‘คุณหญิงกัลยา’ รับคำตอบ ‘เปลี่ยนการศึกษาไทย’ แต่ไม่รับปากแก้ได้ครบโจทย์

“TEP Forum 2022”  ส่งข้อเสนอ 5 โจทย์เปลี่ยนการศึกษาไทย หวังผู้กำหนดนโยบายรื้อโครงสร้าง ‘คุณหญิงกัลยา’ เห็นพ้องแต่ไม่รับปากแก้ได้ครบโจทย์ ชี้ การพัฒนามนุษย์ต้องใช้เวลา

วันนี้ (20 มี.ค. 2565) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมงาน “TEP Forum 2022” ที่ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership หรือ TEP) จัดขึ้นสำหรับเป็นพื้นที่สะท้อนความต้องการต่อการศึกษาไทยภายใต้โจทย์ “ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยแห่งอนาคต” โดยจัดงานรูปแบบไฮบริด ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ และระบบออนไลน์ ให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนเข้าร่วมระหว่างวันที่ 19-20 มี.ค. 2565

คุณหญิงกัลยา เป็นตัวแทน ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับมอบข้อเสนอจากตัวแทน ภาคีเพื่อการศึกษาไทย ที่ได้เปิดวงคุยระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญเพื่อเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย สะท้อนความต้องการจากผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้มีส่วนได้เสียกับการศึกษาไปยังผู้กำหนดนโยบาย หวังให้นำไปสังเคราะห์เพื่อออกแบบระบบสนับสนุนให้สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่อไป

วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน จ.ระยอง (ขวา)

วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน จ.ระยอง เป็นตัวแทนส่งมอบข้อเสนอ โจทย์ที่ 1 ความหวังปฏิรูปการศึกษาจากพื้นที่ ซึ่งการระดมสมองมีผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่จากโรงเรียนพื้นที่นำร่องนวัตกรรมการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนสังกัดอื่น ๆ และศูนย์การเรียนชุมชน ที่มีประสบการณ์ทำงานภายใต้วิกฤตทั้งเหมือนและแตกต่างกัน และตั้งใจทำงานด้านการศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม โดยการสะท้อนความเห็นได้ตั้งต้นด้วยหัวข้อ “โรงเรียนพลังบวก”

“โรงเรียนเหล่านี้ถือเป็นโรงเรียนพลังบวกที่ร่วมแชร์ประสบการณ์ ร่วมแลกเปลี่ยนในส่วนที่พวกเขาได้ดำเนินการในภาคพื้นโรงเรียน โจทย์เดียวกันก็คือการพัฒนาการศึกษาของประเทศ”

ข้อเสนอ “ความหวังปฏิรูปการศึกษาจากพื้นที่” ประกอบด้วย 1.) ให้สถานศึกษาเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ศธ. มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนที่ชัดเจนและจริงจัง เช่น การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์สมรรถนะผู้เรียน

“เรากำลังดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะอยู่ในขณะนี้ แต่เราอยากจะขอว่าให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม มีขั้นมีตอน เพราะว่านอกจากโรงเรียนพลังบวกก็มีหลายโรงเรียนที่กำลังรอฟังความชัดเจนอยู่ในขณะนี้”

2.) เปิดโอกาสให้สถานศึกษาและจังหวัดมีอิสรภาพในการบริหารการศึกษาด้วยตนเอง ด้านวิชาการ งบประมาณ ทรัพยากรบุคคล และบริหารทั่วไป ด้วยการร่วมมือกับชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชนในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลายตามบริบทและความจำเป็นของพื้นที่

3.) ให้อิสระสถานศึกษาบริหารหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับความรู้ในท้องถิ่น เป็นแกนเชื่อมโยงกับสาระอื่น ๆ ให้เกิดการเรียนรู้เรื่องใกล้ตัว นำความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง

4.) สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาการจัดการศึกษาที่ตอบสนองการปฏิรูป ทำให้สถานศึกษาเห็นคุณค่าการปฏิรูปด้วยตนเอง โดยปรับกฎระเบียบและระบบวัดประเมินผลประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของครู ผู้บริหาร และสถานศึกษา ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาของแต่ละสถานศึกษา

5.) กลไกระดับจังหวัดมีบทบาทเชิงบวก ศึกษานิเทศก์ เขตพื้นที่ และศึกษาธิการ ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนสถานศึกษาให้มีความอิสระในการจัดการตนเองโดยเฉพาะวิชาการ

ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา TDRI

โจทย์ที่ 2 สร้างคัดพัฒนาครูแบบไหนให้ตอบโจทย์เด็กไทยทุกคน นำเสนอโดย ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ในวงแลกเปลี่ยนมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ และครูเข้าร่วม

“ความท้าทายในการสร้างคัดพัฒนาครูเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือโลกเปลี่ยนเร็ว ต้องการครูที่มีทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอ และเด็กมีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติและความคิด ถ้าสร้าง คัด พัฒนาครู ด้วยระบบที่แยกกันจะไม่สามารถตอบโจทย์เด็กได้”

ทัฬหวิชญ์ สะท้อนว่า ด้านการสร้างครู ปัจจุบันหลักสูตรการศึกษาเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง การสร้างครูวันนี้อาจไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ในระยะต่อไป ด้านการคัดเลือกครูผู้สอน โรงเรียนไม่มีสิทธิ์เลือกครูเองใช้ระบบคัดเลือกเหมือนกันทั้งประเทศ ขณะที่ความต้องการครูแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน ด้านการพัฒนาครู ยังมีอุปสรรคและภาระงานมากจนครูไม่มีเวลาพัฒนาตนเอง และไม่มีสิทธิ์เลือกหลักสูตรการพัฒนาด้วยตนเอง

ข้อเสนอ ด้านการสร้างครู ต้องการกลไกทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับมหาวิทยาลัย เพื่อสะท้อนประเด็นที่ควรพัฒนาในแต่ละช่วง เช่น หลักสูตร โดยมองว่า คุรุสภา ควรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ด้านการคัดเลือกครูผู้สอน ให้โรงเรียนได้สะท้อนความต้องการในระบบสอบคัดเลือกครูภาค ค ด้านการพัฒนาครู ลดภาระงาน ให้ครูมีสิทธิ์เลือกหลักสูตรการพัฒนาตนเอง และเรื่องวิทยฐานะแม้จะเปิดโอกาสให้โรงเรียนมากขึ้น แต่การสื่อสารกับเขตพื้นที่ให้เป็นฝ่ายสนับสนุนยังขาดความเข้าใจอยู่มาก

วรุตม์ นิมิตยนต์ ผู้ก่อตั้งเพจ Deschooling Game – ความสนุกปลุกการเรียนรู้

โจทย์ที่ 3 Beyond schooling การเรียนรู้แบบใหม่ที่ไปไกลกว่าโรงเรียน นำเสนอโดย วรุตม์ นิมิตยนต์ ผู้ก่อตั้งเพจ Deschooling Game – ความสนุกปลุกการเรียนรู้ กล่าวว่า ในโจทย์นี้มีคนทำงานนอกระบบการศึกษา ได้แก่ บ้านเรียน (Home school) ผู้ประกอบการด้านการศึกษารุ่นใหม่ และศูนย์การเรียนรู้ เข้าร่วม

“ดูแล้วอาจจะรู้สึกว่าไม่ใช่งานของ ศธ. เราค้นพบว่าการเรียนรู้นอกระบบจำนวนมากเป็นการเรียนรู้ที่ออกแบบมาเพื่อทดแทนทักษะบางอย่างที่การเรียนรู้ในระบบทำไม่ได้หรือทำได้ช้าเกินไป บางครั้งการศึกษานอกระบบถูกมองว่าเป็นคู่แข็งหรือคู่ตรงข้าม เป็นความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้ทั้งสองฝั่งสนับสนุนการทำงานร่วมกันได้”

วรุตม์ เป็นตัวแทนเสนอว่า 1.) ต้องการให้ ศธ. ผลักดันพื้นที่พูดคุย ทำความรู้จัก และแลกเปลี่ยนระหว่างสองระบบ เนื่องจากการเรียนรู้นอกระบบกำลังเป็นกระแสมาแรงที่มีผู้เรียนสนใจมากขึ้น 2.) ต้องการกลไกจัดสรรทรัพยากรหรืองบประมาณที่การศึกษาในระบบได้รับสนับสนุนการเรียนรู้นอกระบบได้ เนื่องจากการเรียนรู้นอกระบบบางส่วนมีความเกี่ยวเนื่องกับชุมชน และความสนใจแตกต่างกัน 3.) ต้องการออกแบบระบบสนันสนุนร่วมกับภาครัฐ

“การจัดการศึกษานอกระบบใช้งบประมาณสูงเนื่องจากไม่มีโครงสร้างรองรับ ถ้าการศึกษาในระบบมีหลักสูตรที่ยืดหยุ่นให้การเรียนรู้นอกระบบหนุนเสริมกันได้ จะช่วยให้อนาคตทำงานด้วยกันได้ง่ายขึ้นและคุณภาพการศึกษาไทยจะดีขึ้น”

นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education

โจทย์ที่ 4 Learning recovery เปิดเรียนใหม่การศึกษาไทยต้องไม่เหมือนเดิม นำเสนอโดย นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education กล่าวว่า มีตัวแทนครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้แทนจากยูนิเซฟ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกันมองการจัดการศึกษาหลังโควิด-19 ให้ความสำคัญกับความสูญเสียทางการเรียนรู้ หรือ Learning loss

