ผลสอบ PISA 2022 ไทย แพ้หลายชาติในอาเซียน นักวิชาการชี้ไทยรับมือช่วงโควิด-19 ไม่ดีพอ ทำเด็กสูญเสียการเรียนรู้ ทั้งยังพบปรากฏการณ์ “เด็กเก่งกระจุก อ่อนกระจาย” รุนแรงต่อเนื่อง แนะ ศธ. ทบทวนหลักสูตรและนโยบายพัฒนาครู หยุดเพิ่มภาระงานที่นอกเหนือการสอน
เมื่อวานนี้ (5 ธ.ค. 2566) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD เปิดเผยผลคะแนนสอบ PISA 2022 ของประเทศไทย ซึ่งวัดผลในเด็กนักเรียนอายุ 15 ปี พบว่าคะแนนลดลงมาอยู่ในจุดที่ต่ำสุด ในทักษะทั้ง 3 ด้าน โดยมีอันดับอยู่ในครึ่งล่างของตารางทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคอาเซียน และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศกลุ่ม OECD อย่างไม่ต้องสงสัย โดยมีรายละเอียดของการประเมินแต่ละทักษะ ดังนี้
- การอ่าน 379 คะแนน (อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ-พื้นที่ที่เข้าร่วม)
- คณิตศาสตร์ 394 คะแนน (อันดับ 64 จาก 81 ประเทศ-พื้นที่ที่เข้าร่วม)
- วิทยาศาสตร์ 409 คะแนนน (คิดเป็นอันดับ 58 จาก 81 ประเทศ-พื้นที่ที่เข้าร่วม)
ผลสำรวจยังเปิดเผยอีกว่า หากมีการแบ่งประเภทนักเรียนที่สามารถทำคะแนนได้ดี (ได้รับการประเมินสูงกว่า Level 5) และนักเรียนที่สามารถทำคะแนนได้น้อย (ได้รับการประเมินต่ำกว่า Level 2) พบว่า จำนวนเด็กไทยที่ได้รับการประเมินทักษะต่ำกว่า Level 2 คิดเป็น 2 เท่าของจำนวนเฉลี่ยของประเทศกลุ่ม OECD กล่าวคือ เด็กไทยจำนวนมากยังได้รับการพัฒนาทักษะทั้งการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ต่ำกว่าที่ควร
จากตารางข้างต้นพบว่า ในการประเมินทักษะด้านคณิตศาสตร์ มีเด็กไทยถึงร้อยละ 68 ที่ได้รับการประเมินต่ำกว่า Level 2 (ขณะที่ค่าเฉลี่ย OECD อยู่ที่ร้อยละ 31) ขณะที่ทักษะด้านการอ่าน มีเด็กไทยถึงร้อยละ 65 ที่ได้รับการประเมินต่ำกว่า Level 2 (ขณะที่ค่าเฉลี่ย OECD อยู่ที่ร้อยละ 26) และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ มีเด็กไทยถึงร้อยละ 53 ที่ได้รับการประเมินต่ำกว่า Level 2 (ขณะที่ค่าเฉลี่ย OECD อยู่ที่ร้อยละ 24)
ในขณะเดียวกัน เราจะพบว่ามีเด็กไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ได้รับการประเมินทักษะสูงกว่า Level 5 คล้ายคลึงกับผลคะแนนในปี 2018 ที่ผ่านมา ด้านสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ระบุว่า กลุ่มโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศ Top 5 และกลุ่มโรงเรียนสาธิตฯ มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ระบบการศึกษาไทยมีศักยภาพในการพัฒนานักเรียนในระดับสูงได้ หากรัฐไทยมีนโยบายที่สามารถสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษา โดยขยายระบบการศึกษาที่มีคุณภาพไปให้ทั่วถึง ประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้
สำหรับเด็กไทยที่ส่วนใหญ่ได้รับการประเมินทักษะที่ต่ำกว่า Level 2 ทาง PISA ได้นิยามไว้ว่า ในมิติของการอ่าน Level 2 คือเด็กสามารถอ่านจับใจความได้เพียงย่อหน้าที่มีความยาวไม่มากนัก สามารถประเมินคุณค่าและให้เหตุผลบนหลักฐานที่สั้นกระชับและเข้าใจง่าย ในมิติของคณิตศาสตร์ คือเด็กสามารถออกแบบหรือวางแผนกลยุทธ์เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีลักษณะไม่ซับซ้อนได้ และในมิติของวิทยาศาสตร์ คือเด็กสามารถใช้ความรู้พื้นฐานเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ได้ ตีความและสรุปใจความของชุดข้อมูลอย่างง่ายได้
