เคาะ 4 ประเด็นเร่งด่วน ปลดล็อกแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา

‘คกก.ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาฯ’ หวังพาเด็ก 1.02 ล้านคน กลับเข้าระบบ เน้นเชื่อมโยงข้อมูล ส่งต่อเด็กนอกระบบอย่างให้มีประสิทธิภาพ กระตุ้นการทำงานเชิงพื้นที่ ยืดหยุ่นจัดการศึกษา ดึงเอกชนมีส่วนร่วม เรียนควบคู่ทำงาน

ภายหลัง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ บอร์ด คกศ. (Thailand Zero Dropout) เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษากว่า 1.02 ล้านคนให้ได้รับการศึกษาและพัฒนาศักยภาพตามความถนัด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 67 ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะ ประธานบอร์ด คกศ. ได้ประชุมเป็นครั้งแรก โดยมี ณหทัย ทิวไผ่งาม รองประธานบอร์ด คกศ. รวมถึงตัวแทนคณะทำงานจากแต่ละกระทรวง เช่น มหาดไทย, ศึกษาธิการ, พาณิชย์, แรงงาน, สาธารณสุข

โดยหน้าที่หลักของคณะกรรมการนี้คือการกำกับดูแล พัฒนา และขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเด็ก และเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ รวมถึงส่งเสริมการสร้างรายได้ระหว่างเรียนเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

เคาะ 4 นโยบายปลดล็อกการศึกษาไทย

สำหรับผลการประชุม บอร์ด คกศ. นั้น เตรียมดำเนินงานตามนโยบายด้านการศึกษาทั้ง 9 ด้านของรัฐบาล เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และแก้ปัญหาเด็ก และเยาวชนที่อยู่นอกระบบอย่างเป็นระบบ โดยได้มติเห็นชอบผลักดัน 4 ประเด็นเร่งด่วน เพื่อยกระดับการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้ง 1.02 ล้านคน ได้แก่

  • ปลดล็อกการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน : เพื่อให้การค้นหาและส่งต่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น คณะอนุกรรมการจะบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะการมีงานทำของเด็กและเยาวชนได้อย่างรวดเร็ว
  • กระตุ้นการทำงานระดับจังหวัดและพื้นที่ : ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อติดตาม ช่วยเหลือ และดูแลเด็กและเยาวชนอย่างใกล้ชิด ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ และสภาพความเป็นอยู่
  • ตั้งคณะอนุกรรมการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น : เน้นการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย รวมถึงการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถทำงานร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและมีรายได้เสริมระหว่างการศึกษา
  • กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการภาคเอกชน : ใช้มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาควบคู่กับการทำงาน (Learn to Earn) ของเด็กและเยาวชน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและพัฒนาทักษะการทำงานพร้อมกับมีรายได้ระหว่างการศึกษา

ในที่ประชุม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยังรายงานผลการเชื่อมโยงข้อมูลปีการศึกษา 1/2567 พบว่า มีนักเรียนจากฐานข้อมูลจำนวน 1.02 ล้านคน เข้าเรียนในระบบการศึกษาแล้ว 139,690 คน คิดเป็นร้อยละ 13.6 ของจำนวนเด็กและเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษา และในจำนวนการกลับเข้าสู่ระบบดังกล่าว มีจำนวน  22,541  คน ที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) ของ กสศ. ในการบรรเทาอุปสรรคการมาเรียน เพื่อเป็นการป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษาซ้ำ

“ในจำนวนเด็กที่เข้ามาเรียนนี้ ส่วนใหญ่เป็นเด็กชั้นอนุบาล และ ป.1 ที่เข้าเรียนช้า ซึ่งในอนาคต เราพยายาม สร้างความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมให้ครัวเรือนยากจนที่ขาดความพร้อม ทั้งไม่มีเวลา ไม่มีผู้ดูแล ส่งลูกหลานให้ได้รับการดูแลในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน หรือโรงเรียนให้เร็วที่สุด เพราะเป็นโอกาสได้รับการส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย รวมถึงได้รับการคุ้มครองดูแลอีกด้วย”

ประเสริฐ จันทรรวงทอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active