กสศ.จับมือครูทั่วประเทศ สำรวจนักเรียนขาดแคลนปัจจัยทางการศึกษา ชื่นชมครูใต้ เดินเท้าเยี่ยมบ้าน ส่งต่อข้อมูล สร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา หลังพบเด็กหลุดจากระบบกลางคันกว่า 5.2 หมื่นคน
จากกรณีที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการรวบรวมข้อมูล นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ของสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา พบตัวเลขเด็กออกกลางคัน 52,808 คน เฉพาะ สพฐ. จำนวน 21,364 คนนั้น ถือว่าเป็นจำนวนที่มากค่อนข้างน่าตกใจ แต่ยังไม่แน่ใจว่า ตัวเลขดังกล่าว มาจากข้อมูลใดบ้าง ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สพฐ. ไปศึกษารายละเอียด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อไป
ทั้งนี้ที่ผ่านมา นอกจากโครงการของ สพฐ. ที่ใช้ในการติดตามเด็กกลับเข้าเรียนตามโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ในขณะนี้ยังตรงกับช่วงใกล้เปิดเทอม ครูจากสังกัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกันสำรวจ เพื่อเก็บข้อมูลเด็กนักเรียนในพื้นที่เพื่อนำมาขับเคลื่อนนโยบายการทำงานของ กสศ. โดยมีครูกว่า 400,000 คน ผู้เป็นกำลังหลักในการจัดทำข้อมูลนักเรียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าในการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตลอด 5 ปีของการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยข้อมูลจากคุณครูนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง ‘ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ ที่จะดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่กำลังประสบภาวะวิกฤตทางการศึกษาเพื่อติดตามและช่วยเหลือให้อยู่ในระบบการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง
ธิดารัตน์ บุญวิจิต ครู โรงเรียนเทศบาล ปากพนัง จ. นครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมเล่าว่า การเดินทางเข้าไปสำรวจเยี่ยมบ้านเด็กในพื้นที่ทำให้ทราบว่า เด็กบางคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างลำบาก บางคนมีบ้านอยู่ในพื้นที่ป่าโกงกาง ต้องเดินทางด้วยการเดินเท้าไปกลับบ้านเท่านั้น รถไม่สามารถเข้าถึงบ้านได้ทำให้เข้าใจว่าทำไมแต่ละวันเด็กจึงมาเรียนสาย เพราะต้องใช้เวลาเดินทางมาเรียนมากกว่าเด็กคนอื่น การได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของเด็กทำให้สามารถนำปัญหาที่ประสบอยู่มาช่วยกันหาทางออกให้กับเด็กได้ นอกเหนือจากการขอทุนเสมอภาคให้แล้ว ยังได้ช่วยกันหาวิธีแบ่งเบาและร่นระยะเวลาในการเดินทางมาเรียน ทำให้เด็กมีกำลังใจในการมาเรียนดีขึ้น และตั้งใจเรียนมากขึ้น
สุดใจ บัวงาม ครูโรงเรียน บ้านเกตรี จ.สตูล เล่าว่า การลงไปเยี่ยมบ้านทำให้ทราบว่า แม้จะมีการจัดสรรทุนเสมอภาคให้เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือแล้ว เด็กบางคนยังต้องการความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องกำลังใจหรือทางออกในชีวิต บางคนมาปรึกษาว่า ไม่สามารถเรียนต่อในระบบได้ ก็ให้คำแนะนำให้ไปเรียนการศึกษานอกโรงเรียน หรือสายอาชีพที่เหมาะสม การลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน รับฟังและช่วยแก้ไขปัญหา ส่งผลให้เด็กกลุ่มหนึ่งซึ่งต้องการความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านกำลังใจซึ่งสำคัญพอ ๆ กับเงินช่วยเหลือ กลับมามีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถมีหลักประกันในอนาคตได้
จันทร์จิรา บัวทอง ครูโรงเรียน วัดเขาลำปะ อ. ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เล่าว่า การเยี่ยมบ้านนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีเด็กนักเรียนทั้งโรงเรียนเพียง 160 คน ทำให้ทราบว่าข้อมูลของเด็กแต่ละคน ในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะที่มาจากครอบครัวยากจน ซึ่งต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กกลุ่มนี้แม้จะมีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน คือขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ก็ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่ต้องเข้าไปช่วยประคับประคอง เช่น มาจากครอบครัวที่แตกแยก มีแม่ที่ยังเป็นวัยรุ่นขาดทักษะ ในการดูแลลูก ๆ หรือประสบปัญหาว่างงาน ขาดรายได้
กนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่ากิจกรรม Thank You Teacher ถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการขอบคุณครูจากทุกโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศที่เป็นกำลังสำคัญในการลงพื้นที่สำรวจติดตาม บันทึกข้อมูลนักเรียนร่วมกับ กสศ. ทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับนำมากำหนดแนวทางการช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ยังขาดแคลนปัจจัยในการศึกษามากกว่า 1.3 ล้านคนทั่วประเทศ มีครูร่วมคัดกรองถึง 342,749 คน มีโรงเรียนในสังกัดต่าง ๆ ร่วมคัดกรองเด็กถึง31,175 แห่ง
โดยครูจากสังกัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ถือเป็นต้นทางสำคัญของข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับนำไปใช้แก้ปัญหาเด็ก ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นด่านหน้าสำคัญที่สะท้อนปัญหาในพื้นที่ เพราะได้เข้าไปเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ในแต่ละแห่งในพื้นที่จริง แนวทางในการเก็บข้อมูลจากพื้นที่ต่าง ๆ ของครูถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลเด็กในพื้นที่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลที่ถูกบันทึกและนำมาเก็บไว้ในระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของ กสศ. นำไปช่วยเหลือในมิติต่าง ๆ ข้อมูลที่ได้มีพลังที่สามารถผลักดันนโยบายสำคัญ ๆ เช่น การเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละปี เช่น จากปีแรกที่นักเรียนทุนเสมอภาคได้รับเงินอุดหนุนปีการศึกษาละ 1,600 บาท แต่ข้อมูลจากครูช่วยให้เห็นว่าเงินจำนวนดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อความต้องการและความจำเป็นและถูกนำมาผลักดันเป็นนโยบาย ขยับตัวเลขเพิ่มขึ้นมาเป็นปีการศึกษาละ 3,000 บาทและจะเพิ่มเป็นปีละ 3,480-4,200 บาทในปีการศึกษา 2567-2569
นอกจากนี้ ข้อมูลจากครูยังทำให้ทราบว่าสถานการณ์ต่าง ๆ เช่นช่วงโควิด-19 ระบาด เด็ก ๆ ในพื้นที่ขาดแคลนและต้องการทรัพยากรอะไรที่จำเป็นต่อการเรียนรู้บ้าง ทำให้พบนักเรียนจำนวนมากที่ถูกตัดขาดจากการเรียนรู้ในช่วงการระบาด เนื่องจากในที่อยู่อาศัยไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอุปกรณ์สื่อสาร หรือไม่มีอินเทอร์เน็ต ยังเข้าไม่ถึงการดูแลทางสาธารณสุข และขาดแคลนอาหาร ข้อมูลที่ได้จากครูสามารถนำไปใช้ระดมทุนร่วมกับภาคเอกชน และสามารถสร้างความร่วมมือในการวางระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน รวมถึงถูกนำไปต่อยอดการสร้างระบบดูแลช่วยเหลือไม่เพียงเฉพาะกับนักเรียนทุนเสมอภาคเท่านั้น แต่ยังใช้ดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ครอบคลุมเด็กเยาวชนทุกคนในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ
“การเยี่ยมบ้านเพื่อจัดทำข้อมูลส่งเข้าสู่ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจึงน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะทำให้เห็นรายละเอียดปัญหาของเด็กแต่ละคนที่ไม่เคยทราบมาก่อน สามารถนำปัญหา ที่พบมาปรึกษา หาทางออก สะท้อนไปถึงผู้ใหญ่ หรือภาคส่วนอื่น ๆ ที่ เกี่ยวข้อง กับปัญหาที่ละเอียดอ่อนให้เข้ามาช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องได้”
กนิษฐา คุณาวิศรุต
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28-29 เม.ย.2566 กสศ.ได้จัดกิจกรรม “Thank You Teacher ขอบคุณครูทุนเสมอภาค”ภายใต้ธีมงาน สานพลังทีม เสริมพลังใจ สร้างสรรค์โอกาส เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ ครูที่อาสามาจากทุกหน่วยงานต้นสังกัดการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเข้ามาดูแลนักเรียนในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือ ทุนเสมอภาค จนได้ข้อมูลเด็กนักเรียนในพื้นที่เพื่อนำมาขับเคลื่อนนโยบายการทำงานของ กสศ. มาตลอด 5 ปีของการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยกิจกรรมนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 หลังจากจัดไปแล้วที่เวทีภาคเหนือ