เด็กไทย เจอ 3 วิกฤต! ย้ำ ครูไม่เข้าใจ ‘สิทธิเด็ก’ แก้ปัญหายาก

เสวนาวิชาการ Education Journey Forum “ครูในฐานะนักขับเคลื่อนการเรียนรู้บนความแตกต่างหลากหลาย” พบ เด็กไทยเจอวิกฤต ความเหลื่อมล้ำ เรียนถดถอย ความรุนแรงในรั้วโรงเรียน ภาพสะท้อน ระบบอำนาจนิยมฝังรากลึก เชื่อแก้ยาก ถ้าระบบผลิตครู ไม่เปลี่ยน

วันนี้ (18 ก.พ.66) ผศ.มณฑนา พิพัฒน์เพ็ญ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ระบุในเวทีเสวนาวิชาการ Education Journey Forum ครั้งที่ 6 หัวข้อ “ครูในฐานะนักขับเคลื่อนการเรียนรู้บนความแตกต่างหลากหลาย” ว่า ไทยต้องการสร้างเยาวชนที่เป็นนวัตกรในสังคมแห่งการเรียนรู้ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน กลับเต็มไปด้วยปัญหาการเรียนรู้ของเด็กไทย คำถามที่สำคัญ คือ การสนใจปัญหาเด็กและเยาวชน มีงานวิจัยไม่น้อย และมีองค์ความรู้ต่าง ๆ แต่เพราะเหตุใด ปัญหาของเด็กและเยาวชนยังคงดำรงอยู่

ผศ.มณฑนา พิพัฒน์เพ็ญ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

‘ความรุนแรง-การเรียนถดถอย-ความเหลื่อมล้ำ’ 3 วิกฤตการณ์เด็กไทย

จึงได้รวบรวมข้อมูลที่ถือเป็นวิกฤตการณ์การเรียนรู้ของเยาวชน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เริ่มมีการศึกษาในมิติพิพิธภัณฑ์ วัด ชุมชน โดยไม่ได้มุ่งให้ความสำคัญกับ “โรงเรียน” เพียงอย่างเดียว เช่น ปี 2435 ที่พูดถึงการศึกษาเพื่อชีวิต ปี 2542 พูดถึงเรื่องโอกาสทางการศึกษา ฯลฯ ในขณะที่ปัจจุบันพบ วิกฤตการณ์ทางการเรียนรู้ที่เยาวชนต้องเผชิญ 3 ส่วน ได้แก่

  1. ความรุนแรงในโรงเรียน ต้องการเห็นโรงเรียนเป็น พื้นที่ปลอดภัย โดยมีนิยามว่า ครูเป็นผู้เอื้ออำนวย ชุมชนมีส่วนร่วม แต่อีกมุมหนึ่งก็ยังคงเห็นความรุนแรงในโรงเรียน (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ วิเคราะห์ไว้ในปี 2557) ว่า ความรุนแรงในโรงเรียนมี 3 มิติ คือ ความรุนแรงทางกายภาพ, ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และ อำนาจในโรงเรียนที่ไม่เท่าเทียม เช่น การแบ่งกลุ่มนักเรียน เก่ง กลาง อ่อนในห้องเรียน สุดท้าย คือ ความรุนแรงเชิงวัฒธรรม เช่น ความเชื่อ การยอมรับ
  2. ปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย พัฒนาการเรียนรู้ที่ชะงักงันเด็กและเยาวชน ที่อยู่ในพื้นที่ด้อยโอกาสมักพบกับภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย
  3. วิกฤตเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาภายใต้ความยากจน พื้นที่ห่างไกล จึงต้องดิ้นรนหางาน หาอาชีพ เมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่ายทั้งครอบครัวจึงเกิดปัญหาสังคมมิติอื่นตามมา

การศึกษาจึงต้องสอนชีวิตของเด็กจริง ๆ และเป็นส่วนช่วยลดความรุนแรงภายในโรงเรียน โดยไม่ด้อยค่าผู้อื่น และมีความฉลาดรู้ทางการศึกษา

การเรียนรู้ต้องสอดรับ เด็กชายขอบ และความเป็นพหุวัฒนธรรม

ผศ.พิสิษฎ์ นาสี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุถึง ปัญหาของเด็กชายขอบ และพหุวัฒนธรรม ในมิติของการศึกษา โดยพบข้อมูลว่าในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก มีนโยบายการลงทะเบียนศูนย์การเรียนให้กับเด็กชายขอบ แต่ก็ยังพบการใช้แนวคิดการควบคุมเน้นความมั่นคงเป็นหลักมากกว่า ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ขณะที่ภาพรวมยังพบว่า รัฐยังคงมีมายาคติกับชนกลุ่มน้อย

ประสบการณ์ของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ พบว่า มีภาษาไทยที่ถูกใช้เป็นภาษาหลัก และเด็กกลุ่นี้ก็ยังต้องใช้ความพยายามอยากมากให้การเรียนรู้มาก, เด็กข้ามชาติในเมืองใหญ่ ยังพบว่า ความรู้ที่ได้รับไม่สอดคล้องกับชีวิต ผลักให้เด็กกลายเป็นคนอื่นของสังคม เช่น การมุ่งเน้นการเป็นพลเมืองไทยที่ทำได้ผ่านการมีบัตรประชาชน

ผศ.พิสิษฎ์ นาสี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผศ.พิสิษฎ์ เสนอว่า ต้องปรับปรุงหลักสูตรให้มีเนื้อหาที่รองรับ และเชื่อมโยงประสบการณ์ของตัวผู้เรียน ให้มีความยืดหยุ่นครอบคลุมมากขึ้น มีการเพิ่มสัดส่วนตัวแทนที่มาจากกลุ่มวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีบทบาทตั้งแต่การรับนักเรียน การจัดการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมการศึกษา และการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ปฏิรูปหลักสูตรท้องถิ่น, ปรับปรุงงานแนะแนวที่หลากหลายเหมาะสมกับบริบทของนักเรียนชายขอบ และพหุวัฒนธรรม, สร้าง ขยายเครือข่ายนวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กชายขอบพหุวัฒนธรรม

แนะครูทำความเข้าใจสิทธิเด็ก หยุดส่งต่อ ‘อำนาจนิยม’

ขณะที่ ผศ.นันทิดา จันทรางศุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล เห็นด้วยกับการมีหลายภาคส่วนเข้ามารับผิดชอบการศึกษาที่หลากหลาย โดยมีข้อเสนอให้ปักหมุดเลยว่า ใครต้องทำงานกับใคร โดยฝากไว้ถึงการสร้างให้เด็กยอมรับความแตกต่างหลากหลายและสร้างความเข้าใจ การใส่ข้อมูลเข้าไปตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงมีส่วนสำคัญ ขณะที่เรื่องครู จำเป็นต้องเปลี่ยนที่หน่วยผลิตครู

ทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

สอดคล้องกับ ทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เชื่อว่า วิธีเดียวที่จะช่วยได้คือการให้ครูเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชน หากนำหลักการสิทธิเด็กมาจับเรื่องของอุดมการณ์รักชาติในเนื้อหาการเรียน เปรียบได้กับการหาประโยชน์จากเด็กเสียมากกว่า ย้ำว่า ปัญหาที่เด็กเจอ เป็นปัญหาจากผู้ใหญ่ทั้งสิ้น แต่ต้องยอมรับว่า ไทยมีปัญหาเชิงระบบ แม้ยอมรับว่า ปัญหาเชิงระบบแก้ยาก เพราะมีเรื่องของผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง แต่ก็จำเป็นต้องทำ และไม่ส่งต่อไปสู่คนรุ่นถัดไป หากยังไม่มีความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน และสิทธิเด็กเพียงพอ จะไม่สามารถแก้ปัญหาเด็กได้อย่างแท้จริง

“เด็กที่มาดูงานบ้านกาญจนา บอกว่า ที่นี่มีความเป็น คุก น้อยกว่า โรงเรียนของผมอีก… สิ่งนี้สะท้อนอำนาจนิยมในโรงเรียน ที่ยังคงถูกส่งต่อจนกลายเป็น มรดกบาปของสังคมไทย…

ถ้าครูยังไม่มีความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็กอย่างเพียงพอ จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง

ทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : นักการศึกษา แนะ สร้าง ‘ครูยุคใหม่’ หลุดกรอบรัฐ กล้าตั้งคำถาม เปลี่ยนสังคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active