ถอดรหัส คำขวัญวันเด็ก ปี 68 : เด็กจะมี ‘โอกาส’ และ ‘เลือกอนาคต’ เองได้ รัฐต้องประกันการศึกษาที่เท่าเทียม

นักวิชาการ ย้ำ รัฐต้องมั่นใจ ว่า โอกาสมีอยู่จริง มองเห็นได้ และ คว้าได้ ชี้อีก 10 ปี ตลาดงาน 1 ใน 3 ถูกแทนด้วย Ai จึงต้องพาเด็กไปสู่ทักษะระดับสูงให้ได้

“ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง”

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
มอบคำขวัญวันเด็ก ปี 2568

วันนี้ (27 ธ.ค. 67) จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาส วันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ซึ่งตรงกับ วันเสาร์ ที่ 11 มกราคม 2568 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบคำขวัญวันเด็กให้กับเด็ก เยาวชนไทย เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจว่า “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง”

นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวอวยพรให้เด็ก ๆ ว่า

“บางทีเราอาจคิดว่าเป็นมนุษย์ตัวเล็ก ๆ คงไม่ได้ทำอะไรมากมาย แต่สิ่งที่รัฐบาลมองเห็น คือ คุณค่า คุณภาพในตัวของเด็กทุกคน เพราะอนาคตจะเป็นอย่างไร ประเทศไทยจะน่าอยู่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเด็ก ๆ โอกาสมากมายที่จะเข้ามา เรียนรู้ทุกโอกาสที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน ช่วงอายุไหน เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา โดยการเรียนรู้นั้นจะทำให้เรารู้ว่าเราสามารถปรับตัวได้ ให้เข้ากับสิ่งที่จะเข้ามา ซึ่งเราสามารถควบคุมตัวเราเอง”

“อนาคตของเรามีเรื่องดี ๆ รออยู่อีกมากมาย นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าเด็ก ๆ ทุกคนอยากได้อนาคตที่สดใส ที่มีความสุข เพราะฉะนั้น การมีความสุขเริ่มจากตัวเองก่อน ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ รู้จักเส้นทางที่จะเดินอย่างมั่นใจ และทำให้รู้ด้วยว่าตัวเองมีคุณค่าอย่างมากต่อประเทศ สำหรับรัฐบาล อนาคตของชาติ คือ เด็กในวันนี้ น้อง ๆ มีสิทธิที่จะทำให้โลกนี้ ให้ประเทศไทยน่าอยู่ยิ่งขึ้น”

แพทองธาร ชินวัตร

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเลือกอนาคตได้เอง…
หน้าที่ของ ‘รัฐ’ คือ ประกันโอกาสการเรียนรู้ให้ทุกคน

ผศ.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ The Active ต่อประเด็นคำขวัญวันเด็ก ปี 2568 โดยย้ำถึง คำสำคัญในคำขวัญปีนี้ คือคำว่า โอกาส และก่อนที่จะเลือกโอกาสได้นั้น ต้องมั่นใจก่อนว่า 1. โอกาสนั้นมีอยู่ 2. มองเห็นได้ และ 3. คว้าได้ ซึ่งโอกาสพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับคือ โอกาสในการศึกษา เพราะเป็นเครื่องมือเดียวที่จะทำให้ทุกชีวิตได้มีโอกาสสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่ทุกวันนี้ แค่มองไปที่ชนบท เด็กในพื้นที่ห่างไกลก็ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสได้เท่าเด็กในเมือง รัฐจำเป็นต้องจัดระบบการศึกษาที่เท่าเทียมก่อน

ผศ.เกียรติอนันต์ อธิบายด้วยว่า ในบริบททางเศรษฐศาสตร์ สามารถแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1. กลุ่มที่สามารถกำหนดอนาคตตัวเองได้ และ 2. กลุ่มที่ต้องปล่อยให้ตลาดเป็นผู้กำหนดอนาคตให้ การที่จะเป็นคนที่เลือกอนาคตตัวเองได้นั้น ต้องเป็นคนที่เก่ง มีโอกาส และพร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก หากคนส่วนใหญ่ในสังคมสามารถพัฒนาไปในลักษณะนี้ โอกาสในอนาคตก็จะเป็นของพวกเขา

“อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า งานจำนวนกว่า 1 ใน 3 ของประเทศ จะต้องถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI แม้ประชากรจะเกิดน้อยลง แต่งานที่ใช้คนก็จะน้อยลงไปด้วย เราต้องพาเด็กไปสู่ทักษะระดับสูงให้ได้ นั่นหมายถึงการที่เขาจะเลือกอนาคตเองได้

ผศ.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
ผศ.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ต้อง ‘ปฏิรูปการศึกษา’ ใหม่
ให้โรงเรียน คือ แหล่งเรียนรู้ของคนทุกวัย

ผศ.เกียรติอนันต์ ระบุด้วยว่า แม้ในคำขวัญเน้นย้ำว่า “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้” แต่แท้จริงแล้ว ทุกโอกาสจะเริ่มขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเรียนรู้ก่อน และโอกาสการเรียนรู้ของเด็กไทย ยังผูกขาดอยู่กับโรงเรียน ซึ่งเป็นระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม ดังนั้นคำว่า School หมายถึงการต้อนคนหมู่มากมารวมตัวกัน ซึ่งกลายเป็นโรงเรียน แต่ทุกวันนี้การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องยึดกับโรงเรียน และโรงเรียนก็ไม่ใช่แหล่งความรู้ที่สมบูรณ์ 100% อีกต่อไป

การศึกษาเพื่อคว้าโอกาสแห่งอนาคต ต้องเริ่มจากการมองเห็นความต้องการและศักยภาพของผู้เรียนทุกคน รัฐต้องจัดการศึกษาที่เชื่อว่า เด็กทุกคนมีรูปแบบการเรียนรู้ที่ต่างกัน การจัดการศึกษาแบบ ‘One Size Fit All’ หรือ หนึ่งรูปแบบผลิตออกมาเหมือนกันหมด ไม่ตอบโจทย์โลกอนาคตที่ซับซ้อน เพราะเด็กต้องอาศัยทั้ง Soft Skill และ Hard Skill ในการแก้ไขปัญหางานและชีวิตที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบเพื่อปรับเด็กไทยให้พร้อมต่อวันข้างหน้า จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“โรงเรียนคือศูนย์การเรียนรู้เดียวที่กระจายทั่วประเทศ เข้าถึงชุมชนได้ ถ้าต้องเปลี่ยนจากโรงเรียนของเด็กเป็นโรงเรียนของทุกคน มันจะกลายเป็นจุดพลิกเกมตลาดแรงงานไทยได้เลย”

ผศ.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

ผศ.เกียรติอนันต์ ยังย้ำว่า การเปิดกว้างทางการเรียนรู้ สามารถทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถเข้ามาส่งเสริมรูปแบบการศึกษาที่หลากหลายของผู้เรียนได้แล้ว และโรงเรียนควรพลิกบทบาทเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ให้ทุกคนไม่ใช่แค่เด็กก็เข้ามาเรียนรู้ได้ ดึงกลุ่มคนหลากหลายเข้ามามีส่วนร่วมในการสอน นอกเหนือจากครูผู้สอนประจำ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพต่าง ๆ ที่มาทำงานร่วมกับครูเพื่อส่งต่อประสบการณ์ตรงให้กับนักเรียน

นอกจากนี้ ผศ.เกียรติอนันต์ ยังคาดหวังว่า เด็กควรมีโอกาสสัมผัสกับ ‘โลกของการทำงาน’ ตั้งแต่อายุยังน้อย ผ่านกิจกรรมทดลองทำงานหรือการแบ่งปันประสบการณ์จากผู้ประกอบการ การเปิดโลกในลักษณะนี้ช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของอาชีพ เพราะปัจจุบัน แรงงานหนึ่งคนไม่จำเป็นต้องมีบทบาทวิชาชีพเดียว และทำให้เด็กมองเห็นตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น แทนที่จะเป็นคำตอบแบบเดิมๆ ที่มักวนเวียนอยู่กับอาชีพตำรวจ ทหาร หรือแพทย์

จับตา พ.ร.บ. การศึกษา ต้นปี 2568
ชี้วัดทัศนคติพรรคการเมือง

นักเศรษฐศาสตร์ ยังมองว่า การที่ฝ่ายการเมืองเตรียมดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ เข้าถกในสภาฯ ช่วงเปิดสมัยประชุมต้นปีหน้า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการศึกษาไทย เพราะร่างกฎหมายนี้ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนมากว่า 20 ปีแล้ว โดยเนื้อหาจะเป็นการกำหนดบทบาทภาพรวมของการศึกษาไทย รวมถึงหลักสูตรการศึกษา และผู้ให้การศึกษา ดังนั้นในเนื้อความกฎหมายนี้ มีประโยชน์ต่อการศึกษาไทยแน่ แต่มันอาจเป็น ‘กฎหมายขึ้นหิ้ง‘ เพราะผู้ปฏิบัติอย่างผู้บริหารสถานศึกษา หรือกระทรวงศึกษาธิการ อาจไม่ทำตาม

“พวกเราปฏิรูปการศึกษามาตั้งหลายครั้ง แต่เราไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรที่มันดีขึ้นเลย กลัวแค่ว่าตอนนี้เขียนมาดีทุกอย่าง แต่ถ้ามาดูผู้บริหารสถานศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย หรือตัวแทนคนในกระทรวงเขาจะไปถึงตรงนั้นหรือเปล่า ? อันนี้เป็นที่ผมกังวลมาก”

ผศ.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

อย่างไรก็ตามยังมองในแง่ดีว่ากฎหมายนี้ จะมีการประกบร่างเสนอสู่สภาฯ จากหลาย ๆ ฝ่ายการเมือง ซึ่งจะเป็นศึกชี้วัดว่า แต่ละพรรคการเมืองมีเนื้อแท้ เนื้อในต่อประเด็นต่าง ๆ ทางสังคมอย่างไร เพราะปรัชญาทางการศึกษาในกฎหมายคือกระจกสะท้อนทัศนคติที่มีต่อสังคม คนหนึ่งอาจเชื่อว่าการศึกษายังต้องจัดโดยทางการ คนหนึ่งอาจเชื่อว่าการศึกษาต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งไม่มีอะไรผิด มันจะทำให้มีการพูดคุยในมิติของนโยบายมันกว้างขึ้น

“ต้องฝากฝ่ายการเมืองหัวก้าวหน้าที่มีวิสัยทัศน์ในด้านการศึกษาอย่างครบด้าน มาช่วยเขย่าตรงนี้ เพื่อให้ พ.ร.บ. การศึกษาฉบับใหม่เป็นของขวัญวันเด็กแท้จริง”

ผศ.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active