นายกฯ แถลงมาตรการ มอบหลายหน่วยงานแก้ปัญหาเด็ก เยาวชน หลุดจากระบบการศึกษา ตามที่ กสศ. เสนอ กำหนดแนวทางติดตาม เชื่อมโยงข้อมูลเด็ก ผุดกลไกระดับจังหวัด มอบผู้ว่าฯ นั่งหัวโต๊ะ สแกนเด็กทุกพื้นที่ ชู ‘ราชบุรีโมเดล’ แก้เด็กหลุดจากระบบเป็นศูนย์ ภายในปีนี้
วันนี้ (28 พ.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยระบุว่า ครม. วันนี้ได้รับทราบ มาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) เพื่อลดปัญหาเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ
โดยก่อนหน้านี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุถึงสถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาของประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกพื้นที่ สร้างความเสียหายแก่โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลให้ประเทศไทยยังคงติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางมายาวนานกว่า 3 ปี อีกทั้งการเผชิญความท้าทายของการเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) และอัตราการเกิดใหม่ลดลงอย่างมาก ดังนั้น ประชากรเป็นทุนมนุษย์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรัด ดำเนินการค้นหา ติดตาม และดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วให้มีความพร้อม สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา
ทั้งนี้ กสศ. ได้ช่วยเหลือและป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของกลุ่มเด็กและเยาวชน ในระดับปฐมวัยจนถึงการศึกษาภาคบังคับ โดยจัดทำเป็นโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวม 12 จังหวัด ส่งเสริมกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เกิดเป็นนวัตกรรมการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือด้อยโอกาสในมิติต่าง ๆ ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือดูแลช่วยเหลือตามความเหมาะสมรายกรณี รวมทั้งร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาพื้นที่ตัวแบบใน “โครงการมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จังหวัดราชบุรี (Zero Dropout)”
สอดคล้องกับข้อสั่งการ นายกรัฐมนตรี ที่ให้ดำเนินงานตามนโยบายต้านการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงศึกษาธิการ บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูล และทะเบียนนักเรียนรายบุคคลที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบ และได้กล่าวแถลงในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี 2567 ว่า
“รัฐบาลมุ่งมั่นให้เด็กทุกคนไม่หลุดจากระบบการศึกษา มุ่งบรรลุเป้าหมาย Thailand Zero Dropout แก้ปัญหาความเหลือมล้ำ พัฒนาการเรียนที่ยืดหยุ่น ให้ตรงความต้องการ เน้นทักษะอาชีพและทักษะชีวิต และให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณค่าต่อไปในอนาคต โดยจะบรรลุผลสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เกิดระบบสารสนเทศแสดงข้อมูลของเด็กเยาวชนทุกคนในระบบการศึกษาโดยเฉพาะข้อมูลของเด็กเยาวชนที่ขาดแคลนและต้องการโอกาส”
ส่องมาตรการ Thailand Zero Dropout
ทั้งนี้ กสศ. ได้จัดการประชุมหารือการบูรณาการ และเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนนักเรียนรายบุคคล ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เข้าสู่ระบบ ประกอบด้วยผู้แทนจาก 6 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงสาธารณสุข และ กสศ. ในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. ที่ผ่านมา
ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบการร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าว และได้จัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งเห็นชอบให้ กสศ. เสนอเรื่องมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ต่อ ครม.
พร้อมเห็นควรเสนอมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) โดยมีมาตรการดังนี้
มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนบอกระบบการศึกษา ผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบ
- บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของเด็กและเยาวชนระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งข้อมูลจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงการต่างประเทศ และ กระทรวงสาธารณสุข โดยเห็นควรให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- พัฒนาระบบสารสนเทศกลางในระยะยาวเพื่อรองรับการบูรณาการข้อมูลและค้นหาให้มีประสิทธิภาพ โดยจะเสนอ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติขึ้น มีองค์ประกอบที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวซนนอกระบบการศึกษาโดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการช่วยเหลือ เด็กและเยาวชนแต่ละรายทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ พัฒนาการ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม ดังนี้ 1. จัดการศึกษาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการด้วยกลไกคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน รองผู้ว่าราชการจังหวัด และศึกษาธิการจังหวัดเป็นรองประธาน และหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ 2. ช่วยเหลือ ดูแล และส่งต่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาด้วยระบบการจัดการรายกรณี (Case Management System: CMS) และการบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่ โดยเห็นควรให้กระทรวงมหาดไทย (ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหน่วยงานรับผิดซอบหลัก ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ กสศ.)
มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เต็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง ดังนี้
- จัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น โดยให้การรับรองคุณวุฒิหรือเทียบโอน คุณวุฒิการศึกษา/ใบประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ ระหว่างการจัดการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
- ยกระดับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและองค์กรระดับพื้นที่ ท้องถิ่น ชุมชน องค์กร ทางศาสนา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับพื้นที่และสภาพสังคม
- ส่งเสริมการจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน หรือที่เรียกว่า Learn to Earn ร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพวิชาชีพของเด็กและเยาวชนในการทำงานจริงให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และให้มีรายได้เสริมในระหว่างการศึกษาในการขับเคลื่อนมาตรการนี้ เห็นควรให้หน่วยงานที่จัดการศึกษาหรือเรียนรู้ในสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิหัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน หน่วยจัดการเรียนรู้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรทางศาสนา หรือหน่วยงานอื่นๆ มีส่วนร่วมดำเนินการ
- มาตการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกขนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือ การเรียนรู้ในลักษณะ Leam to Eam ให้เด็กและเยาวชนอายุ 15 – 18 ปี ได้พัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานเหมาะสมตามศักยภาพและมีรายได้เสริมระหว่างการศึกษา
- ส่งเสริมหรือจูงใจผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานด้วยมาตรการหรือกลไกทางภาษี โดยเห็นควรให้กระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการต่อไป
- สนับสนุนให้สถานประกอบการเข้าร่วมจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ควบคู่ กับการทำงาน โดยเห็นควรให้ กระทรวงแรงงานพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสม
วางเป้าช่วยเด็กหลุดจากระบบล้านคน ในปี 2570
ขณะที่ คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงผลการประชุม ครม. ในประเด็นนี้ โดยระบุว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจาการดำเนินมาตรการ Thailand Zero Dropout รวม 25 จังหวัด เพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลุดออกระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นได้ จำนวน 20,000 คน ในปีงบประมาณ 2567 และจะคลอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด ในปีงบประมาณ 2568 เป็นต้นไป สามารถดูแลกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้ จำนวน 100,000 คน ในปีงบประมาณ 2568 จำนวน 50,000 คน ในปีงบประมาณ 2569 และจำนวน 1,000,000 คน ภายในปีงบประมาณ 2570 ซึ่งจะทำให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ยก ‘ราชบุรีโมเดล’ จังหวัดแรก แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กสศ. ร่วมกับ จ.ราชบุรี และภาคเอกชน จัดงาน All for Education Ratchaburi Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน รวมพลังคนราชบุรีไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง ผลักดันให้ จ.ราชบุรี เป็นพื้นที่แห่งแรกในประเทศไทย ที่จะไม่มีเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาภายในปี 2567
ถือเป็นการปักหมุดแห่งรูปธรรมครั้งสำคัญของโครงการ ราชบุรี Zero Dropout – เด็กทุกคนต้องได้เรียน ซึ่งเริ่มดำเนินงานตามแผนระยะยาว 3 ปี มาตั้งแต่ปี 2565 โดย จ.ราชบุรี ได้รับเลือกให้เป็นโมเดลต้นแบบ การสร้างกลไกการเปลี่ยนแปลงการศึกษาระดับประเทศ เพื่อช่วยเด็กหลุดจากการศึกษาเป็นศูนย์ ภายในปี 2567 โดยมี กสศ. และสมัชชาการศึกษาราชบุรี เป็นผู้ดำเนินงานหลัก ร่วมด้วยภาคเอกชน อย่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ได้สนับสนุนเงินทุนในโครงการจำนวน 100 ล้านบาท เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลง สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน
สำหรับภาพรวมความก้าวหน้าของโครงการ ราชบุรี Zero Dropout ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้ช่วยเหลือเด็กตั้งแต่อายุ 6 – 24 ปี ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาจำนวน 8,769 คน ผ่านระบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ (การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย) ครอบคลุมทั่วจังหวัดราชบุรีทั้ง 350 โรงเรียนสังกัด สพฐ. 3 เขตพื้นที่การศึกษา และท้องถิ่นทั้ง 10 อำเภอ
พร้อมกลไกสหวิชาชีพทุกหน่วยงานและอาสาสมัครสามพลัง (อสม. อพม. และอาสาสมัครการศึกษา) กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด ซึ่งจะทำงานร่วมกันเพื่อให้ปีการศึกษา 2567 นี้ จะไม่มีเด็กและเยาวชนคนไหนหลุดจากระบบการศึกษา ด้วยนวัตกรรมและกลไกใหม่ของ จ.ราชบุรีที่พัฒนาขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา