ครอบครัวยากจนรายได้ลด 7% กสศ. หวั่นเหลื่อมล้ำ ฉุดรั้งการแข่งขันประเทศ เสนอโมเดลช่วยเหลือถ้วนหน้าปฐมวัย คู่ขนานพุ่งเป้ายากจน
จากสถานการณ์โควิด19 เด็กๆ ไม่ได้เผชิญปัญหาแค่เรื่องการเรียนรู้ถดถอยเท่านั้น ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเองก็สูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะครอบครัวยากจนที่พบว่า มีรายได้ลดลง 7% หลังสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้รายจ่ายด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย คิดเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ The Active สัมภาษณ์ อ.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ซึ่งมีข้อเสนอให้เร่งช่วยเหลือเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ฟื้นฟูความรู้ที่ถดถอย โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจน เพราะหากช้าไปอาจทำให้เด็กเหล่านี้สูญเสียโอกาสทางการศึกษาในระยะยาว
ครอบครัวยากจน กทม. รายได้ลดลง 7% หลังสถานการณ์โควิด-19
อ.ภูมิศรัณย์ ระบุว่า กทม.มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย กับคนจน สูงที่สุดในประเทศไทย จากข้อมูลการคัดกรองนักเรียนทุนเสมอภาค สังกัด สพฐ.ใน กทม. พบว่า ครอบครัวของเด็กยากจนพิเศษของ กทม. มีรายได้เพียง 1,964 บาทต่อคนต่อเดือน ต่ำกว่าเส้นความยากจนของสภาพัฒน์ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ทำให้รายได้ของครัวเรือนยากจนทั้งประเทศลดลง 7% เมื่อเทียบกับก่อนสถานการณ์โควิด19
คนกรุงเทพฯ แบกภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่า ต่างจังหวัด 1.5 เท่า
นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลจากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนล่าสุดในปี 2564 จากการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) พบว่า พ่อแม่ใน กทม. มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของบุตรหลานวัยเรียนอายุต่ำกว่า 15 ปี เฉลี่ยปีละ 37,257 บาท แบ่งเป็น
- ค่าเล่าเรียน และค่าธรรมเนียม 26,247 บาท
- ค่าเครื่องแบบ 2,072 บาท
- ค่าหนังสือ เครื่องเขียน และอุปกรณ์ 2,175 บาท
- ค่าเดินทาง 6,763 บาท
ตัวเลขเฉลี่ยเหล่านี้สูงกว่าทุกพื้นที่ของประเทศไทยถึง 2 เท่า
“เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใน กทม. มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเฉลี่ย 37,257 บาท/คน/ต่อปี ตัวเลขเฉลี่ยเหล่านี้ สูงกว่าทุกพื้นที่ของประเทศไทยถึง 2 เท่า”
ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค
รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)
เสนอเพิ่มสวัสดิการเด็กยากไร้ กทม. และอุดหนุนเด็กปฐมวัย “ถ้วนหน้า”
กสศ. วิเคราะห์ข้อมูล และสะท้อนความจำเป็นต้องช่วยเหลือครอบครัวฐานะยากจนใน กทม. จากสถานการณ์เงินเฟ้อ วิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้คนกลุ่มนี้เผชิญปัญหาค่าครองชีพสูง ขณะที่นโยบายเรียนฟรีของไทย 15 ปีก็ยังไม่ครอบคลุมในรายการต่าง ๆ อย่างเพียงพอ มีข้อเสนอให้เพิ่มทรัพยากรทางการศึกษาสำหรับเด็กที่ด้อยโอกาส รวมถึงเพิ่มการจัดสรรสวัสดิการทางสังคมอื่นๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตเด็ก กทม. เช่น ลดรายจ่ายการเดินทาง ดัวยบัตรสวัสดิการนักเรียน ยกระดับคุณภาพศูนย์พฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. ซึ่งมีอยู่ราว 290 แห่ง เพื่อดูแลบุตรหลานครอบครัวยากจน คนหาเช้ากินค่ำใน กทม. รวมถึงกลุ่มคนมีรายได้น้อย โดยเพิ่มมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เพิ่มสวัสดิการครูพี่เลี้ยง และอาสาสมัคร
โดย กสศ. กำลังร่วมกับ สำนักการศึกษา กทม. บูรณาการฐานข้อมูลนักเรียน เพื่อเตรียมการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาคในปี 2565 เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้กับครอบครัวยากจน
อ.ภูมิศรัณย์ ย้ำว่า นอกจากนั้นในส่วนของปฐมวัย การให้สวัสดิการเด็กเล็ก ถือเป็นเรื่องสำคัญ และควรให้แบบถ้วนหน้า เพราะเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญ อีกทั้งยังมีผู้ที่หลุดออกจากระบบการรับความสนับสนุนอยู่มาก งานวิจัยสำคัญ ๆ ทุกชิ้นล้วนระบุชัดว่า การลงทุนในระดับเด็กปฐมวัย ต้องได้รับครบในทุกมิติ เช่น อาหารที่มีโภชนาการ ศูนย์เด็กเล็ก ครูพี่เลี้ยง ที่มีคุณภาพ ในการที่จะนำไปสู่การพัฒนาทุนมนุษย์และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้ในระยะยาว
“การลงทุนเด็กปฐมวัย จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจได้ในระยะยาว มาตรการหลายอย่างจึงควรมุ่งเน้นให้ปฐมวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การมีศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ ครูพี่เลี้ยงได้รับการอบรมที่เพียงพอ โดยสรุป คือ การศึกษาและคุณภาพการศึกษา นับตั้งแต่ปฐมวัยไปจนตลอดช่วงอายุจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไปรอดได้...
แต่ปีล่าสุด ขอ งบประมาณไป 30,000 ล้านบาท ทางสำนักงบฯ อนุมัติได้ครึ่งเดียว”
ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค
รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)
ความเหลื่อมล้ำการศึกษาที่รุนแรงมากขึ้น ฉุดรั้งการแข่งขันอื่น ๆ ของไทย
อ.ภูมิศรัณย์ ยังได้ฉายภาพความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทยที่ค่อนข้างรุนแรงมากขึ้น อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต่างกันของการเข้าถึงทรัพยากร ที่แตกต่างกันระหว่างเมืองกับชนบท โรงเรียนขนาดใหญ่กับขนาดเล็ก ที่เรามักจะเห็นความเหลื่อมล้ำค่อนข้างชัดเจน ครอบครัวที่มีฐานะยากจนจะมีโอกาสผ่านระดับการศึกษาสูงๆ ลดลง เช่น เด็กที่มาจากระดับเศรษฐฐานะ 10% ล่างสุดมีโอกาสจะจบ ม.3 และเรียนต่อสูงขึ้นไปลดลง โอกาสเรียนต่อมหาวิทยาลัยยิ่งน้อยลงเหลือเพียง 5% หากเทียบกับคนมีฐานะดีซึ่งมีโอกาสเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาได้ถึง 95% ส่งผลถึงโอกาสหลุดพ้นจากความยากจนข้ามรุ่นที่มีน้อย หากมองในภาพใหญ่ของประเทศ การที่ประชากรส่วนใหญ่ขาดการศึกษาที่ดี แรงงานมีทักษะไม่พอ ไม่สามารถสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจได้ ส่งผลทำให้ไทยยังคงติดอยู่ในกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง
“เด็กจากครอบครัว 10% ล่างสุด มีโอกาสจบ ม.3 และเรียนต่อน้อยลง มีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัยไม่เกิน 5% สวนทาง เด็กที่มีฐานะดีซึ่งมีโอกาสเข้าสู่อุดมศึกษาถึง 95% ส่งผลต่อการเลื่อนชั้นทางสังคม…
ที่ประเทศไทยยังอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ส่วนหนึ่งมาจาก การขาดโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาในระดับสูง ของประชากรกลุ่มยากจน”
ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค
รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)
อ.ภูมิศรัณย์ ยกตัวอย่างดัชนีความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เช่น ดัชนีการแข่งขันจาก World Economic Forum (WEF) หรือสถาบัน IMD เห็นชัดว่า ระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น การแข่งขันด้านธุรกิจ บริการของรัฐบาลโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะมีมิติของความสามารถด้านการศึกษาของประเทศถูกวัดรวมด้วย โดยพบว่า ดัชนีการศึกษาของไทย มักจะเป็นตัวฉุดรั้งดัชนีในภาพรวมของประเทศ ในขณะที่ความสามารถในการแข่งขันด้านอื่นของไทยอาจจะอยู่ที่อันดับต้นๆ หรือกลาง ๆ แถวๆ อันดับ 20-30 แต่ดัชนีด้านการศึกษาจะอยู่ในอันดับรั้งท้าย แถวๆ อันดับ 53-56 จากหกสิบกว่าประเทศเสมอๆ สถานการณ์เหล่านี้น่าจะรุนแรงมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด19 ซึ่งมีเด็กจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบการศึกษายังไม่ได้กลับเข้ามาเรียนต่อ เพราะไม่มีโอกาสกลับเข้าโรงเรียน หรือ สถานการณ์ของการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss) หรือ การที่เด็กจำนวนมากต้องเผชิญกับผลกระทบทางจิตใจอันเนื่องจากสถานการณ์โควิดและการเรียนทางออนไลน์
ข้อดี-ข้อเสีย การอุดหนุนเงินแบบถ้วนหน้า VS พุ่งเป้า
