นายกฯ แสดงความเสียใจเหตุครูนอนเวรถูกทำร้าย ระบุ ครูเวร ไม่เหมาะกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป อนุทิน เตรียมสั่งการ อปท. ทั่วประเทศเข้าดูแลความปลอดภัยของโรงเรียนด้วย
จากกรณีเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา มีคนร้ายบุกเข้าไปในโรงเรียนบ้านโป่งเกลือ ต.ดอยลาน จ.เชียงราย ก่อเหตุทำร้ายครูที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรรักษาการณ์สถานที่ราชการ หรือ “นอนเวร” ภายในโรงเรียน ล่าสุดที่ประชุม ครม. มีมติยกเลิกการอยู่เวรของครูในโรงเรียนและสถานศึกษา รวมหน่วยงานของ อปท. ด้วย
วันนี้ (23 ม.ค. 2567) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณครูซึ่งต้องอยู่เวรโรงเรียน ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2542 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า มตินั้นไม่เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน ที่สามารถจัดจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย นักการภารโรง หรือติดตั้งกล้องวงจรปิด การให้ครูต้องมาอยู่เวรจึงเป็นการเพิ่มภาระครู ที่นอกเหนือไปจากการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ
จึงมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณายกเว้นมติวันที่ 6 ก.ค. 2542 แก่โรงเรียนของทุกสังกัดตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมตินี้เป็นต้นไป และให้รวมถึงการอยู่เวรรักษาการณ์ของส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่มีการจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือที่ติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือที่ใช้วิธีการอื่นใดเพื่อรักษาความปลอดภัยแล้วด้วย เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายดังกล่าวเกิดขึ้นอีก
ส่งผลให้โรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ต้องจัดให้มีการนอนเวร ซึ่งมีผลตั้งแต่วันนี้ (23 ม.ค. 2567) ทันที
ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ข้าราชการไม่ควรมีหน้าที่รับผิดชอบต่อความเสียหายของทรัพย์สินราชการที่เกิดจากอาชญากรรม หากมีเหตุร้ายเกิดขึ้น นั่นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงที่จะต้องดูแลไม่ว่าจะป้องกันหรือปราบปราม ไม่ใช่หน้าที่ครูแต่อย่างใด
“นี่คือสิ่งที่ง่ายที่สุดในการคืนครูสู่ห้องเรียนและทำได้ทันที สวัสดิภาพและความปลอดภัยของครูมีความสำคัญเหนือสิ่งของ… เมื่อไม่มีครูเวรแล้ว ต่อให้ยังไม่มียามหรือกล้องวงจรปิด ถ้ามีการโจรกรรมก็ไม่ใช่ความผิดของครู ต้องเป็นความรับผิดชอบของอาชญากรและหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องความมั่นคง ไม่ใช่ครู”
อนุทิน ชาญวีรกูล
ส่วนประเด็นของการว่าจ้างนักการภารโรงกว่า 14,000 อัตรานั้น ที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยที่ประชุม ครม. ขอให้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปจัดทำรายละเอียด เพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณาในครั้งต่อไป และขอให้หน่วยงานในพื้นที่ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและ อปท. เข้ามามีส่วนร่วมดูแลโรงเรียนในช่วงที่ไม่มีครูอยู่ โดย อนุทิน ได้เตรียมสั่งการให้ อปท. ทั่วประเทศเข้าดูแลความปลอดภัยของโรงเรียนด้วย