ด้าน ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระด้านการศึกษาให้ความเห็นผ่านช่องทางเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้ว่า ในรอบการประเมินปีล่าสุด อันดับคะแนนของทั่วโลกตกต่ำลงเป็นประวัติการณ์ คาดการณ์เป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบในทุกประเทศ ส่วนไทยที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาเป็นทุนเดิม ทำให้อันดับตกลงมากกว่าประเทศอื่น ๆ รวมถึงพฤติกรรมเสพสื่อของเด็กที่เปลี่ยนไปดูวิดีโอขนาดสั้น อาจมีผลให้สมาธิและการจับใจความในการอ่านมีประสิทธิภาพต่ำลง
ณิชา ยังระบุอีกว่า ปรากฏการณ์ “เด็กเก่งกระจุก อ่อนกระจาย” นั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาจากปีก่อน ๆ แต่ก็ยังน่าตกใจอยู่ดี จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีเด็กที่นับได้ว่าเป็น high-performers (ทำคะแนนได้ดี) แค่ 1.3% และเด็กส่วนใหญ่ 46.3% เป็น low-performers (ทำคะแนนได้น้อย) เมื่อเทียบกับประเทศท็อปอย่างสิงคโปร์ พบว่ามีเด็ก 44.5% เป็น high-performers และมีเด็กเพียง 4% ที่เป็น low-performers
ณิชา ชวนดูสิ่งที่ประเทศไทยทำได้ดีบ้าง โดยสิ่งหนึ่งที่ PISA สำรวจคือ Resilient students (นักเรียนที่ยากจนแต่มีผลการเรียนรู้อยู่ในระดับสูงปกติ) พบว่าประเทศไทยมีนักเรียนที่เป็น resilient student ถึง 15% หรือคิดเป็นอันดับ 9 จากทั่วโลก
“ในประเทศที่เหลื่อมล้ำสูงอย่างไทย สถานะครอบครัวส่งผลต่อคะแนนพอสมควร กล่าวคือ ถ้าเด็กมาจากครอบครัวร่ำรวยก็มีแนวโน้มจะมีคะแนนสูงไปด้วย แต่ประเทศไทยมีนักเรียนที่เป็น resilient students ถึง 15% แสดงว่า จริง ๆ แม้ครอบครัวยากจนก็มีศักยภาพอย่างมากที่จะเรียนรู้ให้ดีได้ ถ้าระบบการศึกษาเราช่วยส่งเสริมเด็กยากจนมากกว่านี้ พวกเขาจะไปได้ไกลขนาดไหน”
ณิชา พิทยาพงศกร
ด้าน ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า คุณภาพของผู้เรียนสะท้อนคุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพครู สุขภาวะครู หากครูได้มีเวลาทุ่มเทเต็มที่ในการเตรียมการสอน ทำความเข้าใจผู้เรียน พัฒนาบทเรียน การติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน และการมีชุมชนเรียนรู้เชิงวิชาชีพครูที่เข้มแข็งภายในโรงเรียน การศึกษาไทยจะสร้างการเรียนรู้ได้มากกว่าที่เป็น
“ศธ. ต้องทบทวนนโยบายทั้งหมดที่มีอยู่ปัจจุบันนี้อย่างตรงไปตรงมาและให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วม พิจารณาว่านโยบายใดที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง บั่นทอนเวลาการทำงานด้านการสอนของครู นโยบายใดที่เพิ่มภาระงานให้ครูและโรงเรียน จนทำให้เวลาที่ควรใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครู”
ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล
อรรถพล ยังระบุอีกว่า การพัฒนาสมรรถนะด้านการอ่าน ’ต้อง‘ ทำผ่านทุกรายวิชาที่เกี่ยวข้อง และไม่ใช่แค่การกิจกรรมรักการอ่านแบบผิวเผิน ถามย้ำ รัฐต้องมีนโยบายใดบ้างเพื่อเอื้อให้พวกเขาเข้าถึงหนังสือ สร้างนิสัยการอ่านและวัฒนธรรมการอ่าน นโยบายนี้ต้องเอาจริงเอาจัง ใช้กิจกรรมอีเวนต์ หรือนโยบายระยะสั้นอย่างเดียวไม่พอ
อรรถพล ทิ้งท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเป็นเรื่องสำคัญและต้องดำเนินการอย่างรัดกุมรอบคอบ และจำเป็นต้องติดทักษะในการตีความหลักสูตรให้ครู เพื่อออกแบบห้องเรียนที่ยึดโยงกับผู้เรียนและโลกภายนอกมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เราสามารถดำเนินการได้เลย คือการใช้หลักสูตรที่มีอยู่เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมหลักสูตรฉบับใหม่