คณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนปล่อยแสงเปิดผลโครงการ ‘โรงเรียนปล่อยแสง’ หวังสร้างศึกษาบนโจทย์ชุมชน ให้เด็กมีส่วนร่วมท้องถิ่น นักวิชาการเผย การศึกษาไทยแตกสลายไปคนละทาง ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน
วันนี้ (2 มิ.ย. 2567) คณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มก่อการครู เครือข่ายโรงเรียนปล่อยแสง และเครือข่ายด้านการศึกษา เล่าผลดำเนินงานโครงการโรงเรียนปล่อยแสงระยะ 3 ปี และเปิดเวที “ปล่อยเด็กเปล่งแสง” วงพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเยาวชนสร้างสรรค์นิเวศการเรียนรู้ (Young Creative Designer) พร้อมฟังเสียงสะท้อนปัญหาการศึกษาไทย นําเสนอการเรียนรู้และความสามารถที่หลากหลายและสื่อสารความหวังของห้องเรียนที่นักเรียนได้เป็นผู้ออกแบบเอง
โครงการโรงเรียนปล่อยแสง ดำเนินการโดย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มธุรกิจ TCP และมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นโครงการที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ดีภายในโรงเรียน โดยไม่ใช่แค่พัฒนาศักยภาพครูในการสอนหรือวิชาที่สอน แต่จะเข้าไปทำงานในเชิงของระบบความสัมพันธ์ที่ครูมีกับเด็กๆ มีกับพ่อแม่ด้วย เป้าหมายสำคัญคือ เพื่อดูว่าเมื่อครูเห็นปัญหาในตัวนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ชุมชนและนิเวศรอบโรงเรียนจะสามารถช่วยนักเรียนได้อย่างไรบ้าง
จากการทำงานร่วมกับโรงเรียน 6 แห่ง เป็นเวลา 3 ปี โครงการโรงเรียนปล่อยแสงแบ่งขั้นตอนการทำงาน 3 ระยะด้วยกัน ซึ่งสร้างผลลัพธ์ที่น่าสนใจ ดังนี้
- ปีที่ 1 ปรับกระบวนทัศน์ พัฒนาศักยภาพครู ผู้บริหาร: เปิดพื้นที่แบ่งปันองค์ความรู้เชื่อมเครือข่ายครูและผู้บริหารจำนวน 105 คน
- ปีที่ 2 นิเวศการเรียนรู้ที่มีความหมาย พัฒนารายโรงเรียน: กระบวนการพัฒนาศักยภาพครูทั้งโรงเรียน ศึกษาแนวทางพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ในบริบทพื้นที่ มีครูได้รับประโยชน์จำนวน 296 คน
- ปีที่ 3 ครู นักเรียน ลงมือทำ ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง: ครู/นักเรียนออกแบบและดำเนินโครงการพัฒนานิเวศการเรียนรู้ในโรงเรียนมีครูและนักเรียนได้รับประโยชน์จำนวน 4009 คน
อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ได้เล่าเบื้องหลังหลังจากเริ่มโครงการ พบว่า แต่ละโรงเรียนที่ร่วมทำโครงการล้วนมีโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละบริบทพื้นที่ ซึ่งทางทีมวิจัยก็ต้องศึกษาและทำความเข้าใจ รวมถึงหาวิธีนำต้นทุนจากชุมชนมาช่วยเสริมแรงให้โรงเรียนนั้นมีระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มีคุณภาพมากขึ้น และยังพบอีกว่า เด็ก ๆ เองก็ต้องการพื้นที่ในการแสดงความสามารถและพัฒนาทักษะของตนเอง ครูและผู้บริหารเองก็ได้ค้นพบวิธีการใหม่ ๆ ในการช่วยเสริมแรงให้ทักษะที่เด็กมีอยู่นั้นไปไกลได้มากยิ่งขึ้น
พอเราเห็นเด็ก ๆ เก่งขนาดนี้ เราก็อดไม่ได้จริง ๆ ที่จะปล่อยให้เค้าเปล่งแสงแค่ในโรงเรียน เราจึงอยากมีพื้นที่ปลอดภัย ให้เด็กได้ออกมาแสดงความสามารถให้ทุกคนรู้ว่าเด็กไทยของเรามีความสามารถมากกว่าที่พวกเขาคิด
อธิษฐาน์ คงทรัพย์
การเรียนรู้ที่ดีเกิดขึ้นได้ เมื่อเยาวชนเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ไฮไลต์สำคัญของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง คือ การปล่อยให้เด็กได้เป็นผู้ออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของตัวเอง ผ่านการริเริ่มโครงการที่พวกเขามองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและเพื่อนนักเรียนรอบข้างสิ่ง จุดที่น่าสนใจคือ โครงการเหล่านี้ไม่ใช่โครงการระดับเมกะโปรเจกต์ที่ผู้ใหญ่มักนิยม กันแต่เป็นเพียงโครงการเล็ก ๆ ที่เริ่มต้นจากความสนใจใกล้ตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนหรือชุมชน การจัดพื้นที่ประกวดความสวยความงาม หรือเรื่องการดูแลสุขภาพจิต เป็นต้น
ธัญมน ดาราภิรมย์ (ปอร์เช่) นักเรียนโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม ผู้ริเริ่มโครงการ “บ้านฉันมีดี” โดยให้นักเรียนนำของดีที่บ้านมาแชร์กัน ปอร์เช่ เล่าว่าตนเองได้นำแกงหอยซึ่งเป็นเมนูสูตรเด็ดของบ้านตนเองมาแชร์ให้เพื่อนได้เห็น ได้รู้จัก ทำให้เธอต้องออกไปหาวัตถุดิบกับแม่เพื่อมาทำแกง จนได้พูดคุยกัน ครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น ขณะที่เพื่อนของเธอบางคนได้นำไข่ไก่สดที่มีความสดมากมาแบ่งปันให้เพื่อนในโรงเรียนได้รู้จัก ทำให้แต่เดิมนักเรียนคนนี้จะต้องนำไข่ไก่ที่บ้านไปขายที่ห่างไกล แต่ทุกวันนี้เขาก็ได้มีฐานลูกค้าเป็นคนในโรงเรียน โครงการนี้ได้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้กับในครอบครัว เพิ่มโอกาสทางการตลาด และสำคัญคือได้สร้างความภาคภูมิใจให้นักเรียนอีกด้วย
“พวกเราอยากโชว์ของดีของเขาน้อย แต่จะให้นึกเลยคงยาก แต่ถ้าให้ ‘เด็ก 180 คนในเขาน้อย’ ไปคิดกันมาว่าแต่ละบ้านมีของดีอะไรบ้าง มันอาจจะมีของดีเกิดขึ้นมา 180 อย่างเลย และบ้านของทุกคนต้องมีของดีที่สุดอยู่แล้วค่ะ”
ธัญมน ดาราภิรมย์ (ปอร์เช่)
เรื่องปัญหาสุขภาพจิตก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เยาวชนให้ความสำคัญอย่าง ณัฐธิดา วัฒนเวช (นัท) นักเรียนโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง ผู้ริเริ่มโครงการ “ศิลปะเพื่อการบำบัดใจ” เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนได้มีความเข้าใจและเท่าทันความรู้สึกของตัวเองมากยิ่งขึ้น นัท สะท้อนว่า ที่ผ่านมาโครงการของสถานศึกษาอาจไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่องของจิตใจเยาวชนมากนัก แต่ตนอยากให้ทุกคนได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ผ่านการใช้ศิลปะ วาดภาพระบายสีเพื่ออยู่กับตัวเองมากขึ้น
ระหว่างการทำงาน นัท ก็พบอุปสรรคของทีมทำงานที่พบกับความเครียดจากการทำงานนี้เอง ทำให้เธอเองก็ได้เรียนรู้ถึงการจัดการปัญหาความเครียดไปพร้อมกับเพื่อน ๆ ที่เข้าร่วมโครงการด้วยเช่นกัน หลังจบโครงการเธอได้เห็นหลายความสัมพันธ์ในโรงเรียนมีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในการที่จะรักตัวเอง พบว่ามีนักเรียนหลายคนหันมาดูแลใจของตัวเองมากขึ้น
“จริง ๆ โรงเรียนของหนู ครูเปิดกว้างมาก ๆ เป็นมิตรกับเด็ก ๆ ทุกคน และเราก็อยากให้มีบรรยากาศแบบนั้นควรมีอยู่ในทุกพื้นที่ของโรงเรียน ก็เลยหยิบเอาโครงการที่ให้ทุกคนได้รู้เท่าทันความรู้สึกและอยู่กับตัวเองมากขึ้น”
ณัฐธิดา วัฒนเวช (นัท)
สำหรับบทเรียนสำคัญที่ได้รับจากโครงการโรงเรียนปล่อยแสง กฤษณบดินทร์ ฮ้อยปัด (โอเกะ) นักเรียนโรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ มองว่าการให้นักเรียนเป็นผู้ริเริ่มโครงการเหล่านี้ด้วยตัวเอง ทำให้เขาได้พลิกบทบาทมาเป็นครู เป็นผู้ถ่ายทอดให้กับผู้อื่นด้วยเช่นกันและได้เรียนรู้จากการเป็นผู้ตามเป็นผู้นำ สำคัญที่สุด นักเรียนได้เรียนรู้ที่จะสื่อสารกันอย่างเห็นอกเห็นใจ รับฟังกันมากขึ้นเพราะการทำงานเป็นทีมเป็นทักษะที่สำคัญอย่างมากในโลกอนาคต เพราะไม่ใช่ทุกปัญหาที่คนเดียวลำพังจะแก้ไขได้ การร่วมมือกันจะช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถก้าวพ้นปัญหาอุปสรรคที่พวกเขาไม่สามารถจัดการได้ด้วยตัวของเค้าคนเดียวได้
“ในห้องเรียนเราอาจจะมีครูมาสอนเรา แต่พอเราได้ทำโครงการก็ได้เหมือนเป็นครูสอนน้อง ๆ อีกที สำคัญคือ เราทำงานกับคนหมู่มาก เราต้องรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย เป็นผู้นำที่ดีแล้วก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยเช่นกัน”
กฤษณบดินทร์ ฮ้อยปัด (โอเกะ)
ด้าน รศ.อนุชาติ พวงสำลี ที่ปรึกษาโครงการโรงเรียนปล่อยแสง วิเคราะห์ว่า การเรียนรู้ที่เยาวชนได้ลงมือทำด้วยตัวเองนี้ จะเกิดขึ้นได้ยากหากขาดแรงหนุนจากครู โรงเรียน ผู้บริหาร ตลอดจนชุมชน แต่การศึกษาบ้านเราทุกวันนี้มันแตกสลายลง เหมือนเครื่องยนต์ที่อะไหล่แยกจากกัน ทำให้การเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นอย่างสะเปะสะปะ ไม่เป็นองค์รวม พอหมดเวลาท่องจำในห้องเรียนก็หมดเวลาได้เรียนรู้ ทั้ง ๆ ที่ทักษะที่เด็กได้จากการทำโครงการเองนั้น ไม่อาจบ่มเพาะได้จากการท่องจำตำราในห้องเรียน แต่เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมแวดล้อม การได้คิดหาหนทางพัฒนาบ้านเกิดของเขา ทำให้เข้าได้เป็นเจ้าของและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ซึ่งนี่คือหัวใจสำคัญของการพัฒนา “นิเวศการเรียนรู้” ที่โรงเรียนปล่อยแสงต้องการที่จะผลักดัน