แนะ ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ’ รับฟังคนรุ่นใหม่ เปิดกว้าง คิดนอกกรอบ ไม่ใช้การศึกษาเป็นพื้นที่การเมือง ขณะที่ ‘กลุ่มครูขอสอน’ ย้ำไม่เคยคาดหวัง เชื่อการศึกษายุคนี้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ขอแค่ไม่เพิ่มภาระครู นักเรียน มากกว่าเดิมก็พอ
ภายหลังมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ซึ่งหนึ่งในกระทรวงสำคัญที่ถูกจับตามองคือ กระทรวงศึกษาธิการ ที่มี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นั้น
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี “เศรษฐา” นายกฯ ควบ “รมว.คลัง”
ศ.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยกับ The Active โดยแสดงความเห็นต่อ รมว.กระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ยอมรับว่า การศึกษาไทย เป็นประเด็นปัญหาสังคมที่รุนแรง และตกต่ำมานาน ทุกฝ่ายในสัคมต่างรับทราบปัญหาคุณภาพการศึกษา ว่า ต้องการคนที่รู้จริง เข้าใจปัญหา เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาสร้างพลเมืองไปสู่อนาคตให้ได้ แต่เมื่อได้รัฐมนตรีที่มีภูมิหลังการทำงานราชการตำรวจ ไม่เคยมีผลงานด้านการศึกษา ไม่ปรากฏวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการศึกษา จึงอาจถือได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการ ได้รัฐมนตรี ที่อาจผิดตำแหน่ง น่าจะไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
นักการศึกษา มองด้วยว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ซึ่งมีบทบาทรับราชการตำรวจมาตลอดชีวิต อาจพบกับปัญหาการเข้ามาขับเคลื่อนการศึกษาไปสู่โลกอนาคต ที่ต้องมองภาพ นโยบาย นอกกรอบ มีแนวคิดทันสมัย เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แต่อาจกลายเป็นว่า ระบบการศึกษาไทย ยังคงติดกรอบราชการเช่นเดิม เน้นกฎ ระเบียบวินัย ในยุคที่นักเรียนต้องการพื้นที่แสดงออก กล้า พูดกล้าทำ และรู้จักมุมมองด้านสิทธิเสรีภาพของตัวเองมากขึ้น อาจเป็นเรื่องยากที่จะบริหารจัดการถ้าผู้กำกับดูแลนโยบาย ไม่เปิดกว้าง และหากรู้สึกว่าการกระทำต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ทำเกินขอบเขต อาจยิ่งทำให้กฎ ระเบียบในโรงเรียนเข้มงวดมากขึ้นหรือไม่
ศ.สมพงษ์ ยังเห็นว่า การศึกษาเป็นข้อต่อสำคัญ ซึ่งถ้ามองในบทบาทการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาคนตั้งแต่ท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ระดับขั้นพื้นฐาน อาชีวะ กระทรวงศึกษาธิการ จนไปถึงอุดมศึกษา ล้วนเป็นโควตาของคนพรรคภูมิใจไทยทั้งสิ้น มุมหนึ่งก็อาจเป็นเรื่องดี ที่จะทำให้นโยบายไร้รอยต่อ มีนโยบายที่เป็นเอกภาพ แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเกิดได้รัฐมนตรีที่ไม่เข้าใจเนื้องาน ไม่เข้าใจสิ่งที่ต้องทำ บทบาทที่ต้องขับเคลื่อนก็อาจทำได้แค่การเป็นพื้นที่ใช้หาเสียง ใช้การศึกษาเพื่อการเมืองมากกว่าหรือไม่ ซึ่งก็ขอไม่ให้เป็นแบบนั้นเพราะจะยิ่งทำให้การศึกษายิ่งอ่อนแอลงไปกว่าเดิม
