‘ภาคีเพื่อการศึกษาไทย’ ทำโพลในงาน TEP Forum 2022 สำรวจความสนใจเรื่องการศึกษา ชี้ 90% “อยากเห็นการศึกษาไทยออกแบบใหม่ – เปลี่ยนหลักสูตร – เน้นเสมอภาค” เสนอปฏิรูปแบบมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2565 รศ.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอผลสำรวจความคิดเห็นคนไทยต่อการศึกษาไทยในปัจจุบันที่ร่วมสำรวจกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ในงาน TEP Forum 2022 ซึ่งภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มี.ค. 2565
รศ.พร้อมพิไล กล่าวว่า จากการสำรวจประชาชนจำนวนกว่า 200 คน ด้วยแบบฟอร์มออนไลน์ พบว่า กลุ่มครู ตอบแบบสำรวจมากที่สุด รองลงมาคือนักเรียน/นักศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง นักวิชาการ ภาคเอกชน ศึกษานิเทศก์ และประชาชนทั่วไป สะท้อนว่าทุกภาคส่วนให้ความสนใจเรื่องการศึกษาไทย โดยการสำรวจได้แบ่งเป็นหัวข้อประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป ความคิดเห็นต่อการจัดการศึกษาในปัจจุบัน ความคิดเห็นต่อการศึกษาไทยในอนาคต และการออกแบบการศึกษาให้เหมาะสม ใช้วิธีให้คะแนนและพิมพ์คำตอบเพิ่มเติม
รศ.พร้อมพิไล ระบุว่า จากการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ต้องการเห็นการศึกษาไทยออกแบบใหม่ ด้วยคะแนน 8-9 จากคะแนนเต็ม 10 และให้คะแนนต่อระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันเพียง 4-5 คะแนน ในส่วนคำถามเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการก่อร่างสร้างการศึกษาใหม่ พบว่า มีการให้คะแนน 3.5 ขึ้นไป จากคะแนนเต็ม 4 ในประเด็นต้องการให้โรงเรียนช่วยให้ผู้เรียนตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง, มีมาตรการเร่งด่วนในการทำให้ครูมีคุณภาพ, การสนับสนุนครูให้มีทักษะใหม่ ๆ ทั้งการจัดการเรียนการสอนให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง, ครูต้องได้รับการเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยี และครูควรได้รับการเตรียมความพร้อมเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้เรียน
“เราจะเห็นว่าปัจจุบันสถานการณ์ปัญหามีความซับซ้อนขึ้น เราต้องการให้ผู้เรียนมีทักษะในการแก้ปัญหา ครูเองก็ควรจะได้รับการสนับสนุนเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาในการจัดการเรียนรู้ในโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วยเช่นกัน”
เมื่อจำแนกตามอายุ พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี ให้ความสำคัญกับข้อเสนอต่อการปรับเปลี่ยนการศึกษาว่า ครูควรได้รับการเตรียมความพร้อมแก้ปัญหาความรู้ถดถอย, การไม่เลือกปฏิบัติและทำให้เกิดความแตกแยก สะท้อนว่าคนเจเนอเรชันนี้ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค สอดคล้องกับผลสำรวจพิมพ์แบบคำตอบ พบว่า ส่วนใหญ่ให้ข้อเสนอแนะในประเด็นความเสมอภาค ความเหลื่อมล้ำ การจัดการศึกษาที่คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายเชิงพื้นที่ รวมถึงสวัสดิภาพของครูและนักเรียน
“ครูอยากได้ความปลอดภัยด้านร่างกายและจิตใจ เช่น การยกย่องให้เกียรติ เคารพการจัดการเรียนรู้ และไม่ว่าช่วงอายุไหนต่างต้องการให้โรงเรียนช่วยทำให้นักเรียนเห็นศักยภาพตนเอง มองว่าเด็กเยาวชนไทยปัจจุบันยังพร่องทักษะการคิดวิเคราะห์ การจะไปถึงทักษะนั้นได้ขึ้นกับการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้”
ในส่วนคำถามว่าหลักสูตรควรจะปรับเปลี่ยนหรือไม่ กว่าร้อยละ 90 เห็นควรปรับเปลี่ยนหลักสูตร ด้านการจัดการเรียนรู้เห็นควรลดเรียนท่องจำ ลดเนื้อหา เน้นการเรียนที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในชีวิต มีข้อเสนอเปลี่ยนการศึกษาโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เอื้อให้เกิดการบริหารจัดการที่มีความอิสระ ตระหนักถึงความสำคัญการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ภาคีเพื่อการศึกษาไทย’ ชวนส่งเสียงทิศทางปฏิรูปการศึกษา เสนอ ‘รมว.ศธ.’
ภาคีการศึกษาระดมไอเดีย “แก้โจทย์เรียนมากคุณภาพน้อย” เสนอคำตอบการปฏิรูป
‘คุณหญิงกัลยา’ รับคำตอบ ‘เปลี่ยนการศึกษาไทย’ แต่ไม่รับปากแก้ได้ครบโจทย์