เดินหน้าตั้ง สบม. แยกจาก สพฐ. หวังลดความอุ้ยอ้าย

ครม. รับทราบรายงานผลการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาการ เพื่อจัดตั้ง สำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) แยกจาก สพฐ. หวังแก้ไขให้หน่วยงานมีคล่องตัวและตอบโจทย์พื้นที่มากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาการ (ศธ.)  เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

สถิติเมื่อปี 2565 เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีสถานศึกษาในสังกัดจำนวนทั้งสิ้น 29,449 แห่ง ดูแลนักเรียนกว่า 6.6 ล้านคน ทำให้ สพฐ. เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่ใหญ่โตและขาดความคล่องตัวในการบริหารงาน อีกทั้ง โรงเรียนในสังกัดกว่าร้อยละ 90 เป็นโรงเรียนประถมฯ ทำให้น้ำหนักของภาระงานมุ่งไปที่ประถมศึกษามากกว่าชั้นมัธยมศึกษา จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลชั้นมัธยมศึกษาโดยเฉพาะ

โดยให้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยไม่เพิ่มหน่วยงาน เป็นการบูรณาการรวมสำนักซึ่งมีภารกิจใกล้เคียงกันเข้าด้วยกัน และปรับปรุงหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็นการภายใน ได้แก่ สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย (สมป.) เป็นหน่วยงานในโครงสร้างให้มีชื่อใหม่ว่า “สบม.” เพื่อเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะในการเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าว

ทั้งนี้ การจัดตั้ง สบม. ต้องเชื่อมโยงระหว่าง สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบในหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

โดยขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ สบม. มีดังนี้

  • เป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมและจัดทำข้อมูลสารสนเทศในทุกด้านของโรงเรียนมัธยมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รวมทั้งหน่วยงานที่จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น
  • ส่งเสริม สนับสนุนงานนโยบายของรัฐบาลและ ศธ. สำหรับการพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
  • แบ่งส่วนราชการภายใน สบม. แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มบริหารทั่วไป กลุ่มนโยบายและแผน กลุ่มส่งเสริมทรัพยากรบุคคล กลุ่มพัฒนาคุณภาพวิชาการและการจัดการศึกษา กลุ่มส่งเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการมัธยมศึกษา และกลุ่มวิจัยพัฒนาสื่อและดิจิทัลทางการศึกษา

“การปรับปรุงโครงสร้างฯ เพื่อให้ขับเคลื่อนภารกิจจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเพื่อเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ การจัดตั้ง สบม. ต้องเชื่อมโยงระหว่าง สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบในหน่วยงานส่วนกลางและภูมิภาค”

คารม พลพรกลาง
title

รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เคยอภิปรายความเห็น เรื่องการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา วุฒิสภา พิจารณาเสร็จแล้วเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า การบริหารงานของหน่วยงานใต้กระทรวงศึกษาธิการนั้นมีลักษณะเป็นการรวมศูนย์ เปรียบเสมือนเรือใหญ่ที่ควบเอาทุกหน่วยกรมกองเอาไว้ที่เดียวกัน จนทำให้การศึกษาไม่ตอบโจทย์พื้นที่ โดยยกตัวอย่างว่า ขณะนี้เรามีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 62 แห่ง แต่ไทยมี 76 จังหวัด นั่นเท่ากับว่ามีบางเขตพื้นที่ต้องควบดูแล 2 จังหวัด และตนมีข้อสังเกต 2 ประเด็นต่อการจัดตั้ง สบม. ดังนี้

  1. การจัดตั้ง สบม. นอกจากจะมีการแยกส่วนมัธยม เป็นกองหรือแผนกแล้ว ขออย่านำไปเฉพาะส่วนของมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะโรงเรียนมัธยมศึกษา มีชั้นมัธยมต้นอยู่ด้วย และช่วงวัยของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษามีความใกล้เคียงกัน
  2. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จะต้องให้ครบทุกจังหวัด เพื่อให้ค่าน้ำหนักในการบริหารจัดการศึกษาและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีความใกล้ชิดและเข้าถึงผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อให้เด็กนักเรียนมัธยมศึกษาสามารถเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจ

“สพฐ. นั้นมีความอุ้ยอ้ายมาก เพราะต้องดูแลตั้งแต่ชั้นปฐมวัย ประถมฯ และมัธยมฯ แต่ธรรมชาติของการจัดการศึกษานั้นแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัยและบริบทของผู้เรียน ดังนั้นการแยกงานออกเป็นแต่ละหน่วยเพื่อบริหาร มันจะบริหารได้ง่ายมากขึ้น”

รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active