เครือข่ายการศึกษา ชี้ ไทยลงทุนมากแต่ผลลัพธ์น้อย

วอนภาครัฐมองเห็นถึงความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ความยากจนซ้ำซ้อน หวั่นการศึกษาพัฒนาเด็กไม่ทันรับมือสังคมสูงอายุ แนะจัดสรรงบใหม่-ใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือเด็กให้ตรงจุด

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมมือ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. และเครือข่ายครู จัดเวทีสัมมนาวิชาการ Education Journey Forum ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “แบ่งทรัพยากรอย่างไร ให้การศึกษาไทยไม่เหลื่อมล้ำ” เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา

ศุภวัจน์ พรมตัน (ครูมะนาว) กล่าวในบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ครูแถแพ้ไม่เป็น” สะท้อนความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาไทยที่ครูตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งต้องแบกรับแทนทุกเรื่อง จนเป็นที่มาของเฟซบุ๊กเพจของเขาที่ชื่อว่า ‘อะไร ๆ ก็ครู’ ครูมะนาวได้เล่าเรื่องราวผ่านประสบการณ์ส่วนตัวที่ตนเคยเป็นครูจบใหม่ไฟแรงจาก กทม. ที่ต้องมาสอน รร. ในพื้นที่ห่างไกล แถมตนเองเรียนจบในสาขามัธยมศึกษา แต่ต้องบรรจุเป็นครูชั้นประถมฯ ซึ่งต้องสอนทุกวิชา และยังมีภาระงานที่นอกเหนือจากการสอน ต้องแบกรับภาระงานประเมิน จนทำให้ครูคนหนึ่งไม่สามารถมีประสิทธิภาพการสอนได้อย่างเต็มที่

“ความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดเจน คือ เวลามีการแข่งขันกิจกรรมภายนอก ที่มีตั้งแต่การเดินทาง ที่พัก การเรียนการสอนช่วงไปแข่งขันกิจกรรม อาหารการกิน และอุปกรณ์การแข่งขันในการสนับสนุนนักเรียนนั้น มีความแตกต่างกันไปในแต่ละโรงเรียนว่ามีงบประมาณอยู่ในระดับใด …สิ่งที่ครูพยายามตอนนี้ คือ ขออยู่กับเด็ก ๆ ไม่รอระบบ ต้องการการได้พัฒนาตนเอง สวัสดิภาพ และสวัสดิการ”

ศุภวัจน์ พรมตัน (ครูมะนาว)

ด้าน ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ ธนาคารโลก เปิดเผยถึงงานวิจัย PISA 2018 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนลดลงมากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ทำให้ค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผลคะแนน PISA ของนักเรียนไทยกลับมีค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าประเทศกลุ่ม OECD ส่วนข้อมูล FSQL ในด้านการบริหารจัดการและค่าเฉลี่ยแต่ละด้านของโรงเรียนขนาดเล็ก พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กไม่เพียงแต่ขาดแคลนครูเท่านั้น แต่ยังขาดแคลนอีกหลายปัจจัย เช่น ห้องเรียน อุปกรณ์การเรียนรู้ การเดินทาง ทางแก้ไขโดยต้องเริ่มจัดการจากการนำเทคโนโลยีเข้าไปประเมินความขาดแคลนของแต่ละโรงเรียน เพื่อนำทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดไปพัฒนาได้อย่างตรงจุด

นอกจากนี้ ดิลกะ ยังแนะให้จัดสรรโรงเรียนให้สอดคล้องกับจำนวนเด็กที่ลดลง โดยโมเดล School Network Reorganization ของธนาคารโลกได้คำนวนออกมาว่า เราสามารถควบรวมจำนวนโรงเรียนได้มากกว่า 6,000 โรง และจะทำให้จำนวนชั้นเรียนเหลือเพียง 2.6 แสนห้องเรียน ซึ่งเพียงพอต่อจำนวนครูที่มีอยู่และก่อให้เกิดผลดีในแง่ของงการจัดสรรงบประมาณที่คุ้มค่าและประสิทธิภาพในการเรียนการสอนที่ดีขึ้น

ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ ธนาคารโลก

พงศ์ทัศ วนิชานันท์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อ้างถึง ผลวิจัยการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ชี้ให้เห็นปัญหาในทำนองเดียวกันคือ รัฐไทยใช้จ่ายด้านการศึกษาเยอะแต่ได้ผลลัพธ์น้อย สะท้อนให้เห็นว่าระบบการจัดสรรงบประมาณในปัจจุบันนั้นอาจไม่ตอบโจทย์การสร้างเด็กให้เท่าทันอนาคต ยกตัวอย่างคะแนน PISA ของเด็กไทยปี 2018 บ่งชี้ว่า ร้อยละ 60 ของเด็กไทยไม่สามารถอ่านจับใจความบทความสั้น ๆ ได้ และอีกราว ๆ ครึ่งหนึ่งของเด็กไทยไม่สามารถนำความรู้คณิต-วิทย์มาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้

พงศ์ทัศ วนิชานันท์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ทาง วงอร พัวพันสวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่เท่ากับความยากจน เพราะแท้จริงแล้วความเหลื่อมล้ำมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่านั้น ดังนี้

1) ความไม่เท่าเทียมด้านการเข้าถึงการศึกษา เช่น การมีฐานะที่ยากจนทำให้ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา

2) ความไม่เท่าเทียมด้านผลลัพธ์/คุณภาพ เช่น พื้นที่ในเมืองจะมีดัชนีด้านการวัดผลการศึกษาที่มากกว่าเขตชนบท

3) ความไม่เท่าเทียมด้านตัวเลือก เช่น ตัวเลือกโรงเรียนที่มีคุณภาพกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ที่มีกำลังซื้ออย่างเมืองใหญ่

สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  ระบุว่า ส่วนมากเด็กยังอยู่ในครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมมากนัก ส่งผลให้เด็กไม่ได้รับการการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ รัฐไทยจำเป็นต้องปรับปรุงระบบสวัสดิการที่ไม่ใช่แค่เรื่อง ‘สงเคราะห์’ แต่ต้องเป็นระบบพัฒนาประเทศโดยใช้ ‘คน’ เป็นศูนย์กลาง เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ (คนไทยรวยกระจุก-จนกระจาย) สังคมสูงวัย (คนแก่มากขึ้น คนหนุ่มสาวต้องแบกรับภาระหนักในอนาคต) และกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เพราะไทยอยู่ในวังวนปัญหา 3 เรื่องนี้มานานมาก และเรื่องเหล่านี้อาจสายเกินแก้ หากไม่รีบแก้ไขปัญหาก็จะยิ่งหนักและแก้ไขยาก หรือถึงขั้นแก้ไขไม่ได้

สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

“อนาคตเด็กและหนุ่มสาวไทยจะต้องรับภาระมากขึ้นจากสังคมสูงวัย แต่ในช่วงวัยนี้กลับมีสัดส่วน ‘ผู้มีรายได้น้อยสุด’ 40% ล่าง (bottom 40) สูงกว่าช่วงวัยอื่น ดังนั้น ‘เด็กทุกคน’ จึงต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพเต็มที่”

สมชัย จิตสุชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active