‘บอร์ดปฏิรูปฯ ด้านการศึกษา’ ปักหมุด อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เป็นอำเภอต้นแบบดึงท้องถิ่น-เอกชน มีส่วนร่วมแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา ย้ำนโยบาย “เด็กทุกคนต้องได้เรียน” หยุดวงจรจนข้ามรุ่น
วันนี้ (15 มี.ค. 2565) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ลงพื้นที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เดินหน้าแก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหลังวิกฤตโควิด-19 กระทบเด็กหลุดออกจากระบบจำนวนมาก โดยคาดว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในช่วงปิดภาคเรียนที่จะถึงนี้
รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า สองปีที่ผ่านมาวิกฤตโควิด-19 ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยรุนแรงขึ้น เด็กที่ได้รับผลกระทบสูงสุดในทุกประเทศคือเด็กยากจน ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะการหลุดออกจากระบบการศึกษา
“ประเทศไทยมีโอกาสที่จะสูญเสียเด็ก ๆ ไปจากเส้นทางการศึกษาเป็นจำนวนมากในช่วงปิดเทอมใหญ่ที่กำลังจะมาถึง และจะส่งผลกระทบตลอดช่วงชีวิตของประชากรในรุ่นปัจจุบัน เนื่องจากเด็กคือทรัพยากรที่มีคุณค่าและควรได้รับการพัฒนาเพื่อเติบโตไปเป็นกำลังคนคุณภาพของประเทศ”
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา พร้อมส่งสัญญาณถึงทุกภาคส่วนร่วมกันเร่งปฏิรูปความเหลื่อมล้ำผ่านกลไกการทำงานเชิงพื้นที่ Area-based Education (ABE) โดยได้จับมือกับ กสศ. บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตราชบุรี ระดมความร่วมมือกับท้องถิ่นและจังหวัดราชบุรี ผลักดัน สวนผึ้งโมเดล เป็นอำเภอต้นแบบแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ผ่านแคมเปญ Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน
“สวนผึ้งโมเดล เป็นหนึ่งในต้นแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ มีความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง และตระหนักว่าต้องสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปพร้อม ๆ กัน ด้วยการสร้างระบบการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น เพื่อให้เด็กทุกคนเรียนรู้อย่างมีความสุข พร้อมกับการพัฒนาทักษะความรู้อย่างเต็มศักยภาพ จนสามารถพึ่งพาตัวเองในการดำรงชีวิตได้ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา Big Rock 1”
ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า การเริ่มต้นแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยกลไกเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เกิดจากทุกฝ่ายตระหนักว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นโจทย์เร่งด่วนที่ต้องร่วมกันแก้ไข มีชุมชนท้องถิ่น เขตพื้นที่การศึกษา สถาบันอุดมศึกษา รวมถึงภาคเอกชน อาสาเข้ามาเป็นเจ้าภาพร่วมกัน
“ปัจจุบันมีเด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 1.9 ล้านคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อที่เสี่ยงหลุดจากระบบในช่วงปิดเทอมใหญ่ที่จะถึงนี้ เด็กชั้นประถมศึกษาตอนปลายจำนวนมากตัดสินใจออกมาทำงานเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว หวังว่าสวนผึ้งโมเดลจะจุดประกายให้สังคมเข้ามาร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้เกิดความเสมอภาคในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป”
ศุเรนทร์ ฐปนางกูร ยรรยงค์ เจริญศรี
ด้าน ศุเรนทร์ ฐปนางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้กล่าวถึงสถานการณ์เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจากการทำงานร่วมกับโรงเรียนในอำเภอสวนผึ้งว่า มองเห็นปัญหาของเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป จำเป็นต้องมีกลไกในการดูแลรายบุคคลอย่างใกล้ชิด
“เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมรับผิดชอบ ไม่ปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของโรงเรียนเพียงผู้เดียว การดำเนินงานจะอิงความต้องการของเด็กและโรงเรียน เริ่มจากลงพื้นที่พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนในเรื่องที่เด็กและโรงเรียนต้องการ เช่น ส่งเสริมโครงการทักษะอาชีพให้กับเด็กที่มีปัญหาด้านรายได้ และส่งเสริมการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการเรียนวิชาการในห้องเรียน”
ขณะที่ ยรรยงค์ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 กล่าวเสริมว่า การดำเนินงาน สวนผึ้งโมเดล เพื่อนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและวางแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เด็กหลุดซ้ำ มีระบบดำเนินการ 7 ขั้นตอน ดังนี้
- สร้างการรับรู้และสร้างความตระหนักต่อผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้ปกครองให้เห็นความสำคัญและแนวทางในการนำเด็กกลับสู่ระบบร่วมกัน
- สำรวจรายชื่อเด็ก สภาพปัญหา และปัจจัยที่ทำให้เด็กไม่กลับเข้าสู่ระบบเป็นรายคนและทำทุกโรงเรียน
- แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มตามสภาพปัญหา เช่น กลุ่มรุนแรงที่ออกจากระบบแล้ว, กลุ่มมีแนวโน้มจะหลุดออกจากระบบ และกลุ่มเด็กปกติที่ยังไม่พบปัญหา
- ออกแบบแนวทางแก้ปัญหาเด็กแต่ละกลุ่ม ซึ่งปลายทางของเด็กทุกกลุ่มคือสามารถเรียนจนจบการศึกษาในแต่ละขั้น
- เตรียมความพร้อมของแต่ละโรงเรียน โดยเฉพาะพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่สามารถดึงเด็กให้อยู่ในระบบ สนับสนุนผู้ปกครอง และระดมทุกภาคส่วนเข้ามาขับเคลื่อนทั้งสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน
- ดำเนินการช่วยเหลือเด็กแต่ละคนตามแนวทางที่วางไว้
- ติดตาม ประเมินผล และสรุปผลโครงการ