ครูศูนย์เด็กเล็ก กทม. โอด เงินเดือนน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ หวังได้ผู้ว่าฯ ให้ความสำคัญ

“ชีวิตครูผู้ดูแลเด็กของ กทม.” สุดช้ำ ถูกจ้างรูปแบบอาสา ภาระหนักไม่มีปรับเงินเดือน ลางานถูกหักรายวัน ไร้สวัสดิการมั่นคง หวัง “ผู้ว่าฯ คนใหม่” มองเป็นบุคลากรการศึกษา

The Active ได้รับเสียงสะท้อนของผู้บริหารและอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 2 แห่งในเขตดุสิตและเขตบางกอกน้อย หลังพบว่า ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กว่า 1 ใน 4 ให้ความสำคัญกับการเสนอนโยบายสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่เกิดจนแก่ โดยจะยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของ กทม. ที่มีอยู่กว่า 290 แห่งให้มีคุณภาพ

นัยนา ยลจอหอ ประธานชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กทม. ในฐานะหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนสังกัด กทม. ทำหน้าที่เป็นสถานรับเลี้ยงและส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่มีอายุระหว่าง 2-6 ปี มีอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก ทำหน้าที่เปรียบเสมือนครูปฐมวัย โดยสำนักพัฒนาสังคม กทม. จ้างงานในลักษณะลูกจ้างชั่วคราวด้วยอัตราเงินเดือนที่แตกต่างกันตามวุฒิการศึกษา คือ ม.6 หรือ ปวช. ได้รับ 8,600 บาท , อนุปริญญา หรือ ปวส. ได้รับ 10,000 บาท และปริญญาตรี ได้รับ 15,000 บาท ไม่มีปรับขึ้นเงินเดือนตลอดอายุการทำงาน ไม่มีปิดเทอม และหากลาหยุดงานจะถูกหักค่าจ้างรายวัน

สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม มีครูอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก จำนวน 3 คน อายุงานตั้งแต่ 27 ปี, 17 ปี และ 5 ปี เมื่อปี 2563 มีเด็กในความดูแลเกือบ 30 คน ปัจจุบันเหลือเด็กในความดูแล 18 คน คาดว่าเป็นผลกระทบจากจำนวนประชากรเกิดน้อยลงและเด็กย้ายกลับภูมิลำเนาหลังมีมาตรการปิดสถานศึกษาป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กยังคงทำงานดูแลเรื่องการจัดส่งอาหารและกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทางไกล

“การเป็นศูนย์เด็กเล็กในสังกัด กทม. จุดแข็งไม่ค่อยมีหรอก เพราะขาดโอกาสหลาย ๆ อย่าง เช่น การเป็นครูก็ไม่ได้มีตำแหน่งครูแต่เป็นตำแหน่งอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก ฉะนั้นสิทธิสวัสดิการไม่มีอะไรเลย มีแค่ประกันสังคมที่เรามองว่าดูแลแค่ในเบื้องต้นและครูร่วมจ่าย ทำไมผู้ว่าฯ ไม่หยิบยื่นสิทธิสวัสดิการให้เป็นระบบเหมือนครูโรงเรียนสังกัด กทม. ครูของเราวุฒิปริญญาตรีกินเงินเดือนหมื่นห้ากี่ปีกี่ชาติก็ยังหมื่นห้าเหมือนเดิม ส่วนเราเป็นประธานชุมชนรับหน้าที่หัวหน้าศูนย์โดยตำแหน่งไม่มีเงินเดือน ทำงานด้วยจิตอาสาเหมือนกัน”

นัยนา กล่าวต่อไปว่า การยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของ กทม. สามารถทำได้ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งปัจจุบัน กทม. สนับสนุนการทำงานบางส่วน คือ เงินเดือนอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก ค่าอาหารกลางวันเด็กรวมอาหารเสริมนมคนละ 20 บาทต่อวัน และเงินอุดหนุนทั่วไปจ่ายตามจำนวนเด็กซึ่งเป็นจำนวนเงินเล็กน้อยไม่สามารถนำมาใช้บริหารจัดการด้านการพัฒนาคุณภาพได้ตามความคาดหวังของชุมชน 

“แต่ละสัปดาห์เราเก็บเงินเด็กเพิ่มคนละ 100 บาท เพื่อให้มีเงินมาจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ตอนนี้หลอดไฟขาด ฝ้าเพดานรั่วแม้แต่ค่าอินเทอร์เน็ต ชุมชนต้องหาเงินมาจ่ายเอง ก็อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. แก้ระบบใหม่ ทำให้เข้าสู่ระดับไม่ต้องถึงขั้นอินเตอร์ แต่เข้าสู่ระดับที่เราจะไปแข่งกับเขาได้ ก็อยากเสนอ 3 เรื่อง 1.ค่าตอบแทนและสวัสดิการครูผู้ดูแลเด็ก 2.ค่าอาหารเด็ก 3.งบประมาณพัฒนาศูนย์”

สอดคล้องกับ ณัฏฐณิชา จันทร์หอมชื่น อาสาสมัครผู้ดูแลเด็กประจำศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนพิทักษา เขตบางกอกน้อย กทม. ซึ่งมีเด็กในความดูแลเกือบ 300 คน เปิดเผยกับว่า เธอพยายามพัฒนาตนเองในระหว่างทำงานจนสามารถสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ในสาขาการศึกษาปฐมวัย ซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนพิทักษา มีครูอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก 32 คน กว่าครึ่งหนึ่งพยายามพัฒนาศักยภาพด้วยการเรียนต่อเช่นกัน แม้จะมีความภาคภูมิใจกับคำว่าอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก แต่ก็อยากได้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่สอดคล้องกับค่าครองชีพมากกว่านี้

“เราภูมิใจในคำว่าอาสาสมัคร แม้จิตวิญญาณในการทำงานจะไม่แตกต่างจากความเป็นครู เรารู้สึกว่าการบริหารงาน กทม. ยังมองข้ามบริหารงานของศูนย์เด็กเล็ก เราก็ไม่เชิงเรียกร้องแต่อยากเสนอถึงผู้ว่าฯกทม. คนใหม่ที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหาร อยากให้มองมาถึงศูนย์เด็กเล็กด้วย เรารู้กันอยู่แล้วว่าเด็กเล็ก ๆ คือช่วงโอกาสทองในการส่งเสริมพัฒนาการ ไม่อยากให้มองข้ามครู เราไม่ได้ติดใจชื่อตำแหน่งเพียงแต่อยากให้ลงมาดูสวัสดิการที่เหมาะสม ถ้าครูเรามีคุณภาพชีวิตที่ไม่มั่นคง ก็จะมีครูรุ่นใหม่อยากเข้ามาทำงานที่ศูนย์เด็ก ตอนนี้ครูอาสาสมัครไม่มีวันลา เจ็บป่วยมาทำงานไม่ได้ก็โดนหักเงินเดือน”

ณัฏฐณิชา กล่าวต่อไปว่า ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนพิทักษาเป็นศูนย์ฯ ขนาดใหญ่ ที่สำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ ให้การรับรองในระดับดีเยี่ยม แต่การบริหารจัดการก็พบข้อจำกัดด้านการสนับสนุนงบประมาณจาก กทม. ไม่เพียงพอเช่นกัน ซึ่งการพัฒนาคุณภาพที่เกิดขึ้นมาจากผู้บริหารระดมความร่วมมือภาคส่วนต่าง ๆ ให้การสนับสนุนตามการร้องขอ ขณะที่อาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก มีภาระรับผิดชอบตั้งแต่ทำความสะอาด เตรียมพื้นที่กิจกรรมการเรียนรู้ รวมถึงประสานงานและเป็นที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือผู้ปกครองในการแก้ปัญหาให้กับเด็ก

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม