จากกรณีครูร้องเรียนผ่านเฟซบุ๊ก พบผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่งไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง เลี่ยงบาลีให้ครูอยู่เวรต่อ ถือเป็น “การดูแลความเรียบร้อยในโรงเรียน” ด้าน สพฐ. ร่อนหนังสือด่วนที่สุด ยกเลิก “ครูอยู่เวร” ทันที
ประเด็น “ครูเวร” กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง หลังเกิดเหตุครูในจังหวัดเชียงรายถูกทำร้ายร่างกาย ขณะอยู่เฝ้าเวรโรงเรียนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ นำมาซึ่งกระแสในสังคมออนไลน์ที่เรียกร้องให้มีการหยุดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ เพื่อคืนครูสู่ห้องเรียนอีกครั้ง จนในที่สุด วันที่ 23 ม.ค. 2567 จึงมีมติ ครม. ให้ยกเลิกการอยู่เวรของครูในโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ และมีผลบังคับใช้ทันที
แต่เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา ครูกลุ่มหนึ่งได้ร่วมแบ่งปันปัญหาที่เกิดขึ้นกับทางเพจ “ครูวันดีดอทคอม – เปิดสอบครู สมัครงานราชการ” พบไลน์กลุ่มของครูและอาจารย์ในบางสถานศึกษา ผู้อำนวยการใช้คำสั่งเลี่ยงบาลี แก้ไขคำสั่ง “เวรรักษาความปลอดภัย” เปลี่ยนเป็น “การดูแลความเรียบร้อยและป้องกันทรัพย์สินทางราชการ” และให้ตัดคำว่า “เวร” หรือ “เวรรักษาความปลอดภัย” ทั้งหมด เปลี่ยนเป็นการใช้คำว่า “ปฏิบัติหน้าที่แทน” ดังภาพที่ปรากฏ
ในโพสต์ดังกล่าว พบครูและบุคลากรสถานศึกษาจำนวนหนึ่งเข้ามาร้องเรียนในทำนองเดียวกันว่า ยังมีชื่อของตนปรากฏอยู่ในตารางเวรอยู่ ทั้งในสังกัดโรงเรียนรัฐและโรงเรียนส่วนท้องถิ่น ดูเหมือนว่าในหลายโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว และยังคงมติการมี “ครูเวร” ไว้ตามเดิม
เป็นเหตุให้ วันนี้ (27 ม.ค. 2567) ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ปฏิบัติราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่อนหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขต เรื่องซักซ้อมความเข้าใจในการดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้สถานศึกษาได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2542 (เรื่อง การปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการ) และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
การดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
1.1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหลักในพื้นที่ระดับจังหวัด ประสานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
เพื่อให้ได้ซึ่งมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการและแผนเผชิญเหตุให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 เรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการให้แก่สถานศึกษาในจังหวัดตามบริบทของพื้นที่และความเหมาะสม
1.2 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่น นอกเหนือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร สรุปข้อมูลจำนวนสถานศึกษาในสังกัดเพื่อบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานฝ่ายปกครองและสถานีตำรวจนครบาล เพื่อวางแผนในการดูแลรักษาความปลอดภัยสถานศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และให้สอดคล้องตามข้อ 1.1
การดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการในพื้นที่จังหวัดอื่น
2.1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 เป็นหน่วยงานหลักในพื้นที่ระดับจังหวัด ประสานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด
เพื่อให้ได้ซึ่งมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการและแผนเผชิญเหตุให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 เรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการให้แก่สถานศึกษาในจังหวัดตามบริบทของพื้นที่และความเหมาะสม
2.2 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่น นอกเหนือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 ดำเนินการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานฝ่ายปกครองระดับอำเภอและสถานีตำรวจภูธร เพื่อวางแผนในการดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาในสังกัดให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และให้สอดคล้องกับแผนระดับจังหวัดตามข้อ 2.1
ให้สถานศึกษายกเลิกคำสั่งอยู่เวรรักษาการณ์ที่สั่งไว้เดิมโดยทันที
ส่วนมาตรการที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการ อยู่ระหว่างดำเนินการ หากแล้วเสร็จจะแจ้งให้ทราบต่อไป