สพฐ. จับมือ กสศ. ถอดบทเรียนโครงการ TSQP ชวนผู้อำนวยการ และครู หาคำตอบเคลื่อน TSQP ให้ได้ผลลัพธ์เป็นคุณภาพเด็ก และเยาวชนศตวรรษที่ 21 สพฐ.ย้ำ การช่วยเหลือ-พัฒนาเด็กรายบุคคล และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นเรื่องเร่งด่วนของการศึกษา ในยุคโควิด-19
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ 5 องค์กรภาคีเครือข่าย ได้แก่ มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา และมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เพื่อเด็กทุกคน : บทเรียนจากโรงเรียนพัฒนาตนเอง รุ่น 1” ภายใต้ โครงการบริหารจัดการโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP รวมกันแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานต้นสังกัด องค์กรเครือข่าย และโรงเรียน สร้างกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนที่จะส่งผลต่อนักเรียนต่อไป ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา
ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา มีโจทย์ทางการศึกษาหลายอย่างที่เป็นความท้าทายกับโรงเรียน ครู และนักเรียน แต่สิ่งที่เชื่อมั่นเสมอคือการที่ กสศ. ได้รับความร่วมมือจาก สพฐ. เข้าเป็นภาคีและแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน ทำให้เชื่อมั่นว่าโรงเรียนสามารถพัฒนาได้ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงมีอยู่ในทุกโรงเรียน และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนจะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับที่อื่นได้ด้วยเช่นกัน ทำให้เราพัฒนาโครงการ TSQP ขึ้นมา
โดยความตั้งใจจริงของ กสศ. และ สพฐ. ที่พร้อมสนับสนุนให้สิ่งดี ๆ เหล่านี้เกิดขึ้น สำหรับความคิดเห็น โดยข้อเสนอที่แลกเปลี่ยนกัน 2 วันนี้ ทีมงานจะกลั่นกรองและจัดทำเป็นเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ข้อเสนอต่อประชาชนและสังคมไทย ตลอดจนสื่อมวลชนต่อไป เพื่อให้การศึกษาไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ภายใต้การกลับมาสู่การเปิดเรียนปกติได้ เป็นปีการศึกษาแรกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุถึง การดำเนินโครงการ TSQP ซึ่งมีโรงเรียนสังกัด สพฐ. เข้าร่วมมากว่า 3 ปี เห็นผลลัพธ์ที่เกิดเป็นผลสำเร็จกับนักเรียนชัดเจน ได้เห็นความพยายามของผู้บริหารโรงเรียน และครู โดยเฉพาะภาคีเครือข่ายที่นำรูปแบบนวัตกรรม และตัวอย่างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมาช่วยพัฒนาโรงเรียนให้เกิดระบบการทำงานที่ดีในโรงเรียน
โดย สพฐ. ได้ให้นโยบายกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และทุกสำนักในส่วนกลางที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาโรงเรียน เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้ ให้ความร่วมมือและสนับสนุนโรงเรียนในโครงการฯ เพื่อให้การพัฒนาเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน จึงขอให้โรงเรียนในสังกัดของ สพฐ. ที่เข้าร่วมโครงการฯ มั่นใจว่า สพฐ. พร้อมให้การสนับสนุนโรงเรียนทุกแห่ง ให้เดินหน้าอย่างเต็มที่ที่จะพัฒนา และนำนวัตกรรม ประสบการณ์จากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ไปขยายผลกับโรงเรียนเครือข่าย หรือพื้นที่อื่น ๆ
“เรื่องสำคัญเร่งด่วนขณะนี้ คือ การที่เด็กสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้เพราะโควิด จึงหวังว่าทุกโรงเรียนจะร่วมมือกันแก้ปัญหา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กทุกคน
ลดการเรียนรู้ที่ถดถอย การเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้การช่วยเหลือและพัฒนาเด็กรายบุคคล และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
ซึ่งเป็น นโยบายการของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะช่วยผู้เรียนทุกคนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าทุกคนทำได้ และอยากให้ทุกท่านทำอย่างมั่นใจ เพราะ สพฐ. และ กสศ. พร้อมให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องต่อไป”
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ ระบุว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการมาร่วมกันทำความเข้าใจว่าโรงเรียนพัฒนาตนเอง ว่าควรดำเนินการอย่างไรให้สอดคล้องกับบริบทของตนเองหลังเสร็จสิ้นโครงการฯ
เนื่องจากที่ผ่านมา 3 ปี มีโค้ชเข้าไปช่วยหนุนเสริมโรงเรียน แต่เป้าหมายของโครงการฯ คือ การพัฒนาเยาวชนของชาติ โดยมีความเชื่อมั่นว่า โรงเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้หากได้รับการหนุนเสริมโดยไม่ใช่การบังคับบัญชา จึงชวนโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลาง โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาเกือบ 800 แห่ง ดูแลเด็กด้อยโอกาส หรือ คิดเป็น 10% ของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางทั่วประเทศกว่า 8,000 แห่ง มาเข้าโครงการหนุนเสริม โดยใช้ เครื่องมือ 6Q ได้แก่ Q-Coach, Q-Goal (School Goal), Q-Info, Q-PLC, Q-Network, Q-Classroom วางเป้าหมายให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนประกอบด้วย V-A-S-K คือ V – values ค่านิยม, A – attitude เจตคติ, S – skills ทักษะ, K – knowledge ความรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากวิธีการสอนที่ดีที่สุด คือ การทำให้ดู
จุดสำคัญ คือ การตั้งคำถามที่ใช้ Growth Mindset ว่าจะช่วยให้โรงเรียนพัฒนายิ่งขึ้นได้อย่างไร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนต้องเป็น School Transformation ที่เป็นกระบวนการที่ไม่จบสิ้น และไม่ขึ้นอยู่กับโครงการฯ เพราะกระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้น 80% เกิดจากกระบวนการภายในโรงเรียน ส่วนอีก 20% รับการหนุนเสริมจากภายนอก โรงเรียนจึงต้องยกระดับตนเองขึ้น
นอกจากนี้ อ.วิจารณ์ ยังเชื่อว่า โรงเรียนต้องมีกระบวนการเรียนรู้ภายในโรงเรียน คือ Experiential Learning เรียนรู้จากการปฏิบัติและประสบการณ์ หลักการสำคัญ คือ ประสบการณ์ตรงจากการทำและสังเกต (Concrete Experience) นำไปสู่การสังเกตโดยใคร่ครวญ (Reflective Observation) ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานาน หรือเกิดขึ้นหลังจากได้รับประสบการณ์หรือการสังเกตก็ได้ จากนั้นไปสู่การตั้งทฤษฎีหรือหลักการเอง (Abstract Conceptualization) แล้วนำหลักการหรือทฤษฎีใหม่ไปลองใช้ (Active Experimentation) ทั้งหมดนี้ครูควรได้ฝึกให้กับลูกศิษย์ ครูได้ฝึกฝนโดยฝึกให้กันและกัน
โดยหัวใจสำคัญของ โรงเรียนพัฒนาตนเอง คือ เป็น Learning Organization เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ
เรียนรู้ผ่านการสะท้อนคิด (reflective learning) สะท้อนคิดสู่หลักการ (conceptualization) แล้วนำไปทดลองว่าเกิดผลจริงหรือไม่ เป็นการย้ำว่า โรงเรียนพัฒนาตนเองต้องเป็นโรงเรียนแห่งความสงสัยซึ่งสำคัญมาก เพราะการเรียนรู้ที่เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป หรือสอนให้เชื่อเพียงความรู้สำเร็จรูปเป็นการปิดกั้นปัญญา ดังนั้น ต้องไม่ปิดกั้นความช่างสงสัยของเด็ก
ซึ่งโรงเรียนพัฒนาตนเองต้องจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สิ่งสำคัญ คือ Q classroom ที่ไม่ใช่ห้องเรียนธรรมดา แต่ต้องเป็นห้องเรียนสมรรถนะสูง (high-functioning classroom) คือเป็นมากกว่าห้องเรียน และโรงเรียนพัฒนาตนเองทั้งระบบต้องไม่หยุดเมื่อโครงการฯ สิ้นสุด การเรียนรู้และพัฒนาต้องไม่มีวันจบ