ปี 66 ไทยรั้งโหล่อาเซียน ‘ทักษะภาษาอังกฤษ’

Education First เผยผลสำรวจทักษะภาษาอังกฤษ ปี 2566 อยู่อันดับ 101 จาก 113 ประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก หล่นจากอันดับ 97 ด้าน ‘พริษฐ์’ สส.ก้าวไกล กังวลหลักสูตรไทยมีช่องโหว่ เรียนเยอะแต่ได้ผลน้อย แนะรัฐบาลสร้างทักษะภาษาผ่านการปฏิรูปการศึกษา

EF Education First องค์กรนานาชาติที่เชี่ยวชาญเรื่องการฝึกอบรมภาษา เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ (English Proficiency Index) จากผู้ใหญ่ 2.2 ล้านคน 113 ประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ พบว่าประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 101 จาก 113 ประเทศ และรั้งอันดับสุดท้ายจาก 8 ประเทศอาเซียน (ไม่มีผลการสำรวจของประเทศบรูไนและลาว)

ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 502 คะแนน ส่วนค่าเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 416 คะแนน วัดผลได้ว่า “ต่ำมาก” (Very Low) ตามเกณฑ์วัดผลของ EF EPI Band หรือเทียบเท่าได้กับระดับ B1 ตามเกณฑ์การวัดผลของ CEFR (Common European Framework of Reference for Languages) กล่าวคือ คนไทยสามารถแนะนำตัวเองหรือผู้อื่นได้เบื้องต้น ทำความเข้าใจสัญลักษณ์ที่ไม่ซับซ้อน และบอกทิศทางให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างง่าย

เมื่อลงรายละเอียดในแต่ละจังหวัดของไทย พบว่า เชียงใหม่ได้การวัดผลสูงที่สุด 464 คะแนน ตามด้วยกรุงเทพฯ 457 คะแนน ภูเก็ต 456 คะแนน สงขลา 437 คะแนน และระยอง 433 คะแนน ขณะที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้คะแนนต่ำสุดที่ 299 คะแนน ขณะที่ ผลการศึกษาของ Education First ได้ให้ข้อแนะนำเชิงนโยบายแก่ทางภาครัฐและหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้

  • สร้างระบบการประเมินทักษะทางภาษาที่ครอบคลุมทั้งครูและนักเรียน เพื่อกำหนดมาตรฐานและติดตามความคืบหน้าของการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง
  • ปรับระดับการสอบเข้าและสอบไล่ให้มีความเหมาะสมต่อระดับการสื่อสารที่จำเป็นในแต่ละช่วงวัยเรียนรู้
  • เพิ่มทักษะภาษาอังกฤษในการฝึกอบรมครูใหม่ และมีการหมั่นอบรมเพิ่มพูนทักษะการสื่อสารของครูอยู่ตลอด
  • ตรวจสอบมาตรฐานการสอนภาษาอังกฤษ ว่าถูกสอนด้วยคนที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี
  • สร้างทางเลือกให้คนวัยทำงานสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมภาษาได้ ผ่านการให้ทุนที่เพียงพอ และสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • ฯลฯ

ขณะที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เห็นว่าผลการจัดอันดับดังกล่าวสะท้อนว่า ปัญหาอยู่ที่คุณภาพหลักสูตร ไม่ใช่จำนวนชั่วโมงเรียน เพราะเด็กไทยไม่ได้เรียน “ช้ากว่า” หรือ “น้อยกว่า” ประเทศอื่น แต่หลักสูตรยังคงบกพร่อง ไม่สามารถแปลงความขยันของนักเรียนออกมาเป็นทักษะทางภาษาที่ดีได้ ขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษายังเป็นอุปสรรคทำให้เด็กไทยทุกคนเข้าถึงการฝึกทักษะทางภาษาได้อย่างเท่าเทียม

พริษฐ์ ระบุว่า รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ผ่านการปฏิรูปการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนและเยาวชนทั่วประเทศ อย่างน้อย 5 ข้อ ดังนี้

  1. ปรับหลักสูตรให้เน้นการสื่อสารมากกว่าไวยากรณ์ ทำห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อการกล้าลองผิดลองถูก และเพิ่มสัดส่วนวิชาหรือกิจกรรมสอนเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมแก้หลักสูตรขั้นพื้นฐานใหม่หมดโดยเน้นทักษะมากกว่าอัดฉีดเนื้อหา
  2. ยกระดับการอบรมทักษะภาษาอังกฤษของครูไทย กระจายงบฯ อบรมที่กระจุกอยู่ส่วนกลาง ส่งเป็นงบฯ ตรงให้โรงเรียนเพื่อซื้อคอร์สทักษะที่ครูต้องการ
  3. ทำ MOU กับประเทศอื่น ๆ เพื่อให้มีโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างครูสอนภาษาอังกฤษในต่างประเทศและครูไทยที่สอนภาษาอังกฤษ
  4. ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษนอกห้องเรียน จัดทำแพลตฟอร์มเรียนรู้ตลอดชีวิต และเพิ่มพื้นที่ให้ประชาชนสามารถใช้ทักษะภาษาอังกฤษได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การเพิ่มบทบรรยายภาษาอังกฤษในสื่อละคร ข่าวสาร รายการโทรทัศน์
  5. รณรงค์ให้สังคมลดการให้ความสำคัญสำเนียง (Accent) จนทำให้เด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ไม่กล้าสื่อสารภาษาอังกฤษ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active