กรมอนามัยชี้ หลังโควิด-19 พบ เด็กไทยพัฒนาการล่าช้า 25%

เด็กปฐมวัยทักษะขั้นพื้นฐานขาดหายไปในทุกมิติ ลืมวิธีการอ่านออกเขียนได้ บางคนถึงขึ้นจำตัวอักษรไม่ได้ กสศ. ร่วม เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง นำร่องสอนเชิงรุก (สมรรถนะ) คาด 6 เดือนแก้ภาวะกล้ามเนื้อบกพร่องในเด็กประถมต้น บทพิสูจน์ไทยให้ความสำคัญเด็กปฐมวัย ก่อนสูญเสียทั้งรุ่น

ผลสำรวจพฤติกรรมเด็กเล็ก ชั้น ป. 2 จำนวน 1,918 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด คือ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส พบ 98% ของเด็ก ๆ แรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กวัยเดียวกัน และเป็นเรื่องยากที่จะกลับมาฟื้นฟูให้เด็กกลับมามีโอกาสพัฒนาทักษะได้ดีเท่าเดิม ขณะที่กรมอนามัย ชี้ หลังโควิด-19 เด็กไทยพัฒนาการล่าช้า 25% จากทั่วประเทศ

สถานการณ์ ภาวะกล้ามเนื้อบกพร่องในเด็กประถมต้น

วันนี้ (31 ต.ค.65) สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS) เพื่อประเมินความพร้อมเด็กปฐมวัย สำรวจพบเด็กเล็กลืมทักษระอ่านออกเขียนได้สอดคล้องกับ ข้อค้นพบของ โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองที่นอกจากการสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียน ทีมโค้ชโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบเด็กมีพัฒนาการบกพร่องทางกล้ามเนื้อ เช่น การพบรูปแบบการจับดินสอที่ไม่ถูกวิธี

ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ โค้ชโครงงานฐานวิจัย (ป.4-ม.3) โครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเองมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ระบุ แรงบีบมือของเด็กที่อยู่เกณฑ์ปกติ จะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม แต่หลังลงสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียน 6 จังหวัดภาคใต้ โดยใช้เครื่องวัดแรงบีบมือทดสอบวัดสมรรถภาพความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กของ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด คือ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส พบ 98% ของเด็กๆ แรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กวัยเดียวกัน ซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม หากไม่เร่งพัฒนาอาจจะสูญเสียโอกาสการพัฒนาได้อย่างเต็มที่ หากปล่อยไป จะยิ่งเกิดปัญหาซับซ้อนในช่วงวัยนี้มากขึ้น โดยมีความหวังให้โรงเรียนนำร่อง ขยายผลไปสู่เพื่อนครูด้วยกัน เพื่อชวยกันแก้ปัญหาเด็กพัฒนาถดถอยอย่างต่อเนื่อง

ถอดรหัสท่าทางการจับดินสอ ส่งสัญญาณกล้ามเนื้อบกพร่อง ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้

การจับดินสอผิดมีหลายวิธี ซึ่งหากดูในภาพรวมแล้วจะพบ 8 วิธีการจับดินสอที่ไม่ถูกวิธี โดยส่วนใหญ่ดินสอจะตั้งตรง ไม่ใช่แค่เด็กประถมต้นที่มีปัญหา ทุกวันนี้เด็กประถม 5 ก็ยังจับดินสอผิดวิธีได้ แม้ครูบางคนอายุ 40 ปี ก็ยังจับดินสอไม่ถูกจนกลายเป็นเขียนผิดวิธี และสาเหตุสำคัญมากจากกล้ามเนื้อมือ ไม่แข็งแรง และปลายนิ้วรับความรู้สึกไม่ดี และโควิด-19 ก็กำลังซ้ำเติมปัญหานี้ให้รุนแรงมากขึ้น

นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย ไทยมีแผนยุทธศาสตร์ เกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์ มีความร่วมมือระหว่างกระทรวงเพื่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย วางเป้าหมายมีเด็กไทยต้องมีพัฒนาการที่ดี 85% ขณะที่หลังโควิด-19 พบ เด็กไทยมีพัฒนาล่าช้าประมาณ 25% จากทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องเร่งด่วนของไทย ย้ำทุกกระทรวงฯ ควรเน้นย้ำการพัฒนาเด็กเล็ก ภายในปีหน้าประเทศไทยจะมีคนเสียชีวิต มากกว่าคนเกิดใหม่ หมายความเราอยู่ในช่วงยอดสูงสุดของจำนวนของประชากรแล้ว

ขณะที่ รศ.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย ม.หอการค้าไทย ที่ทำงานด้านเด็กปฐมวัยมาอย่างต่อเนื่อง ระบุ มีหลายจังหวัดที่พบปัญหาการวาดภาพ การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กไม่ถูกวิธีที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ ภาพรวมคือปัญหาการเรียนรู้ถดถอย หรือ Lerning Loss ที่จำเป็นต้องใช้กำลังจากหลายภาคส่วนช่วยกันแก้ปัญหา อาจารย์มองว่าปัญหานี้คือเรื่องใหญ่ที่ทิ้งร่องรอยไว้หลังการปิดโรงเรียนในยุคโควิด-19 สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) ข้อมูลจากการสำรวจเด็ก 1,400 คน พบ เด็กทำการบ้านน้อยลงในช่วงโควิด-19 และไม่ได้ไปโรงเรียน ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ และสื่อต่าง ๆ ที่อยู่เฉพาะในห้องเรียน

อาจารย์วีระชาติ ทิ้งท้ายจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเด็กที่เติบโตในช่วงโควิด-19 เพราะเด็กรุ่นนี้จะเป็นเหมือนหลุม ที่ไม่สามารถเทียบกับรุ่นพี่ กับรุ่นน้องได้ หากไม่เร่งแก้ปัญหา ภาพรวมการพัฒนาประเทศก็จะถดถอยตาม

สอนเชิงรุก หรือ “สมรรถนะ” แก้ปัญหากล้ามเนื้อมือภายใน 6 เดือน

รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ โค้ชโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง เครือข่ายวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เสนอแนวทางการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และโครงการฐานวิจัย เพราะวิทยาศาสตร์ คือ ตัวขับเคลื่อนการเรียนรู้ ขณะเดียวกันจะทำสำเร็จได้ จำเป็นต้องมีภาคีมหาวิทยาลัย และโรงเรียนร่วมมือกัน โดยเฉพาะทุนทางสังคมและการบริหารจัดการที่ใช้ข้อมูลความรู้อย่างแท้จริง การใช้โมเดลพัฒนากล้ามเนื้อมือจึงมีเป็นการนำร่องที่สำคัญ

คาดว่าภายใน 6 เดือนจะสามารถช่วยทำให้เด็กพัฒนากล้ามเนื้อได้เพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม และเป็นปกติ คือ 19 กิโลกรัม หากนำร่องได้สำเร็จ นี่จะเป็นส่วนหนึ่งของบทพิสูจน์ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการศึกษา และมีความหวังกับการแข่งขันในนานาประเทศ แต่หากไม่เร่งแก้เราอาจสูญเสียเด็กเล็กไปทั้งรุ่น

ในเวทีครั้งนี้ยังคาดหวังให้ภาคีการศึกษาได้เดินหน้าแก้ปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย ก่อนจะไปถึงความสูญเสียของเด็กทั้งรุ่น โดยย้ำว่าประเทศไทยมีงบประมาณเพียงพอที่จะให้ความสำคัญกับพัฒนาการที่สมวัยของเด็กปฐมวัย อยู่ที่เจตจำนงค์ทางการเมืองที่ชัดเจน

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด E-book ห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19 ได้ที่ https://creativeschools.eef.or.th/article-201022/

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active