โซเซียลถาม #ยกเลิกครูเวรกี่โมง ศธ. แจงเร่งเพิ่มภารโรง ช่วยเฝ้าโรงเรียน

เล็งเสนอ ครม. อนุมัติคืนอัตรา “นักการภารโรง” 14,000 ตำแหน่ง ประสานหน่วยงานปกครอง ผู้นำชุมชน จัดเวรยาม ดูแลความปลอดภัยโรงเรียน เครือข่ายครู จี้ลดภาระงานไม่จำเป็น ขณะที่ สส.ก้าวไกล เสนอแก้มติ ครม. ยกเลิกบังคับ “ครูนอนเวร”

จากกรณีเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา มีคนร้ายบุกเข้าไปในโรงเรียนบ้านโป่งเกลือ ตำบลดอยลาน จ.เชียงราย แล้วก่อเหตุทำร้ายครูที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรรักษาการณ์สถานที่ราชการ หรือ “นอนเวร” ภายในโรงเรียน

จนทำให้โลกโซเชียลแห่ตั้งคำถาม #ยกเลิกครูเวรกี่โมง เนื่องจากเห็นว่าครูยังต้องมาทำงานเสี่ยงภัย ทั้ง ๆ ที่ในยุคสมัยนี้สามารถนำเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยมาปรับใช้ได้ รวมถึงครูก็ไม่ได้ค่าตอบแทนจากการนอนเวรอีกด้วย จนทำให้กลายเป็นประเด็นร้อน แฮชแท็กดังกล่าวติด Top10 ในทวิตเตอร์ ติดต่อกันเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มอบหมายศูนย์ความปลอดภัย นักจิตวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงราย เขต 1 และทีมสหวิชาชีพลงพื้นที่ ตรวจสอบข้อเท็จจริง และติดตามอาการของครูหญิงที่ได้รับบาดเจ็บ

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ line_album_e0b8a3e0b8a1e0b8a7.e0b895e0b8a3e0b8a7e0b888e0b980e0b8a2e0b8b5e0b988e0b8a2e0b8a1-e0b8aae0b89ee0b890._240115_12.jpg

สำหรับหน้าที่การนอนเวรของครูนั้น เป็นไปตามมติ ครม. ปี 2542 กำหนดให้สถานที่ราชการทุกแห่ง ต้องจัดให้มีเวรรักษาการณ์ ซึ่งเรื่องนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งการให้ สพฐ. เสนอ ครม. อนุมัติคืนอัตรานักการภารโรง 14,000 ตำแหน่ง เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีนักการภารโรงประจำ โดยในระหว่างที่รอ ครม. พิจารณา ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และโรงเรียน ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานปกครองในพื้นที่ หรือผู้นำชุมชน จัดเวรยามดูแลความปลอดภัย ช่วยเฝ้าระวัง

โดย สพฐ. ชี้แจงว่า หน่วยงานได้มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย สนับสนุนการทำงานของโรงเรียนก่อนหน้านี้แล้ว และสพฐ. จะแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดเวรยาม ที่เหมาะกับบริบทความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนการนำเทคโนโลยี มาใช้ในการเสริมสร้างความปลอดภัยในโรงเรียนต่อไป

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2566 ในวงเสวนา Policy Forum ครั้งที่ 6 : คืนครูให้ห้องเรียน ได้สะท้อนปัญหา และบทเรียนของการนอนเวรโรงเรียน ในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูผู้ชายน้อย อาจต้องนอนเวรหลายสิบวันต่อเดือน และไม่มีการประกันความปลอดภัยครูที่นอนเวรที่ดีพอ ภาระงานจำนวนมากขนาดนี้ ทำให้ครูขาดแรงใจในการทำงาน หลายคนมีความตั้งใจดีในการสอน แต่เมื่อเจอระบบการศึกษาแบบนี้ จึงกลายเป็นเหตุผลให้ครูลาไปไม่น้อย

“ครูกั๊ก” ร่มเกล้า ช้างน้อย

ครูกั๊ก” ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูชำนาญการ ระบุว่า นโยบายเพื่อคุณภาพชีวิตครู ควรลดงานที่ครูไม่ควรต้องทำ และไปเพิ่มงานที่มีคุณค่า อย่างงานออกแบบการสอนให้ผู้เรียน ครูส่วนใหญ่รู้ดีว่ามีอยู่ในหน้าที่ครู แต่ครูทำไม่ได้ เพราะครูต้องไปทำงานเอกสาร งานธุรการ โครงการต่าง ๆ หรือถูกเบื้องบนเรียกตัว ครูก็ต้องไปทำส่วนนี้ก่อน เพื่อเอาตัวรอดหนีตาย

“จริง ๆ การนอนเวร อยู่เวร คุณครูต้องจ่ายเองหมด อย่างผมมีหน้าที่ไปนอนเวรที่โรงเรียนผมต้องจ่ายเงิน 200 – 300 บาท เป็นค่าน้ำมัน เดินทางไป 60 กิโลเมตร กลับอีก 60 กิโลเมตร เพื่อนอนค้าง ตื่นเช้ามาสอนด้วยความเวียนหัว เพราะไม่รู้ว่าต้องเจออะไรบ้าง มันระแวงไปหมด เพราะมันเคยมีคืนหนึ่งที่ผมนอนเวรแล้วไฟไหม้ ถ้าวันนั้นผมอยู่ในอาคารที่ไฟไหม้ ใครจะรับผิดชอบชีวิตครู

ครูกั๊ก – ร่มเกล้า ช้างน้อย
ณิชา พิทยาพงศกร

ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระ และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้ แสดงความเห็น ว่า ความเป็นครู และภาระครูขึ้นอยู่กับว่าสังกัดกับหน่วยงานใด หากเป็นครูเอกชน นานาชาติ จะพบว่าครูไม่จำเป็นต้องทำงานที่นอกเหนือจากการสอนเลย อย่างการนอนเวร มีที่มาเพราะว่า “ครู” เป็น “ข้าราชการ” และ “โรงเรียน” เป็น “สถานที่ราชการ” และสถานที่ราชการ ต้องเฝ้าเวร แม้มีความพยายามที่จะแก้ไขตรงนี้ แต่จะต้องอาศัยมติ ครม. ให้ยกเว้นการนอนเวร ซึ่งตนก็อยากให้เกิดขึ้นเสียที

“งานบางส่วนที่นอกเหนือจากภาระงานสอน แต่ครูต้องทำ เพราะครูเป็นข้าราชการ อย่างเรื่องการอยู่เวร ถ้ากลับไปค้นดู มันเกิดจากการที่ว่า โรงเรียนเป็นสถานที่ราชการ และสถานที่ราชการต้องมีการอยู่เวร มันมีความพยายามแก้ไขตรงนี้ แต่มันต้องแก้ด้วยมติ ครม. เพื่อยกเว้นว่าโรงเรียนไม่ต้องมีการนอนเวร ถ้าเข้า ครม. แล้วมีมติออกมา มันแก้ปัญหาได้เลย

ณิชา พิทยาพงศกร

ส่วนรายละเอียดของการแก้มติ ครม. ดังกล่าวนั้น ปารมี ไวจงเจริญ และ วิโรจน์ ลักขณาอดิสร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มีข้อเสนอว่า ให้คณะรัฐมนตรี ลงมติเแก้ไขมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ว่าด้วย หลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการณ์สถานที่ราชการ โดยยกเลิกข้อ 9. แล้วใช้ข้อความดังต่อไปนี้

“9. ในกรณีที่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานใด มีหน่วยงานรักษาความปลอดภัยประจำสถานที่ราชการ หรือมีการจ้างเอกชน หรือมีการติดตั้ง ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ให้บริการดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบ เรียบร้อย หรือหน่วยงานนั้นรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยเฉพาะอยู่แล้ว หรือมีหน่วยงานอื่นรับผิดชอบดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องจัดให้มีเวรรักษาการณ์และผู้ตรวจเวร”

ปารมี ไวจงเจริญ สส.พรรคก้าวไกล

และให้ยกเลิกข้อ 10. ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

“10. กรณีที่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานใดมีความจำเป็นไม่อาจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้อ 9. ข้างต้นได้ ให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจในการที่จะสั่งการการอยู่เวรรักษาการณ์ตามความเหมาะสมได้ โดยไม่ให้เกิดผลเสียหายกับงานและทรัพย์สินของราชการหรือหน่วยงาน”

“ดิฉันเห็นว่า ต้องยกเลิกข้อ 10. นี้ไปเลยเพราะคำว่า “ให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจ” นี้ น่ากลัวมากในระบบราชการไทย เพราะดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา คือ การบังคับสถานเดียวเท่านั้นโดยไม่ถามความสมัครใจของผู้ใต้บังคับบัญชา ดิฉันจึงเห็นว่าต้องยกเลิกข้อ 10. นี้ไปเลยค่ะ”

ปารมี ไวจงเจริญ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active