ในฐานะที่ กสศ.ถูกตั้งคำถามถึงการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้าไปยังเด็กจำนวนหนึ่ง The Active ได้พูดคุยประเด็นนี้กับ อ.ภูมิศรัณย์ ซึ่งยอมรับว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากมองถึงข้อดี การอุดหนุนโดยเน้นไปที่เด็กยากจนพิเศษ จะเป็นการช่วยเติมเต็มความช่วยเหลือที่เด็กกลุ่มนี้ไม่เคยได้รับหรือเคยได้รับแต่ยังไม่เพียงพอ เป็นการอุดรอยรั่วที่เกิดขึ้นจากระบบการจัดสรรงบแบบถ้วนหน้าภายใต้โครงการเรียนฟรี 15 ปีในระบบปกติ โดยนอกจากการให้เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขที่เด็กต้องเข้ามาเรียนหนังสือแล้ว กสศ.จะทำการจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ดำเนินการติดตาม ส่งต่อข้อมูลความช่วยเหลือให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ ได้ รวมถึงการเข้าไปดำเนินการสนับสนุนเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายโดยใช้มาตรการพิเศษต่าง ๆ ผ่านการทำงานร่วมกับครู โรงเรียน และชุมชนด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อเสียที่เกิดจากเด็กที่อาจจะตกสำรวจ หรือนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือแต่ไม่ได้รับการคัดเลือก เนื่องจากแบบสำรวจอาจจะไม่สามารถสะท้อนความจำเป็นได้หมด ทำให้มีสถานการณ์ที่มีเด็กยากจนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ แม้ กสศ. ต้องการที่จะสนับสนุนได้อย่างถ้วนหน้า แต่เนื่องจากข้อจำกัดของงบประมาณ จึงทำให้ไม่สามารถช่วยสนับสนุนเงินทุนเสมอภาคให้กับนักเรียนยากจนได้ทั้งหมด โดยหวังว่าในอนาคต กสศ.จะสามารถทำการช่วยเหลือหรือส่งต่อระบบการทำงานนี้เพื่อให้เด็กกลุ่มยากจนมีโอกาสได้เข้าถึงความช่วยเหลือมากขึ้น
เสนอ โมเดลช่วยเหลือถ้วนหน้าปฐมวัย คู่ขนานพุ่งเป้ายากจน
อ.ภูมิศรัณย์ มีข้อเสนอไปถึงการแก้ปัญหาด้านการศึกษา โดยเห็นด้วยกับการช่วยเหลือแบบถ้วนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่ม เด็กเล็ก เด็กปฐมวัย ซึ่งปัจจุบันยังใช้หลักการอุดหนุนเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้น้อย โดยมองว่าการที่มีนโยบายเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า ผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด คือ ครอบครัวยากจน ซึ่งปัจจุบันยังมีเด็กเล็กเป็นจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบการรับความช่วยเหลือ นอกจากนั้นการสนับสนุนนโยบาย เช่น การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ ก็มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับปฐมวัย ซึ่งได้มีการวิจัยพบว่า เป็นช่วงวัยที่มีความคุ้มค่าในการลงทุนมากที่สุด
ในขณะที่สำหรับการศึกษาระดับพื้นฐาน นโยบายเรียนฟรี 15 ปี โดยกรอบแนวคิดถือว่าดี แต่ยังต้องปรับในบางประเด็น เช่น การใช้อัตราเงินอุดหนุนที่ไม่ได้ปรับขึ้นนานกว่า 13 ปีแล้ว จึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมไปถึงการปรับแนวทางในการอุดหนุนให้มีความเสมอภาคมากขึ้น โดยเน้นการช่วยเหลือเด็กที่มีความด้อยโอกาส ขาดแคลน ในอัตราที่สูงกว่าเด็กกลุ่มปกติ หรือมีระบบรับประกันว่าโรงเรียนกลุ่มขาดแคลนด้อยโอกาสจะมีระดับทรัพยากรที่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ควรมีการช่วยเหลือแบบคู่ขนานไปยังเด็กกลุ่มยากจนพิเศษ โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หากมีการกระจายงบประมาณไปยังเด็กหรือโรงเรียนในกลุ่มยากจนด้อยโอกาสมากขึ้น กระจายครูและทรัพยากรมากขึ้น ก็จะเป็นเรื่องที่ช่วยขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่