“คำว่า Learning ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องวิชาการ แต่มีเรื่องพัฒนาการเด็ก ทักษะสังคม และอารมณ์ รวมถึงสุขภาวะต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เราเห็นช่องว่างที่กว้างขึ้นในการเรียนรู้ของเด็กจากการเข้าไม่ถึงอุปกรณ์เรียนออนไลน์และอินเทอร์เน็ต”

นรรธพร ระบุถึงข้อเสนอว่า 1.) ให้รัฐชวนภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมหารือแนวทางฟื้นฟูการเรียนรู้อย่างที่เหมาะสมตามความแตกต่าง 2.) สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ให้ความสำคัญในการสร้างความร่วมมือ 3.) สร้างเครือข่ายการศึกษากับทุกภาคส่วน รองรับความต้องการผู้เรียนหลากหลายและทันใช้ 4.) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะครู เท่าทันการเปลี่ยนแปลง 5.) ปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เน้น Active learning เลิกท่องจำเนื้อหา

ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโส TDRI

โจทย์ที่ 5 กติกานโยบายแบบไหนจะพาการศึกษาไทยไปสู่อนาคต นำเสนอโดย ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า 4 โจทย์ข้างต้นจะไม่สามารถทำได้หากไม่เปลี่ยนแปลงกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติ รวมไปถึงวัฒนธรรมการทำงานในระบบการศึกษาซึ่งมีความท้าทาย ดังนี้ 1.) ระบบการศึกษาไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ 2.) กฎหมายเปลี่ยนไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง เพราะการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ใช้ระยะเวลานาน เฉพาะ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ ก็ใช้เวลาร่างหลายปีขณะที่สถานการณ์สังคมเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว 3.) กติกา นโยบายต่าง ๆ ไม่ยืดหยุ่นเพียงพอสำหรับการจัดการศึกษาที่มีความหลากหลาย รวมถึงเงื่อนไขการจัดสรรทรัพยากรบางอย่างไม่ถูกปรับให้เหมาะสม เช่น เงินอุดหนุนรายหัว ค่าอาหารกลางวันยังผูกติดกับจำนวนนักเรียน

ด้านข้อเสนอ 1.) ต้องการให้เกิดการกระจายอำนาจไปยังระดับจังหวัด ออกแบบหลักสูตรตามบริบทตนเอง โรงเรียนมีอิสระด้านวิชาการ บุคลากร และงบประมาณ ให้อิสระครูในการออกแบบการเรียนการสอนไม่ยึดติดหลักสูตรส่วนกลาง จะทำได้โดย ศธ. ปรับหลักสูตรการเรียนและการประเมินให้เชื่อมโยงกัน 2.) การออกแบบกติกาทางการศึกษา มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน รับรองสิทธิสวัสดิภาพ ศธ. มีหน้าที่สนับสนุนผู้เรียนและผู้ปกครองในการออกแบบกติกาต่าง ๆ 3.) อนุญาตให้มีการทดลองเชิงนโยบาย เพื่อถอดบทเรียนรูปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสม 4.) ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบไฮบริด และ 5.) การออกแบบกติกาที่ดีควรพร้อมปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และเปิดรับฟังแบบมีส่วนร่วม

ภายหลังรับมอบข้อเสนอ คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้รับทราบปัญหาพร้อมกับข้อเสนอแนวทางในการพัฒนาการศึกษาไทยอย่างเป็นระบบ แต่ข้อเสนอดังกล่าวจะยังไม่รับปากว่าจะสนับสนุนได้ทั้งหมด เนื่องจากเป็นโจทย์ที่เกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์ต้องใช้เวลาทำงาน

“ความจริงก็ทราบปัญหาอยู่โดยตลอด ท่านก็ทราบว่าทำไม่ได้ทันที แต่เมื่อมีข้อเสนออย่างนี้แล้วก็จะรับไปทั้งหมดเพื่อไปศึกษา ถ้าตกผลึกอันไหนทำได้จะทำเลย คงจะไม่สามารถบอกว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้เมื่อไร แต่จะทำให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้”

คุณหญิงกัลยา ยอมรับว่า การยกร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ เนื้อหาส่วนใหญ่คือการแก้ไขกฏหมาย ซึ่งมีความล่าช้าอย่างมากเนื่องจากมีความเห็นต่างหลายส่วน การนำเสนอครั้งนี้เป็นจังหวะที่ดีในการรับทราบปัญหาและรับข้อเสนอไปดำเนินการต่อได้ตรงกับความต้องการ พร้อมกับเสนอว่าหาก ภาคีเพื่อการศึกษาไทย สามารถเดินหน้าโจทย์ไหนได้ก่อน ศธ. ก็จะนำมาศึกษาเพื่อให้เกิดระบบสนับสนุนต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม