การศึกษาไทยเน้นวิชาการมากไป ทำเด็กไร้ความคิดสร้างสรรค์

เด็กไทยรั้งท้ายวัดผล PISA ด้านความคิดสร้างสรรค์ วงเสวนา “Creative thinking in school โรงเรียนคิดสร้างสรรค์” เห็นพ้อง สังคมไทยเน้นวิชาการเกินไป ครูต้องสร้างสรรค์รูปแบบการสอนใหม่

ผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ประจำปี 2565 ในด้านการคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ที่เพิ่งเปิดเผยออกมาเมื่อเดือน มิ.ย. 67 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าไทยอยู่อันดับกลุ่มท้ายสุดที่ 54 จากทั้งหมด 64 ประเทศ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

จากประเด็นดังกล่าว สำนักพิมพ์ Bookscape และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดเสวนาเรื่อง “Creative thinking in school โรงเรียนคิดสร้างสรรรค์”  เพื่อหาแนวทางสร้างห้องเรียนสร้างสรรค์ ผ่านประสบการณ์การทำงานของครู ผู้ทำงานในแวดวงการศึกษา และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

ซ้ายไปขวา : อานนท์ แซ่เต็ง หรือ ครูท็อป Rapcher, ภาคิน นิมมานนรวงศ์, ชลิพา ดุลยากร, จักรกฤต โยมพะยอม

อานนท์ แซ่เต็ง หรือ ครูท็อป Rapcher  ได้ยกคำถามจาก PISA ที่ให้นักเรียนออกแบบจักรยานธรรมดาให้เป็นจักรยานในอนาคต และก็คำถามต่อไปว่าจักรยานในอนาคตที่นักเรียนออกแบบน่าจะมีราคาแพง นักเรียนจะป้องกันอย่างไรไม่ให้ถูกขโมย ซึ่งจะเห็นว่าคำถามในลักษณะนี้เป็นคำถามเชิงความคิดสร้างสรรค์ โดย ครูท็อป มองว่า หลักสูตรการเรียนของไทยไม่ได้สอนเด็กในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ แต่จะเน้นความรู้เชิงวิชาการที่มากเกินไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะค่านิยมของสังคมไทย โดยเฉพาะความคาดหวังของผู้ปกครอง จากประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อจะให้นักเรียนไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ผู้ปกครองก็อยากจะให้เด็กได้เรียนหนังสือก่อน ซึ่งสามารถสร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครับได้ และเชื่อว่าจะทำให้เด็กประสบความสำเร็จในอนาคต

ขณะเดียวกันจำนวนนักเรียนในห้องที่มากเกินไป ก็ทำให้ไม่มีเวลามากพอที่จะทำให้เด็กได้แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ เพราะการสร้างสิ่งใหม่ และการคิดวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ ต้องเกิดจากการทำงานจริง หรือการพูดคุยกัน ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมาก นอกจากนี้แม้เด็กมีความคิดสรรค์แล้ว แต่อาจยังขาดทักษะในการสื่อสารด้วยก็ได้  

นอกจากนี้ยังมีปัญหาในระบบการศึกษา ที่ไม่ได้มุ่งเน้นประเด็นความคิดที่สร้างสรรค์มาก เช่น การอบรมสัมมนาครูก่อนเปิดเทอม ที่เน้นแต่กระบวนการสอน และวัฒนธรรมองค์กร ดังนั้นครูต้องสร้างสรรค์ในตัวเองก่อนไม่ควรใช้วิธีการสอนแบบเดิมที่เน้นแบบฝึกหัด บรรยายหน้าห้อง ทำตามแบบการสอนเดิม ๆ ไม่ได้ผลแล้ว แต่ต้องเน้นความสนใจของเด็ก สิ่งที่เป็นกระแส และเป็นสิ่งที่สนุกของเด็ก  

“ครูพยายามต่อไป สอนให้นักเรียนมีความสุข สอนให้นักเรียนสนุก ให้เกิดทักษะการเรียนรู้ และให้นักเรียนรู้สึกว่าการเรียนหนังสือปลอดภัย และสนุกอย่างที่เราอยากจะสร้างสรรค์ และฝากถึงผู้ปกครอง บนโลกนี้อาจไม่ได้มีแค่วิชาการอย่างเดียวที่ทำให้ลูกเราประสบความสำเร็จ มันก็มีทักษะอื่น ๆ ด้วย อยากให้เสริมทักษะอื่น ๆ ให้ลูกด้วย เปิดใจให้คุณครู ถ้าครูสอนเนื้อหาที่อาจจะแตกต่างออกไป วิธีการที่อาจจะแตกต่างออกไป

รร. ไม่เปิดโอกาสให้เด็กลองคิดผิด ปัญหาใหญ่การศึกษาไทย

ด้าน ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศาสตร์โรงเรียนกำเนิดวิทย์ กล่าวว่า คำถามของ PISA เป็นคำถามความคิดสร้างสรรค์ที่ให้ผู้ตอบใช้วิธีคิดอย่างมีเหตุมีผล เข้าใจปัญหาสังคม และเสนอทางออกอื่น ๆ ได้ แต่การศึกษาไทยจำกัดความคิดสร้างสรรค์ไว้ที่วิชาศิลปะ ซึ่งความจริงทุกวิชาสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ และโรงเรียนควรมีเครื่องมือให้ครูช่วยประเมินความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนว่าจะต้องคิดสร้างสรรค์อย่างไร และได้ประโยชน์อย่างไร รวมถึงต้องให้นักเรียนคิดด้วยตนเองเป็น เริ่มจากการตั้งข้อสงสัย ไม่ย่อท้อ ให้ความร่วมมือ จินตนาการ และมีวินัย สรุปคือคิดด้วยตนเองให้เป็น มีเหตุมีผลสามารถตอบคำถามได้

ในขณะที่โรงเรียนก็ควรเปิดโอกาสได้คิดผิด ซึ่งความรู้สึกกลัวผิดของเด็กมักจะเจอในโรงเรียนหลายแห่งรวมถึงโรงเรียนระดับท็อป เพราะโรงเรียนไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดผิด เมื่อตีกรอบให้เด็กต้องตรงเป๊ะ ต้องถูกเสมอ เด็กก็จะเลือกทางที่ปลอดภัยสุด เพราะกลัวผิด ทำให้ไม่ต้องคิดเยอะ ถือเป็นปัญหาใหญ่มากของการศึกษาไทย ซึ่งความจริงเด็กวัยเยาว์พร้อมจะตอบคำถามครูอย่างมาก แต่เมื่อเข้าเรียนระดับชั้นประถม จนถึงมัธยมศึกษา กลับไม่กล้าที่จะตอบคำถาม

เปลี่ยนวิธีการสอนให้เด็กคิดสร้างสรรค์

ขณะที่ ชลิพา ดุลยากร ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Inskru ระบุว่า ครูบางคนก็มีความคิดสร้างสรรค์ แต่โรงเรียนไม่ให้พื้นที่ในการแสดงออก หรือมักมองว่าเป็นแกะดำ ทำให้ครูหมดไฟที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ และไม่สามารถไปสอนเด็กในห้องเรียนได้

สำหรับวิธีการสอนอย่างสร้างสรรค์ ควรเริ่มจากสิ่งที่ครูสอน ว่าจะทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ไปด้วยอย่างไร เช่น สอนการต่อวงจรไฟฟ้า แทนที่จะให้ทำตามแบบตำรา ก็ให้นักเรียนหาวิธีต่อวงจรไฟฟ้าจากสิ่งของครูกำหนดขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้มากกว่าทำตามตำรา และเด็กก็จะมีความติดสร้างสรรค์มากขึ้น

แต่ประสบการณ์ส่วนตัวปัญหาที่พบ คือ เมื่อครูต้องทำในสิ่งที่เปิดกว้างมากขึ้นนอกจากตำรา ครูจะรู้สึกไม่มั่นใจ กังวลคำตอบของนักเรียน และจะไม่รู้ว่ารับมือกับคำตอบเหล่านั้นอย่างไร ดังนั้นจึงอยากให้ครูลองเผชิญกับความรู้สึกเหล่านั้น เรียนรู้ไปด้วยกัน สามารถมีความคิดสร้างสรรค์ไปกับนักเรียนได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และต้องใช้เวลา  

อย่ายึดติดคำสอนคนรุ่นเก่า

จักรกฤต โยมพะยอม อดีตติวเตอร์วิชาภาษาไทยและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Avocado Books มองว่า สังคมไทยยึดติดกับแนวคิดชนชั้นเก่า ด้วยคำว่า “ตั้งใจเรียนนะ โตไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน” เป็นสิ่งที่คนส่งต่อกันมาหลายรุ่น จึงให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์น้อย ดังนั้นสังคมไทยควรจะปรับแนวคิดใหม่ คือ นำความสามารถของตนเองที่มีอยู่ไปใช้ในชีวิตให้มีความสุขก็เพียงพอแล้ว ถึงแม้ผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ตาม

ทั้งนี้ จักรกฤต ได้ยกตัวอย่างรุ่นน้องรายหนึ่ง ที่ไปทำอาชีพอิสระ ซึ่งไม่ได้เป็นความต้องการของครอบครัว แต่รุ่นน้องคนดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จ สามารถหาเงินส่งกลับไปที่บ้าน จนครอบครัวเข้าใจว่าสามารถเลี้ยงตนเองได้แล้ว ก็เปลี่ยนแนวคิดใหม่ และสนับสนุน

อดีตติวเตอร์วิชาภาษาไทย เสนอด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่จะต่อยอดพัฒนาความคิดครูได้ง่าย คือ การร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ อาจะช่วยทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของความคิดสร้างสรรค์ในหลายรูปแบบ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active