ก้าวไกลจัดวงพูดคุย เสนอ พ.ร.บ. การศึกษา ฉบับใหม่ ต้องปรับปรุงให้เท่าทันยุคสมัย ออกแบบเชื่อมโยงกับระบบนิเวศของการเรียนรู้ เน้นกระจายอำนาจมายังพื้นที่ ทำให้ รร.ปรับเปลี่ยนโครงสร้างได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 พรรคก้าวไกลจัด Sol Bar Talk ในหัวข้อ ‘ชำแหละนโยบายการศึกษาไทย’ ร่วมพูดคุยกับ สส. พรรคก้าวไกล เครือข่ายครู และนักวิชาการด้านการศึกษา หวังรัฐบาลแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทวงถาม พ.ร.บ. การศึกษา จะไปอย่างไรต่อหลังแถลงนโยบาย ชี้บุคลากรมีคุณภาพ-อยากพัฒนา แต่ติดที่การจัดสรรงบฯ และการบริหารงานรวมศูนย์
ปารมี ไวจงเจริญ สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะอดีตครูวิชาสังคมศึกษาฯ มองว่า ประเทศไทยมีนักวิชาการที่ทำงานด้านพัฒนาคุณภาพการศึกษา และมีผลงานวิจัยที่ให้แนวทางการแก้ไขอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม แต่ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังไม่ค่อยนำเอาผลงานวิจัยเหล่านี้ไปพัฒนาการศึกษาไทยต่อ และยังขาดบุคลากรที่เข้าใจปัญหาด้านการศึกษามาทำงานในกระทรวง ทำให้นโยบายที่ออกมาไม่ได้สะท้อนความต้องการของผู้เรียน หรือครูผู้สอนที่อยู่ปลายทางของนโยบายเหล่านี้ได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้ ปารมี ต้องการเห็น พ.ร.บ. การศึกษา ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการศึกษาของประเทศ รวมถึงหลักสูตรการศึกษา ที่ต้องมีการปรับปรุงให้เท่าทันยุคสมัย ยิ่งไปกว่านั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้จะกำหนดโครงสร้างการทำงานภายในกระทรวง ที่ตอนนี้มีความซับซ้อน และใหญ่เทอะทะเกินไป แนะให้กระทรวงลงมาฟังเสียงของคนที่อยู่ในห้องเรียน ข้าราชการระดับปฏิบัติการ เพื่อจะได้ทราบถึงปัญหาที่แท้จริงของการศึกษาไทยที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
“ปรารถนาให้รัฐมนตรีและผู้บริหาร รับฟังครู นักเรียน ผู้ปกครอง และนักวิชาการการศึกษานอกระบบ หรือ NGO และ สตาร์ตอัปด้านการศึกษาที่มีอยู่มากมาย อย่าฟังเพียงผู้บริหารกระทรวง แต่ต้องฟังคนตัวเล็กตัวน้อยด้วย ถึงจะได้ข้อมูลที่แท้จริงของปัญหาการศึกษาไทย”
ปารมี ไวจงเจริญ
ครูกั๊ก – ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูแกนนำก่อการครู ได้สะท้อนปัญหาในมุมมองของครูผู้อยู่กับเด็ก หวังให้ครูไทยได้เป็นครูเสียที ลดงานพัสดุ งานธุรการครูที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานสอน เลิกการประเมินตามเอกสาร โดยครูกั๊กชี้ว่า จริง ๆ แล้วผู้บริหารโรงเรียนมองเห็นถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่ยังมีความกลัวที่จะลงมือทำ กลัวแปลกแยก ทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้นเสียที ชี้หาก ศธ. กล่าวให้ชัด และกระจายอำนาจมายังพื้นที่ จะทำให้ รร. ปรับเปลี่ยนโครงสร้างได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
ครูกั๊ก หวังให้ผู้บริหารในกระทรวงลงมาพูดคุยกับครูโดยตรง ผ่านกิจกรรม “ห้องพรรคครู” เพื่ออุดรอยรั่วของการสื่อสารที่เข้าใจผิดระหว่างผู้ออกนโยบายกับผู้รับนโยบาย และถ้า รมว. ศึกษาฯ ลงมาคุยจะขอบคุณมาก
