาทในการคุ้มครองและดูแลในหลักความเสมอภาค ความยุติธรรม และการไม่เลือกปฏิบัติ
ทุกวันนี้มีการดูแลทั้งแรงงานนอกระบบ และในระบบ รวมทั้งต่อไปก็จะดูแลเรื่องของแรงงานอิสระด้วย ในส่วนนี้ภายใต้การกำกับของกระทรวงแรงงานที่มีกรมต่าง ๆ ในเรื่องของการฝึกพัฒนาอาชีพ การจัดให้มีงานทำ คุ้มครองดูแลผู้ที่มีงานทำ รวมถึงเรื่องของหลักประกันทางสังคม คุ้มครองสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ก็จะเกี่ยวข้อง สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิของแรงงานโดยตรง
ในส่วนของการคุ้มครองแรงงาน เรื่องของเอชไอวี และวัณโรค ทางกระทรวงฯ มีการขับเคลื่อนและดูแล ส่งเสริมเป็นระยะเวลาหลายสิบปีแล้ว โดยให้ความรู้ แม้ไม่ใช่หน่วยงานที่มีองค์ความรู้โดยตรง แต่ก็ร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย ที่จับมือกัน และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับช่วงต่อก่อนการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน
อีกทั้งมีทั้งหน่วยงานทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคที่ดูแลเรื่องเอชไอวี และวัณโรค โดยเฉพาะการป้องกัน ที่มีหน่วยงานที่เรียกว่าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด

นอกจากนี้ตั้งแต่ ปี 2548 เคยมีประกาศในเรื่องของการร่วมมือให้สถานประกอบกิจการมีการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอชไอวี ก็มีการพยายามขับเคลื่อนมาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ในปี 2563 มีการแก้ไขประกาศนี้ โดยเข้าไปส่งเสริมสถานประกอบการต่าง ๆ มีนโยบายแก้ปัญหาเอชไอวี รวมไปถึงขจัดการเลือกปฏิบัติตาม ควบคู่กับส่งเสริมเรื่องความรู้ และการดูแลผู้ใช้แรงงานที่อาจจะมีปัญหาเอชไอวี
ล่าสุดมีการร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติ โดยร่วมกับกรมการจัดหางาน และหาก พ.ร.บ.นี้มีการบังคับใช้ แน่นอนว่านโยบายการส่งเสริม การป้องกัน การดูแล ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในสถานประกอบการก็จะมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น สิ่งนี้กำลังดำเนินการ