“เมื่อได้กระทรวงศึกษาธิการ ได้รัฐมนตรีที่เป็นตำรวจมาบริหาร อาจทำให้ได้ระบบราชการซ้อนราชการ ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะการศึกษายุคใหม่ จำเป็นต้องคิดนอกกรอบ ทำงานแบบภาคเอกชน เข้าถึงปัญหา เปิดกว้าง รับฟังผู้อื่นให้มากที่สุด จริง ๆ ถ้ามองในแง่ดี สำหรับรัฐมนตรีที่ไม่ได้รู้เรื่องการศึกษามาเลย แต่ขอเพียงเปิดใจกว้างรับฟังความเห็นผู้อื่น ศึกษา มองแนวโน้มปัญหาให้ออก ก็อาจพอทำงานได้ ถ้าลองเปิดใจ ทำงานกับคนรุ่นใหม่ได้ ทั้งในเชิงของเรื่องหลักสูตร ฐานสมรรถนะ การสร้างพลเมืองประชาธิปไตย การเรียนรู้คู่การมีงานทำ บัณฑิตจบใหม่ได้เงินเดือนอย่างที่รัฐบาลหาเสียงเอาไว้จริง การแก้ปัญหา กยศ. ให้ได้เข้าถึงอย่างเป็นธรรม ดอกเบี้ยต่ำ ถ้าคุณจับประเด็นหลัก ๆ ของการศึกษาไทยได้ ก็พอไปได้ เพียงแต่ว่าอย่ายึดการเมืองมากเกินไป ขอให้ยึดประโยชน์การศึกษาเป็นหลัก คือถ้าไม่มีภูมิหลังขอให้เปิดกว้างรับฟังก็ทำงานให้เป็นประโยชน์ได้”
ศ.สมพงษ์ จิตระดับ
ศ.สมพงษ์ ยังฝากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ขับเคลื่อนแก้ปัญหาการศึกษาเร่งด่วน เพื่อกู้วิกฤตศรัทธากลับมาทันที โดยเฉพาะเรื่อง การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ที่ยังค้างอยู่ในสภาฯ การสร้างโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ กยศ.เป็นประโยชน์กับคนยากจน การสร้างโอกาสเรียนต่ออุดมศึกษา การปรับโครงสร้าง จัดสรรบุคลากรให้เพียงพอกับงาน เพื่อลดภาระงานครู คืนครูกลับห้องเรียนให้ได้อย่างจริงจัง การทำเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะให้ดีเพื่อพัฒนาคนสู่อนาคต ที่สำคัญคือการแก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน ปรับปรุงเรื่องการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาให้เข้าถึงอย่างเหมาะสม ทั้งค่าใช้จ่ายรายหัว การหาแนวทางช่วยเหลือสภาวะค่าครองชีพของผู้ปกครองที่ประสบปัญหา การเร่งการจัดหาทุน การมีงานทำให้พ่อแม่เด็ก เหล่านี้ถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากกับวงการศึกษาที่ต้องการผู้นำมาขับเคลื่อนให้เห็นผลอย่างจริงจัง
ขณะที่ ครูทิว – ธนวรรธน์ สุวรรณปาล จากกลุ่มครูขอสอน ระบุไม่ได้คาดหวังอะไร ในตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ เมื่อไม่คาดหวัง แต่ก็ขอไม่ให้เพิ่มภาระให้กับการศึกษาไทยไปมากกว่านี้ก็พอ ทั้งนี้เชื่อว่าแม้ตัว พล.ต.อ.เพิ่มพูน จะไม่เคยจับงานด้านการศึกษามาก่อน แต่น่าจะมีทีมงานที่ปรึกษา ทีมนโยบายการศึกษาเข้ามาช่วยทำงาน ก็น่าจะทำให้พอไปได้ สิ่งสำคัญหากไม่มีวิสัยทัศน์ด้านการศึกษา ก็ขอแค่ให้เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นผู้อื่นให้มาก ทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง นักการศึกษา จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
“ถามว่าคาดหวังแค่ไหน คงต้องตอบว่าไม่คาดหวังอะไรเลย เพราะคิดไว้อยู่แล้วว่า จะไม่มีอะไรจะไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่ไม่สร้าวภาระให้ครู ให้นักเรียนมากกว่าเดิมก็พอ แต่อย่างน้อย ๆ ถ้าไม่มีประสบการณ์ด้านการศึกษาเลย ก็ควรใช้อำนาจตามภาระหน้าที่ประสาน เพื่อจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม ที่ผ่านมาแม้กระทรงศึกษาธิการ มีงบฯ เป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ยังถูกจัดให้อยู่ในกระทรวงเกรดบี เกรดซี เพราะงบฯ ที่มีถูกใช้ไปกับบุคลากรเสียเป็นส่วนใหญ่ งบฯ ส่วนอื่นก็ลงกับนักเรียน ซึ่งดูเหมือนเยอะ แต่จริง ๆ แทบไม่เพียงพอ ก็ขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐมนตรีคนใหม่ จะดีลงบฯ จัดสรรงบฯ ให้ตกอยู่กับนักเรียน และโรงเรียนมากแค่ไหน”
ธนวรรธน์ สุวรรณปาล