“เข้าใจว่าการทำนโยบายมันมีปัญหา มันสื่อสารได้ไม่ตรงกับครู สิ่งที่เราเจอหลายครั้ง เราเห็นว่านโยบายดีหมด แต่ระหว่างทางมันเหมือนเกมใบ้คำ พอไปถึงปลายทางการสื่อสารมันตกหล่นไป ผมจึงอยากให้นโยบายมันถูกสื่อสารและทำออกไปโดยเข้าใจผู้รับนโยบายอย่างครู เราจะได้เข้าใจกัน”
ร่มเกล้า ช้างน้อย
ด้าน อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของการออกนโยบายการศึกษาในประเทศไทย คือไม่เคยออกนโยบายจากการวิจัยหรือองค์ความรู้ เมื่อนโยบายตกอยู่ในมือของคนที่ไม่เข้าใจและใช้การทำงานแบบสั่งการจากบนลงล่าง นอกจากนี้ อดิศร ยังชี้ว่า การศึกษาไทยยังขาดการออกแบบของระบบนิเวศของการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ สังคมไทยยังมองการศึกษาเป็นเพียงแค่ห้องเรียนสี่เหลี่ยม แต่จริง ๆ แล้วการเรียนรู้ควรเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย และเรียนรู้ได้ทุกเวลา
อดิสร ย้ำว่า ตราบใดที่เรายังออกแบบนโยบายการศึกษาที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศของการเรียนรู้ ชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่ไม่ว่าจะอยู่ในระบบหรือนอกระบบ ถ้าเรายังไม่เห็นว่าเขาเกี่ยวพันกับเรื่องอะไรบ้าง อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องแรงงาน เรื่องสุขภาพจิต ถ้ารัฐไทยยังออกนโยบายเป็นแท่ง ๆ แบบนี้ เราไม่มีทางพัฒนาการศึกษาไทยได้สำเร็จ
“เราต้องการการเขย่าตัวคนทำงาน ไม่ใช่แค่ระดับรัฐมนตรี ทุกระดับในวงการการศึกษา ถ้าตราบใดเรายังไม่เห็นคุณค่าของงานที่เราทำ ถ้าเรายังรอรับคำสั่งนโยบายจากรัฐมนตรีว่าจะมาแบบไหน ถ้าตราบใดเรายังไม่คิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาในระบบการศึกษา …เราได้ปล่อยให้สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ มันเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้ทำอะไร”
อดิศร จันทรสุข
ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผอ. มูลนิธิคณะก้าวหน้า ระบุว่า ประเทศไทยเรามีบุคลากรทางการศึกษาที่เก่ง และมีศักยภาพในการปฏิรูปให้การศึกษาก้าวหน้าไปได้ เรามีเด็กที่เก่งล้ำหน้าไปกว่าระบบการศึกษาที่จัดให้พวกเขา การศึกษาไทยตอนนี้ยังขาดการจัดการงบประมาณ บุคลากร การกระจายอำนาจให้โรงเรียนมีอำนาจจัดการศึกษาให้เหมาะตามบริบทพื้นที่ของตัวเองได้ ตนเชื่อว่าโครงสร้างเหล่านี้ปรับและขยับได้ หากรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงมากพอ
ทิ้งท้าย ครูจุ๊ย ได้ให้กำลังใจต่อผู้ที่ร่วมฟังวงเสวนาว่าอย่าเพิ่งหมดกำลังใจที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง อยากให้ทุกคนมองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มันกำลังเกิดขึ้นในทุกสถานศึกษา ตอนนี้เด็กไทยเดินไปไกลกว่าระบบการศึกษาที่บ้านเราสามารถทำให้เขาได้แล้ว อยากให้ทุกคนมองเห็นดอกไม้ที่ค่อย ๆ บานอยู่ระหว่างทาง กลัวว่าจะเหนื่อยกันเสียหมด และชี้ว่าปัญหาการศึกษาแก้ทั้งชีวิตก็ไม่จบ มันไม่มีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก มีแต่การศึกษาที่เราต้องช่วยทำให้มันดีขึ้นเรื่อย ๆ
“จุ๊ยก็ไม่เชื่อด้วยว่า อย่างที่เราชอบพูดกันว่าฟินแลนด์คือการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก มันไม่มีการศึกษาที่ดีที่สุดหรอก มันมีแต่การศึกษาที่เราจำเป็นต้องช่วยทำให้มันดีขึ้นเรื่อย ๆ”
ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